คอลัมนิสต์

'รุ้ง'ราษฎร จากโดมปฏิวัติ สู่ท้องถนน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดราม่า "รุ้ง บีบีซี" จากเด็กเรียน สู่ผู้นำพรรคโดมปฏิวัติ และแกนนำคณะราษฎรยุค Gen Z

++
    สื่อสังคมออนไลน์ ถกเถียงกันเยอะ กรณีรายการ “ถามตรงกับจอมขวัญ” ทางช่องไทยรัฐทีวี ประเด็น "พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561" ระหว่าง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กับ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร 
    ดูเหมือนว่า “รุ้ง ปนัสยา” จะเจอเสียงวิพากษ์จากฝ่ายตรงข้ามหนัก แต่เสียงวิจารณ์จากฝ่ายเดียวกัน ก็มีไม่น้อย
    ก่อนหน้านี้ โครงการ 100 Women ของบีบีซีมุ่งนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างขึ้นในสังคมในห้วงเวลาแห่งความวุ่นวายจากวิกฤตโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ภายใต้แนวคิด "สตรีผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง"
    “รุ้ง ปนัสยา” ก็เป็น 1 ใน 100 คน เธอคือผู้ที่ขึ้นอ่าน "ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1" เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ บนเวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
    นอกจากนี้ เธอยังถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอีกหลายคดี

++
ลูกคนชั้นกลาง
++
    หลังสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ลงมติเลือก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้าพรรคคนที่ 3 “รุ้ง” ได้โพสต์ความในใจผ่านเฟซบุ๊คว่า 
    “เราต้องขอเล่าประวัติส่วนตัวของตนเองเสียก่อน เราเป็นลูกคนสุดท้อง ของครอบครัวที่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร จุดเปลี่ยนสำคัญที่ออกมาเคลื่อนไหว เริ่มมาจากการที่มีเพื่อนที่เรารักมากนั้นฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะวันละ 4-5 ชั่วโมง ในการเดินทางไปกลับจากบ้านมายังมหาวิทยาลัย ไม่สามารถไปเที่ยวสังสรรค์กับหมู่เพื่อนได้บ่อยครั้ง หากจะไปแต่ละครั้งต้องเก็บเงินนานมาก ยามป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาลรัฐ ที่ต้องใช้เวลาในการรอรับบริการในการรักษานาน ทำให้เรารู้สึกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด”
    รุ้งเกิด พ.ศ.2541 เศรษฐกิจฟองสบู่แตก เรียนประถมตอนรัฐประหาร 2549 เรียนมัธยมปลายช่วงรัฐประหาร 2557
    อานิสงส์จากการได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐ ทำให้เธอกล้าแสดงออกมากขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้มากขึ้น
    ตอนเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย รุ้งเริ่มค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับรัฐประหารในประเทศไทย เธอมักจะพูดคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองไทย กระทั่งสอบได้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

                                 'รุ้ง'ราษฎร จากโดมปฏิวัติ สู่ท้องถนน

                               รุ้ง แกนนำหลักของราษฎร

++
โดมปฏิวัติ
++
    การได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ทำให้รุ้งสนใจการเมืองเชิงลึกมากขึ้น และกลายเป็น 3 สหายคือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ณัฐ” ณัฐชนน ไพโรจน์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

                            'รุ้ง'ราษฎร จากโดมปฏิวัติ สู่ท้องถนน

                       สามสหายพรรคโดมปฏิวัติ


    วันที่ 10 ส.ค.2563 เป็นวันที่ “รุ้ง ปนัสยา” นักศึกษาปีที่ 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ต้องจดจำไปตลอดชีวิต เมื่อเธอขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์ 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันฯ
    หลังจากวันนั้น ชื่อของ “รุ้ง” ในฐานะแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration ก็โด่งดังไปทั้งประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ