คอลัมนิสต์

"คนรถไฟ"จี้ รมว. มหาดไทยเพิกถอนโฉนด "เขากระโดง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมาพันธ์คนงานรถไฟยื่นหนังสือ รมว.มหาดไทย เรียกร้องเพิกถอนโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของการถไฟฯ บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดข้อมูลประวัติศาสตร์ร้อยปีพร้อมคำพิพากษาศาลฎีกา ยันเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ ผู้บุกรุกทุกราย ทุกกรณี ต้องอยู่ภายใต้กฏหมาย

นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ หรือ สพ.รฟ. พร้อมด้วยพนักงานรถไฟจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ชั้น 5 กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายเสวี จิระเสวี รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นตัวแทนรับหนังสือแทนรัฐมนตรี

นายสุวิช กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯทั้งผืน เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าที่ดินทั้งแปลง 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯ โดยให้ทางกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทั้งโฉนดและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่มีการบุกรุกทุกรายตามคำพิพากษา ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องให้เป็นไปตามกฏหมาย

ส่วนคนที่ยังอาศัยอยู่ในที่ดินผืนนี้ ทางการรถไฟฯก็ต้องแสดงสิทธิ์ในการดูแลที่ดิน เนื่องจากเป็นสมบัติของแผ่นดิน

อันดับแรกการรถไฟฯต้องทำเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์จากผู้อาศัยหรือบุกรุกก่อน ถ้าผู้อาศัยต้องการเช่าที่ดิน ก็ต้องคุยรายละเอียดปลีกย่อยกันต่อไป ซึ่งมีระเบียบกฎหมายรองรับอยู่แล้ว

กรณีที่ยังมีเอกชนครอบครองที่ดินเขากระโดง เช่น บ้านนักการเมือง สนามช้างอารีน่า ซึ่งเรื่องนี้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่มีการชี้แจงจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบว่า ที่ดินบางส่วนประชาชนอยู่มาก่อนการรถไฟฯจะเข้าทำประโยชน์นั้น นายสุวิช กล่าวว่า ประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2464 มีพระราชกฤษฎีกาเรื่องการจัดซื้อที่ดินและทรัพย์สินเพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ

 "พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดเขตชัดเจนแล้วว่า ที่ดินเขากระโดงมีเนื้อที่อยู่ 5,083 ไร่ 50 ตารางวา ตามกฎหมายห้ามผู้ใดบุกรุกเข้าไปจับจอง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะบอกว่าไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟฯ ก็ต้องขอให้ไปดูคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งระบุไว้ครบถ้วนอยู่แล้ว"

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีบ้านนักการเมืองและคนใกล้ชิดอยู่ในที่ดินผืนนี้ จะทำให้การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทำได้ยากหรือไม่ นายสุวิช กล่าวว่า ต้องว่าไปตามกฎหมาย ตนในฐานะของประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ ได้ดำเนินการตามคำพิพากษา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ผู้ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินอยู่ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร หรือเจรจาอย่างไร เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องมาพูดคุยเจรจากัน แต่เบื้องต้นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องแสดงสิทธิ์การเป็นเจ้าของ

สำหรับเอกสารที่สมาพันธ์คนงานรถไฟ ยื่นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อยืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯนั้น ประกอบด้วย

- คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541

- มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554

- คำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

จึงเป็นข้อยุติแล้วว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ซึ่งได้มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 ห้ามผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ

ส่วนที่ดินที่มีการครอบครองก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ ไปยกให้ หรือขาย-ซื้อ-แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด / ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาต จึงถือได้ว่าที่ดินของการรถไฟฯผืนนี้ เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นำประเด็น “ที่ดินเขากระโดง” โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกา ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟฯ โดยกล่าวหาว่านิ่งเฉย ไม่ยอมสั่งการให้การรถไฟฯเพิกถอนเอกสารสิทธิ์

และฟ้องขับไล่เอกชนรายอื่นๆ ที่ครอบครองที่ดินเขากระโดงอีกหลายแปลง ซึ่งมีครอบครัวของรัฐมนตรี และสนามช้างอารีน่า รวมอยู่ด้วย

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชี้แจงในสภาช่วงที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า กรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาเอกชน 35 ราย การรถไฟฯได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่วนเอกชนรายอื่นๆ ที่บุกรุก ก็กำลังดำเนินการเพิ่มเติม มีบางรายที่การรถไฟฯจัดทำสัญญาเช่าให้เป็นไปตามระเบียบ  

"สำหรับที่ดินแปลงอื่นๆ รวมทั้งสนามช้างอารีน่า วิศวกรของการรถไฟฯ เคยรับรองแนวเขตว่าเป็นที่ดินที่มีประชาชนอาศัยอยู่ก่อนนานแล้ว"

เปิดหนังสือคนรถไฟเส้นทาง 100 ปีที่ดินเขากระโดง

หนังสือที่สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชนบนเขากระโดงนั้น อ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระราชกฤษฎีกา คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลอดจนคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อยืนยันว่า ที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

โดยเนื้อหาของหนังสือ ระบุว่า "ตามที่ได้มีการอภิปรายเพื่อลงมติไม่วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอภิปรายประเด็นกรณีรัฐมนตรี และเครือญาติพวกพ้อง บุกรุกที่ดินพิพาทบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวมีความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เช่น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 / มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 เป็นข้อยุติแล้วว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งได้มาโดย พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2462 ที่ให้กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมาไปยังบุรีรัมย์ จนถึงอุบลราชธานี

โดยได้แต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน ดำเนินการปักหลักเขตที่ดินไว้ให้เห็นว่าเป็นเขตที่ดินของกรมรถไฟ และจัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าห้ามผู้หนึ่งผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ

ส่วนที่ดินที่มีการครอบครองก่อน 8 พฤศจิกายน 2462 ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ไปยกให้หรือขายซื้อ แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด / ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงพิเศษ

และกรมรถไฟหลวงเห็นว่า การก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินโรยทาง จึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก อันเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหิน มีระยะทาง 8 กิโลเมตร ในช่วง 4 กิโลเมตรแรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 18 ราย มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 15-20 เมตร

ส่วนอีก 4 กิโลเมตรต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน เป็นป่าไม้เต็งรังโปร่ง ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร มีการจัดทำแผนที่และจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินระบุไว้ในแผนที่ด้วย ตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี

ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร 375-650 โดยข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดินได้จัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งถือได้ว่าที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 842-876 / 2560 กรณีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯเพื่อขอออกโฉนด และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 8019 / 2561 กรณีราษฎร 2 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯเพื่อขอออกโฉนด

โดยทั้ง 2 คดี ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นแนวเดียวกันพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯ

ซึ่งแนวของคำพิพากษาเป็นลักษณะชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตามแผนที่ทั้งแปลงจำนวน 5,083 ไร่ 50 ตารางวา เป็นพื้นที่ของการรถไฟฯ ห้ามผู้ใดเข้ามาบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์ได้ โดยถือเป็นข้อยุติทางกฎหมายแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นตามกระบวนการ

โดยตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

มาตรา 61 เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือจดแจ้งเอกสารรายการ จดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่ง อธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้

(ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด)

มาตรา 62 บรรดาคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ศาลแจ้งผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดหรือคำสั่งนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ด้วย

จากข้อยุติที่เป็นข้อกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลฏีกา และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่สรุปว่าที่ดินบริเวณพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 5,083 ไร่ 50 ตารางวา เป็นที่ดินของการรถไฟฯโดยชอบตามกฎหมาย และตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายต้องดำเนินการสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดที่ออกโดยไม่ชอบ

ดังนั้น สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) จึงขอเรียนมายังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานของกรมที่ดิน เพื่อโปรดพิจารณาให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายเพิกถอนเอกสารสิทธิกับผู้บุกรุกในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ทั้งหมด เพื่อรักษาไว้ซึ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สงวนหวงห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ของกิจการรถไฟฯและประชาชนคนไทยต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ