คอลัมนิสต์

7 ปี 3 ป.สิ้นรักกันแล้วดัน 'ดร.ซุป' สร้างชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก "ดร.ซุป" แต่เหตุใดแนวร่วมคนเสื้อเหลือง จึงหันมาชูแทน "บิ๊กตู่" คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก

ครบรอบ 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 และย่างเข้าสู่ปีที่ 15 สำหรับ “พี่น้อง 3 ป.” ก้าวสู่วงจรอำนาจพิเศษ นับแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549
    พ.ศ.นี้ บนเส้นทางนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเต็มไปด้วยเสียงขับไล่ ทั้งจากฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายเดียวกัน
    ล่าสุด “กลุ่มประชาชนคนไทย” โดยอดีตแกนนำพันธมิตรฯ และกลุ่มเพื่อนอานันท์ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ “ประยุทธ์” เสียสละลาออกจากตำแหน่ง หลังตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถปฏิรูปประเทศและแก้ไขวิกฤตของประเทศชาติได้ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 วรรคสอง 
    ปรีดา เตียสุวรรณ์ และ “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ ขานชื่อ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ว่าสมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสร้างชาติ
    ปรีดาและนิติธร พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หมดเวลาของ “ประยุทธ์” แล้ว แม้ก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยสนับสนุน คสช. แต่วันเวลาที่ผ่านไป คสช.ไม่ได้ปฏิรูปประเทศตามคำสัญญา

7 ปี 3 ป.สิ้นรักกันแล้วดัน 'ดร.ซุป' สร้างชาติ

ปรีดา เตียสุวรรณ์ หนุนศุภชัย แทนประยุทธ์

++
บนถนนการเมือง
++
    คนรุ่นใหม่ อาจจะรู้จัก “ดร.ซุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ ในบทบาทของเลขาธิการ UNCTAD และผู้อำนวยการใหญ่ WTO แต่ไม่ทราบว่า ดร.ซุป เคยผ่านถนนสายการเมืองมาแล้ว พร้อมกับบทเรียนสุดเจ็บช้ำ
    ปี 2529 แวดวงการเมืองไทย รู้สึกมีความหวัง เมื่อ “ศุภชัย” ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ตำแหน่งขณะนั้น) พกดีกรีปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงของเนเธอร์แลนด์ และลูกศิษย์นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์แจน ทินเบอร์เกน ลาออกจากแบงก์ชาติ ลุยสนามเลือกตั้ง

7 ปี 3 ป.สิ้นรักกันแล้วดัน 'ดร.ซุป' สร้างชาติ

ดร.ซุป ดาวรุ่งการเมืองยุคปี 2529 

    เทคโนแครตอย่าง ศุภชัย พานิชภักดิ์ สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีประสบการณ์การเล่นการเมือง ถูกวางตัวให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 8 (บางกะปิ มีนบุรี และหนองจอก) ซึ่งเจ้าของพื้นที่เดิมคือ พรรคประชากรไทย ของสมัคร สุนทรเวช 
    จริงๆแล้ว “ดร.ซุป” ควรจะได้ลงสมัคร ส.ส.ในเขตใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโซนปลอดภัย แต่อดีต ส.ส.กทม. ของ ปชป.หลายคน ไม่ยอมเปิดทางให้คนหน้าใหม่ เลยต้องไปวัดดวงที่เขตขอบกรุง 
    ผลเลือกตั้งในเขต 8 (ส.ส. 3 คน) “ดร.ซุป” หลุดเข้ามาได้คนเดียว เหลืออีก 2 ที่นั่งตกเป็นของพรรคประชากรไทย และเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง 
    พ.ศ.โน้น ศุภชัยในช่วงรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังใหม่ๆนั้น ดูสดใส แต่ผ่านไปปีเศษ กลับหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะศุภชัยก็ไม่ปรากฎผลงานอะไรที่เด่นชัด ไม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือสมกับที่ตั้งความหวังไว้เลย 

++
ผิดที่ผิดทาง
++
    จะว่าไปแล้ว รัฐบาลเปรม ก็อุดมไปด้วยเทคโนแครต แต่ “ดร.ซุป” โชคร้ายที่ตัดสินเลือกสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทะเลาะกันตั้งแต่การแบ่งโควตารัฐมนตรีไม่ลงตัว จนวันสุดท้ายที่มีการประกาศยุบสภา ปี 2531 
    ช่วงที่ศุภชัยเข้าไปสังกัดพรรค ปชป. เป็นยุคที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนเกิด “กลุ่ม 10 มกรา” ว่ากันว่าบนความขัดแย้งของคนในพรรคนี้ ศุภชัยกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างยิ่ง 
    นักวิเคราะห์การเมืองแห่ง นสพ.ผู้จัดรายการเดือน (เดือน ก.ค.2531) วิเคราะห์สาเหตุของความล้มเหลวของศุภชัยว่า “...เพราะความไร้เดียงสา หรือเป็นคนดีเกินไปนั่นแหละก็เลยตามพวกเขี้ยวลากดินทั้งหลายไม่ทัน”
    “ศุภชัยนั้นเป็นคนเก่งคนหนึ่ง ว่ากันว่าเขาชอบใช้เวลาว่างโขกหมากรุกฝรั่ง ฝีมือการโขกนั้นไม่เป็นสองรองใคร แต่บนวิถีทางการเมืองศุภชัยจะต้องยอมรับว่าได้เดินหมากผิดไปแล้วตาหนึ่ง ซึ่งผลไม่ใช่จะบั่นทอนอนาคตทางการเมืองของเขาเพียงผู้เดียว หากเป็นการทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมืออีกจำนวนมากให้ต้องเข็ดขยาด ไม่อยากเข้าสู่เส้นทางการเมือง”
    อย่างไรก็ตาม “ศุภชัย” ได้กลับสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาลชวน หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ 
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ