คอลัมนิสต์

ชีวิต "ครูดอย" เรื่องจริงที่แม่เกิบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชีวิต "ครูดอย" เรื่องจริงที่แม่เกิบ ไม่เอาดราม่า สัมผัสเรื่องจริงจากบ้านแม่เกิบ "ครูดอย" ยุคดิจิตอล ใช้สื่อโซเชียลเป็นสะพานบุญเพื่อเด็กกะเหรี่ยง คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก

++
หากตัดดราม่าในโซเชียลออกไป เรื่องราวของ “ศศช.บ้านแม่เกิบ” นั้น ควรได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง รวมถึง “ศศช.” อีกหลายแห่ง ที่ห่างไกลทุรกันดาร

 

อ่านข่าว...ดราม่าแม่เกิบ'ศรีเรศ' ส.ส.อมก๋อย

 

ชีวิต "ครูดอย" เรื่องจริงที่แม่เกิบ

โรงเรียนบ้านแม่เกิบ

 

 

หลายคน อาจไม่ทราบว่า “ศศช.” ที่มีชื่อเต็มๆว่า “ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา” กำเนิดมาอย่างไร? 
จริงๆแล้ว คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “ครูดอย” มานานแล้ว ยุคสมัยหนึ่ง มีบทเพลงลูกทุ่งดังชื่อ “ครูบนดอย” และหนังไทยเรื่อง “ครูดอย”

 

เพียงแต่ครูดอยในอดีตกับครูดอยยุคดิจิตอล ย่อมมีวิถีต่างกันไปสภาพสังคม ด้วยเหตุนี้ ครูดอยแห่งแม่เกิบ อย่าง “เจตน์  สนธิคุณ” และ “วาสุ แสงอรุณคีรี” จึงใช้สื่อโซเชียลเป็นสะพานเชื่อมบ้านแม่เกิบกับโลกภายนอก 

 

ผู้มีจิตอาสา และความช่วยเหลือต่างๆ จึงหลั่งไหลไปที่บ้านแม่เกิบ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั้งโลกออนไลน์


++
ตำนานครูดอย
++
ปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้นโดยส่งครูอาสา หรือครูดอย 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืนและสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวัน 
    

โครงการ ศศช. ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2537 ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายเปิดตามชุมชนทุรกันดารถึง 773 แห่ง
    

ชีวิต "ครูดอย" เรื่องจริงที่แม่เกิบ

ครูเจตน์ เจ้าของเพจชีวิตบนดอย

 

 

ปี 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้พระราชทานความช่วยเหลือครูบนดอย และทรงรับ ศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์


ปี 2539 กรม กศน.(ชื่อเดิม) ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”  ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” หรือ “สมเด็จย่า” แต่ชื่อย่อยังใช้ติดของเก่าว่า ศศช.เหมือนเดิม 
    

การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง หรือที่พูดจนติดปากว่า “การศึกษาชาวเขา” คือ การให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์และหลายเชื้อชาติ วิธีการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ไม่แตกต่างจากการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นราบ 
 

 

ชีวิต "ครูดอย" เรื่องจริงที่แม่เกิบ

ครูวาสุ และเด็กๆ บ้านแม่เกิบ

 

++
ครูดอยแม่เกิบ
++
โรงเรียนบ้านแม่เกิบ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศูนย์การเรียนชุมชนขาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่เกิบ  ต.นาเกียน  อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีครูประจำการ 2 คน คือ เจตน์  สนธิคุณ และวาสุ แสงอรุณคีรี 
    

ครูเจตน์หรือครูเอ็ม มีเฟซบุ๊กส่วนตัว Jet Sonthikun และแฟนเพจเฟซบุ๊ค “ชีวิตบนดอย” เผยแพร่ภาพชีวิตของเด็กชาวกะเหรี่ยง และผลงานของเด็กๆ ที่ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นมา รวมถึงการระดม “ครูจิตอาสา” มาช่วยสอนที่แม่เกิบ ส่วนครูวาสุ ก็มีเฟซบุ๊คส่วนตัว “วาสุ ลูกกะเหรี่ยง” เช่นกัน
    

เมื่อปลายปี 2561 มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ได้ทำการติดตั้งระบบส่องสว่างให้กับโรงเรียนบ้านแม่เกิบ โดยร่วมมือกับกลุ่มจำปีเหล็ก TLC Group และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    

ปลายปีที่แล้ว มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ได้เดินทางเข้าพื้นที่บ้านแม่เกิบ ร่วมกับคณะของ ดร.บานจิตร สายรอคำ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าไปติดตั้งระบบส่องสว่าง ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับบ้านเรือนของราษฎรบ้านแม่เกิบ จำนวน 51 หลังคาเรือน 
    

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค Airada Pompanwong ได้รวบรวมเพื่อนพ้องน้องพี่ ทำโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่โรงเรียนบ้านแม่เกิบ
    

“ศศช.บ้านแม่เกิบ  กศน.อมก๋อย เป็นที่ที่เราไปกันมา เมื่อ 17-21 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา  โรงเรียนมีเด็กประมาณ 40 คน น้องๆ มีไฟฟ้าใช้แค่ ช่วง 8.00-17.00 น. มาจากโซลาร์เซลล์ 2 แผง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ต่างๆ ไม่มีสื่อการสอนอื่นๆ นอกจากในหนังสือเรียน และสิ่งรอบตัวของน้องๆ อาหารกลางวันของน้องๆ ก็จะไม่มีของสด เพราะไม่มีตู้เย็นแช่ของ”
    

กลุ่มครูจิตอาสาเปิดการระดมทุนผ่านเฟซบุ๊ก ได้เงินบริจาค 290,000 บาท และ “พิมรี่พาย” บริจาคอีก 550,000 บาท จึงทำให้โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำเร็จไปได้ด้วยดี และมีการฉลองวันเด็ก ในวันที่ 8 ม.ค.2564 
    

อย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าจะไม่ส่องสว่างที่โรงเรียนบ้านแม่เกิบ หากไม่มีความเสียสละของครูดอยอย่างครูเจตน์ และครูวาสุ 
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ