คอลัมนิสต์

นี่ไง 'กำนันกี'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สระแก้วโฉมใหม่ ยุค "กำนันกี" จับมือคนรุ่นใหม่ ล้างภาพจำเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

++
    นับจากวันนี้ไป ผู้คนคงรู้จักชื่อ “กำนันกี” ขวัญเรือน เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว มากขึ้นเพราะเธอคือมารดาของ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
    “กำนันกี” ของชาวสระแก้ว ในวัย 76 ปี ได้ตัดสินใจลงสมัครนายก อบจ.สระแก้ว โดยตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา คนในตระกูล “เทียนทอง” ได้เข้ามาบริหาร อบจ.สระแก้ว ติดต่อกันมา 5 สมัย
    “ดิฉันทำใจ มาตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วในครั้งนี้แล้วว่า "นามสกุล" จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการโจมตีตัวดิฉัน และข้ออ้างที่จะหยิบมาใช้เรียกคะแนนเสียงคงหนีไม่พ้น "การเปลี่ยนหน้า" ให้คนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง”
    ดังนั้น กำนันกี จึงใช้คำขวัญว่า “ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม” แม้ว่าจะนามสกุล “เทียนทอง” แต่ก็เป็นเทียนทองยุคใหม่ ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม "ไม่ผูกขาด" แบบที่มีใครต่อใครวิพากษ์วิจารณ์

นี่ไง \'กำนันกี\'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

นายก อบจ.สระแก้ว โปรโมตแหล่งท่องเที่ยวสระแก้ว

++
กำนันยุคสงครามเย็น
++
    เสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโสชาวสระแก้ว มีน้องชาย 2 คนคือ วิทยา เทียนทอง และพิเชษฐ์ เทียนทอง โดยวิทยาเล่นการเมืองมากับพี่ชาย แต่พิเชษฐ์ลุยงานด้านธุรกิจอย่างเดียว
    พิเชษฐ์มีภรรยาชื่อ “ขวัญเรือน” คนวัฒนานครเหมือนกัน ห้วงเวลาที่สระแก้วยังเป็นส่วนหนึ่งของ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังเป็นยุคสงครามเย็น หรือยุคสงครามเขมร 4 ฝ่าย มีชาวเขมรอพยพอยู่แถวชายแดนไทย-กัมพูชา นับแสนคน
    ขวัญเรือน น้องสะใภ้เสนาะ เป็นกำนัน ต.วัฒนานคร ซึ่งเธอได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “คุณแม่ลูกสี่ เกิดและโตที่วัฒนานคร เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในบทบาทกำนันที่ตำบลบ้านเกิด "กำนันกี" คือชื่อเล่นและชื่อเรียกที่พี่น้องชาวสระแก้วเรียกขานอย่างติดปาก”
    วัฒนานคร เป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ไม่ไกลจาก อ.อรัญประเทศ ตระกูล “เทียนทอง” จึงขยายฐานธุรกิจ จากวัฒนานครไปชายแดนอรัญฯ

นี่ไง \'กำนันกี\'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

กำนันกี สมัยสระแก้ว วัฒนานคร ยังเป็นอำเภอชายแดน

    “ช่วงนั้นการทำมาค้าขายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีผู้อพยพเข้ามาเป็นเรือนแสน หนีร้อนมาพึ่งเย็นที่บ้านเรา เมื่อสงครามยุติลง ความเป็นเมืองจึงเริ่มเกิดขึ้น ที่เคยเป็นป่าเป็นเขาก็ได้รับการบุกเบิก ทำถนน ลงเสาไฟฟ้า ติดตั้งน้ำประปา ฯลฯ จนกลายเป็นสระแก้ว แบบที่เราอยู่กันไม่กี่สิบปีมานี้เองค่ะ”
    วันที่ 1 ธ.ค.2536 เป็นวันที่ยกระดับสระแก้ว จากอำเภอหนึ่งของ จ.ปราจีนบุรีขึ้นเป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทย “เราเป็นเมืองด่านหน้าที่คอยตรวจคน สินค้าเข้า-ออก ชายแดนไทย-เขมรมานานก่อน จะมีตลาดโรงเกลือเป็นร้อยๆ ปีค่ะ แต่กระนั้น ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ทำให้พื้นที่ของเราเป็นเสมือน "กันชน" ให้กับเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ชั้นในของประเทศไปอีก”
    กำนันกี บอกเล่าเรื่องราวของสระแก้วในอดีต ด้วยการเป็นหัวเมืองชายแดน สระแก้วจึงกลายเป็น “เมืองทหาร” ไปโดยปริยาย 

++
บุกเบิกวังน้ำเย็น
++
    สมัยที่เขาฉกรรจ์ และวังน้ำเย็น ยังเป็นป่าดิบดงดำ มีนักแสวงโชคจากทั่วไทย เข้ามาหักล้างถางพงทำไร่ข้าวโพด “กำนันกี” ในฐานะตัวแทนตระกูลเทียนทอง ก็เข้าไปดูแล “ลูกไร่” จนรู้จักมักคุ้นกับชาวบ้านแถวนั้นเป็นอย่างดี
    เมื่อเสนาะ เทียนทอง เป็น รมช.เกษตรฯ สมัยรัฐบาลเปรม ได้ส่งเสริมให้ชาววังน้ำเย็น เลี้ยงโคนม แทนการทำไร่ข้าวโพด และกลายเป็นสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ที่มีชื่อเสียงในวันนี้ 
    สมัยเลี้ยงโคนม “กำนันกี” จับมือ “กำนันอำนวย” ช่วยกันผลักดันจนชาวบ้านประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคนม
    ว่ากันตามจริง ระยะหลัง “เสนาะ เทียนทอง” ไม่ได้ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านในพื้นที่ เพราะมอบหมายให้กำนันกีเป็นตัวแทน ในนามบ้านใหญ่สระแก้ว
    เมื่อวันที่ตัดสินใจนำลูก 2 คนคือ ฐานิสร์และตรีนุช มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตการเมืองของกำนันกี แต่ก็จำเป็นต้องเลือก เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

นี่ไง \'กำนันกี\'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

กำนันกี กับลูกสาว ตรีนุช เทียนทอง 

    หลังส่งลูกสาวลูกชายไปสภาฯ สำเร็จ ก็ถึงวันที่ต้องตัดสินใจเล่นการเมืองท้องถิ่น กำนันกีก็เลือกที่จะลงสมัครนายก อบจ.สระแก้ว โดยสัญญากับคนสระแก้วว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม
    หากส่องเฟซบุ๊คกำนันขวัญเรือน เทียนทอง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีของชาวสระแก้ว ที่มีนายก อบจ.วัย 76 ปี ที่กระฉับกระเฉง และมีทีมงานคนรุ่นใหม่ที่แข็งขัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ