คอลัมนิสต์

อานันท์โมเดล 'นายกคนพิเศษ' 29 ปี พฤษภาทมิฬ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

29 ปี พฤษภาทมิฬ มีเสียงเพรียกหา "รัฐบาลสร้างชาติ" และนายกรัฐมนตรีแบบอานันท์โมเดล

++

หากไม่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง เชื่อว่า กิจกรรมรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พ.ค.2535 ครบรอบ 29 ปี คงมีความคึกคักกว่าทุกปี เนื่องจาก “จตุพร พรหมพันธุ์” และ “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ได้จัดการชุมนุมไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน ไล่รัฐบาลประยุทธ์ มาแต่ต้นเดือน เม.ย.2564

ท่ามกลางวิกฤตโควิด “จตุพร” จึงจัดกิจกรรมอภิปรายออนไลน์แทนการลงถนน แต่กิจกรรมในสตูดิโอ ก็มีนักการเมืองใหญ่เรียงหน้ามาขึ้นเวทีไทยไม่ทนพอสมควร

ด้าน อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535  ได้ออกแถลงการณ์ 29 ปี พฤษภาประชาธรรม โดยมีฉันทามติขับไล่ประยุทธ์ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูประเทศ

“นายกรัฐมนตรีเพื่อการฟื้นฟูประเทศหรือรัฐบาลช่วยชาติ ควรมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และประชาชนหรือสังคมเห็นพ้องถึงความมุ่งมั่น เจตนารมณ์ ที่จะนำพาประเทศหลุดออกจากวังวนของปัญหา”

จะว่าไปแล้ว ขอเสนอ “รัฐบาลช่วยชาติ” ของอดุลย์ ก็ไม่ต่างจาก “รัฐบาลสร้างชาติ” ของทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ และปรีดา เตียสุวรรณ์
 

++

อานันท์โมเดล

ประวัติศาสตร์พฤษภาคม 2535 ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พล.อ.สุจินดา คราประยูรประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พล.อ.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้ว อาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็น พล.อ.อ.สมบุญ 

อานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ 

ปฏิบัติการเสนอชื่ออานันท์ เป็นนายกฯ ทำให้สื่อมวลชนสมัยโน้นยกย่องให้ อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย 

นับแต่ปี 2548 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนบางปีก ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบ “อานันท์โมเดล” แต่จบลงด้วยรัฐประหาร 2549 

อานันท์โมเดล \'นายกคนพิเศษ\' 29 ปี พฤษภาทมิฬ 

                                         อานันท์ ปี 2535

++
อานันท์วันนี้

แม้วันนี้ “กลุ่มเพื่อนอานันท์” จะไม่มีบทบาททางการเมืองเหมือนช่วงปี 2537-2540 แต่กลุ่มแกนบางคนก็ยังนัดพบอยู่กันเป็นประจำ บางครั้งก็จะมี “อานันท์” มาร่วมวงด้วย

วันที่ 29 ต.ค.2563 อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมรายการเสวนา “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” ซึ่งในวันนั้น "อานันท์” ได้ฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วยว่า ขอให้นายกฯ รับฟังเสียงของกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง และต้องพยายามทำความเข้าใจเยาวชนที่ออกมาชุมนุมด้วย 

“เด็กเขายืนยันว่าท่านนายกฯ เป็นตัวปัญหา ผมไม่ทราบว่ามีประชาชนรุ่นอื่นอีกหรือเปล่า และเขามองว่าท่านนายกฯ เป็นคนเดียวที่สามารถปลดล็อกได้ จะปลดล็อกโดยวิธีลาออก หรือวิธีอะไรผมไม่รู้ หรือถ้าท่านไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไร เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ท่านต้องรู้นะว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น…”

มาถึงวันนี้ ปรีดา เตียสุวรรณ์ แกนหลักของกลุ่มเพื่อนอานันท์ ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออก และเสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีพิเศษ 

ปีที่แล้ว อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาฯ ปี 2535 ก็เคยออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และเลือกนายกฯ คนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 คือ “นายกคนนอก” 

สรุปว่า กลุ่ม “อดุลย์-จตุพร” , “นกเขา-ปรีดา” และกลุ่มอาทิตย์ คิดอ่านตรงกัน ต้องมีนายกรัฐมนตรีแบบอานันท์โมเดล

อานันท์โมเดล \'นายกคนพิเศษ\' 29 ปี พฤษภาทมิฬ 

                                อาทิตย์ อุไรรัตน์ ปี 2535

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ