คอลัมนิสต์

ส่อง "ทรงชัย" นายก อบต.ราชาเทวะ

17 มิ.ย. 2564

สืบสาแหรก "ทรงชัย นกขมิ้น" นายก อบต.ราชาเทวะ ที่กำลังโด่งดังจากเสาไฟกินรี  คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก


++
นาทีนี้ ไม่มี อบต.ไหน จะโด่งดังเท่ากับ “อบต.ราชาเทวะ” องค์กรปกครองท้องถิ่นชายขอบกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ซึ่งผู้คนสนใจแต่ “เสาไฟกินรี” แต่มีน้อยคนที่จะรู้จักตัวตน และปูมหลังผู้บริหาร อบต.แห่งนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... 
ต้นละแสน แพงตรงไหน...เปิดใจ บ.ร่วมประมูลเสาไฟกินรี

ส่อง \"ทรงชัย\" นายก อบต.ราชาเทวะ

ทรงชัย และลูกชาย ถ่ายภาพใต้เสาไฟ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว


    

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 “จาตุรนต์ นกขมิ้น” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “ทรงชัย นกขมิ้น” นายก อบต.ราชาเทวะ ได้โพสต์เฟซบุ๊คภาพตัวเขากับบิดา ยืนอยู่ใต้เสาไฟฟ้า
    

“ทรงชัย นกขมิ้น พ่อผมเอง ภาพถ่ายรูปนี้ เกือบจะ 2 ปีกับการทำให้ตำบลราชาเทวะสว่างทั่วทุกพื้นที่ ผมและพ่อเป็นนักการเมือง มีทั้งคนชมคนด่า เป็นเรื่องธรรมดาครับ ปกติลงแต่รูปลูกวันนี้ลงรูปพ่อบ้าง 555...”

 

 

ส่อง \"ทรงชัย\" นายก อบต.ราชาเทวะ

จาตุรนต์ ทายาททางการเมืองของทรงชัย


++
อบต.สนามบิน
++
องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ทั้งหมด 31 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 19,375 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ ใช้เป็นพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ 9,451 ไร่
    

ฉะนั้น อบต.ราชาเทวะ จึงเป็น อบต.ที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจาก อบต.ทั่วไป เพราะมีสนามบินนานาชาติอยู่ในเขตการปกครอง และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
    

ประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น ประมาณปี 2420  สมิงราชาเทวะ และครอบครัว ได้อพยพมาจากปากเกร็ด มาตั้งบ้านเรือนที่คลองเทวะ คลองตรง ประกอบอาชีพทำนา จนได้รับการยกย่องจากชาวบ้านให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน
    

เมื่อทางราชการได้ตั้งเขตการปกครองขึ้นเป็นตำบล ก็อาศัยนามของสมิงราชาเทวะ มาตั้งชื่อของตำบลว่า “ราชาเทวะ" 
    

ในสมัยรัชกาลที่ 2 คนมอญหนีภัยสงครามได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามประเทศ ชาวมอญที่เคยเป็นทหารอยู่ในเมืองมอญ ก็ตอบแทนคุณแผ่นดินที่ให้อาศัย รับราชการทหารรับใช้คุณแผ่นดิน และพระองค์ทรงพระเมตตา แต่งตั้งให้มียศฐาบรรดาศักดิ์ประจำกรมกอง มีพระราชทินนามขึ้นต้นด้วยคำว่า “สมิง” เช่นสมิงราชาเทวะ
    

ต.ราชาเทวะ จึงเป็นชุมชนคนมอญ ที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม มีลำคลองสายหลักคือ คลองลาดกระบัง, คลองชวดลาดข้าว, คลองบัวเกาะ และมีคลองสายย่อยอีกหลายสาย 
    

ปัจจุบัน ต.ราชาเทวะ มีประชากร 26,400 คน ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเลิกทำนา หันมาเป็นกรรมกร และประกอบอาชีพค้าขาย
 

ส่อง \"ทรงชัย\" นายก อบต.ราชาเทวะ

ลือกตั้ง ส.ส.หนที่แล้ว แพ้แค่ปลายจมูก

 

++
ตระกูล “นกขมิ้น”
++
ตระกูล “นกขมิ้น” แห่ง ต.ราชาเทวะ เป็นตระกูลใหญ่ มีเครือญาติเชื้อสายมอญทั้งตำบล และว่าไปแล้ว อ.บางพลี ก็เป็นชุมชนชาวมอญ ที่บุกป่าฝ่าดงมาแสวงหาที่ดินทำกิน มีทั้งมาจากพระประแดง บางนา และปากเกร็ด
    

ทรงชัย นกขมิ้น จึงได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.ราชาเทวะ ติดต่อกันมาหลายสมัย และด้วยความเป็นผู้นำท้องถิ่น ที่เป็นสายตรง “บ้านใหญ่อัศวเหม” เมื่อปี 2562 ทรงชัย จึงสนับสนุนให้ลูกชาย ลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ 
    

“จาตุรนต์ นกขมิ้น” ลูกชายของทรงชัย สมัคร ส.ส.ที่เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.บางพลี (ยกเว้น ต.หนองปรือ และ ต.ราชาเทวะ) ซึ่งลูกชายของนายกฯ ทรงชัย ไม่ได้ลงในพื้นที่ ต.ราชาเทวะ เนื่องจาก กกต.แบ่งเขตใหม่ ยก ต.ราชาเทวะ ไปไว้เขตเลือกที่ 5 ที่มี กรุง ศรีวิไล เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่
    

ทายาทนายก อบต.ราชาเทวะ ต้องแข่งกับแชมป์เก่า-วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แต่ผลเลือกตั้งกลับพลิกความคาดหมาย
    

ปรากฏว่า วุฒินันท์ บุญชู พรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล) ชนะเลือกตั้ง ได้ 36,320 คะแนน ส่วน จาตุรนต์ นกขมิ้น ได้ 35,441 คะแนน แพ้ไปแบบฉิวเฉียด ซึ่งผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า จาตุรนต์ชนะ แต่พอนับคะแนน 100% ก็แพ้ไปแบบน่าเสียดาย
    

อนาคตทางการเมืองของ “ทรงชัย” และลูกชาย “จาตุรนต์” ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ “บ้านใหญ่อัศวเหม”