คอลัมนิสต์

ที่มา "ตู่นะจ๊ะ" รั้ว ทบ. ถึงทำเนียบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ตู่นะจ๊ะ" คำๆนี้ มีต้นตอมาจากนักข่าวสายทหาร ก่อนจะข้ามฟากมาทำเนียบรัฐบาล คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก


++
วลี “นะจ๊ะ” กลายเป็นไวรัลในโซเชียล และยกระดับสู่ประเด็นทางการเมืองโดยพลัน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเรื่องปิดแคมป์คนงานเมื่อวันศุกร์ โดยช่วงที่ตอบคำถามนักข่าว ได้หลุดวลี “นะจ๊ะ” ตามความเคยชินเป็นระยะๆ แถมนายกฯประยุทธ์ อารมณ์ดีเป็นพิเศษ จึงมีการปล่อยมุขคลายเครียด เรียกเสียงหัวเราะ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...  โควิดการเมือง 'โทนี่' สอนน้อง 


    

หลังภาพข่าวนายกฯประยุทธ์ และคณะ ยืนแถลงข่าวด้วยบรรยากาศครึกครื้น ถูกเผยแพร่ออกไป มีคนไม่พอใจกับการแสดงออกของผู้นำรัฐบาลเป็นอย่างมาก แถมกลางดึก มีราชกิจจาฯ ประกาศมาตรการควบคุมบางพื้นที่ โดยการสั่งห้ามนั่งกินในร้านอาหาร แต่ซื้อกลับบ้านได้
    

คราวนี้ โซเชียลลุกเป็นไฟ มีการติดแฮชแท็ก #ประยุทธ์ออกไป ตามมาด้วย #นะจ๊ะ นอกจากนี้ยังมีการนำถ้อยวลี “นะจ๊ะ” ไปโพสต์เชิงล้อเลียนมากมาย
    

3-4 วันผ่านไป ปรากฏการณ์ “นะจ๊ะ” ได้กลายเป็นวลีต้องห้าม ร้านอาหารบางย่านสั่งห้ามพนักงานตอบรับลูกค้า ที่มาซื้ออาหารกลับบ้านด้วยคำว่า “นะจ๊ะ”

 

ที่มา "ตู่นะจ๊ะ" รั้ว ทบ. ถึงทำเนียบ

ตู่นะจ๊ะ คำนี้ติดหูนักข่าวมาแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ.

    

ว่ากันตามจริง คนไทยดูจะคุ้นเคยกับคำว่า “นะจ๊ะ” จากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตลอด 7 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียงแต่วันนั้น สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถึงขั้นวิกฤตแล้ว การเลือกใช้หางเสียงเดิมๆ กับนักข่าวทำเนียบรัฐบาล จึงผิดที่ผิดเวลา และถูกต่อต้านอย่างรุนแรง


++
นะจ๊ะฉบับบิ๊กตู่
++
“นะจ๊ะ” เป็นคำที่ใช้เป็นหางเสียงคำตอบรับในภาษาไทย เหมือนคำอื่นๆเช่น “พระพุทธเจ้าค่ะ”, “เพคะ”, “มังคะ”, “จ้ะ”, “จ๋า”, “ค่ะ”, “ขา”, “ครับ”, “ขอรับ”
    

ภาษาไทยไม่ต่างจากภาษาของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มอื่นๆ ล้วนมีหางเสียง เช่นภาษาลาว จะมีคำลงท้ายว่า “เจ้า” ทำนองเดียวกับคำว่า “จ้ะ” , “ครับ” , “ค่ะ” ในภาษาไทย
    

“นะจ๊ะ”, “จ้ะ”, “จ๋า” เป็นหางเสียงที่แสดงถึงความสนิทสนม มักใช้กับผู้ที่คุ้นเคยกันพอสมควร เช่น คนในครอบครัว คนในละแวกบ้านเดียวกัน หรือระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
    

ดังนั้น นักข่าวสายทหาร จะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้ยินคำว่า “นะจ๊ะ” มาตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ดังคำให้สัมภาษณ์ของนักข่าวสายทหารคนหนึ่ง ในหนังสือ “เขาชื่อตู่” (ผลงานของ กอง บก.เนชั่นสุดสัปดาห์)
    

“จริงๆแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมุมซอฟต์ๆ น่ารักตามสไตล์ของท่านเอง โดยจะมีการปล่อยมุขออกมาเป็นระยะในตอนที่สัมภาษณ์ เหมือนต้องการที่จะเล่นกับนักข่าว และเวลาที่ให้สัมภาษณ์เสร็จก็มักจะหยอดมุกตบมุก เช่นเขียนให้ดีๆนะจ๊ะ ไปแล้วนะจ๊ะ หรือไปดีนะจ๊ะ ท่านจึงได้ฉายาว่า ตู่นะจ๊ะ”
    

นักข่าวสายทหารหลายคน จึงมักจะเขียนแซวอดีต ผบ.ทบ.ว่า “ตู่นะจ๊ะ” อยู่บ่อยๆในสมัยนั้น ซึ่งภาพลักษณ์ภายนอก พล.อ.ประยุทธ์ ดูจะเป็นนายทหาร สไตล์ดุดัน ขังขัง พูดเร็ว น้ำเสียงห้วน ไม่ประดิษฐ์ถ้อยคำ แต่หากได้ทำงานใกล้ชิดก็จะรู้ว่า เป็นคนมีอารมณ์ขัน ไม่ดุ  
    

สำหรับคนไทยทั้งประเทศ เพิ่งได้เห็นบุคลิกที่โผงผาง ตรงไปตรงมา พูดจาแนวหยิกแกมหยอก โกรธง่ายหายเร็ว หลังการรัฐประหาร 2557 เมื่อ “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งหัวหน้า คสช.
    

คราวนี้นักข่าวทำเนียบรัฐบาล ได้ยินคำว่า “นะจ๊ะ” บ้าง หลังนักข่าวสายทหารได้ฟังมา 2-3 ปีแล้ว นักข่าวทำเนียบจึงเรียกว่า “ตู่นะจ๊ะ” บ้าง 
    

บ่อยครั้งที่นักข่าวทำเนียบเจอพายุอารมณ์ของนายกฯ ประยุทธ์ แต่ไม่ทันข้ามวัน ก็หายโกรธและมาขอโทษนักข่าว พร้อมวลีที่คุ้นๆ “นะจ๊ะ”
 

++
นะจ๊ะบาดหู
++
นักวิชาการสายสื่อมองว่า ปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือปัญหาของการสื่อสารและทำความเข้าใจกับสังคม รวมถึงเรื่องของ “กาละ” และ “เทศะ”
    

การส่งเสียง “นะจ๊ะ” แบบคุ้นชิน ขณะที่ประชาชนเผชิญภัยจากโควิด มีทั้งนอนรอคอยเตียงนานนับสัปดาห์ และเสียชีวิตราวใบไม้ร่วง ไม่ต่างจากกรณี “มินิฮาร์ต” ที่โคราช หลังเกิดเหตุจ่าคลั่ง
    

ไม่น่าแปลกใจที่การติดแฮชแท็ก #นะจ๊ะ และ #ประยุทธ์ออกไป จะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ