คอลัมนิสต์

 ย้อนไทม์ไลน์คดีเหมืองทองอัครา ..บนเสียงเรียกร้อง"บิ๊กตู่" รับผิดชอบ-ซุกงบฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อมีการออกมาแฉว่างบฯปี 64มีการซุกงบฯ 111ล้านบาทไว้สู้คดี"เหมืองทองอัครา"ที่ถูกสั่งปิดโดย ม.44 มีการเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ รับผิดชอบ. ย้อนไทม์ไลน์คดีเหมืองทองอัครา ทำไมรัฐต้องใช้ ม.44 คดีไปถึงไหนแล้วและแนวทางที่จะเดินต่อไป

 - ปี 2543 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชนะประมูล ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองแร่ทองคำชาตรีใต้ พื้นที่ 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี สิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2563  และเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ พื้นที่ 2,466 ไร่  ระยะเวลา 20 ปี วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571

-เหมืองแร่ทองคำอัครา รีซอร์สเซส หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า เหมืองทองชาตรี ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่การทำสัมปทานในการขุดหาแร่ทองคำครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินกิจการด้วยเงินลงทุนเกือบ 5 พันล้านบาท  มีการจ้างงานคนงานกว่า 1 พันคน

- ปี 2544 เปิดดำเนินการขุดหาแร่ทองคำ

-ปี 2544-2559  เหมืองแร่ทองคำที่ดำเนินกิจการอยู่นั้น มีกลุ่มคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ออกมาประท้วงร้องทุกข์ ร้องเรียนกล่าวหาว่า เหมืองแร่ทองคำอัคราฯ แห่งนี้ก่อมลภาวะ ก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม มีการชุมนุมประท้วง ฟ้องร้องขึ้นโรง ขึ้นศาล หลายสิบคดีเป็นข่าวดังระดับโลก สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

 -ปัญหาร้องเรียนจากชาวบ้านเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากมลพิษจากเหมืองที่ให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารพิษปนเปื้อนที่มากับดิน น้ำและอากาศรวมถึงยังมีสภาวะเครียดที่เกิดขึ้นจากเสียงของอุตสาหกรรมอีกด้วยและเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล คสช. ในขณะนั้นด้วย 

-ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายสนับสนุนเหมืองแร่ฯ  ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ประชาชนจากบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี พนักงานและครอบครัว ประมาณ 5 พันคน ออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร

-13 ธ.ค. ปี 2559  มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 72 /2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา โดยในคำสั่งระบุว่า มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําเนื่องจากได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้ง
ของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง  จึงมีความจําเป็นต้องกําหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกําหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา จึงมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 คำสั่งดังกล่าวลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.  ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

-หลังจากที่เหมืองทองคำได้ถูกสั่งให้ระงับการประกอบกิจการตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 ทางบริษัทคิงส์เกตได้เจรจาเพื่อยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทยให้ชดใช้เป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่การเจรจาไม่เป็นผล

-เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ บริษัท คิงส์เกต ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย  Statement of Claim ได้ถูกยื่นต่ออนุญาโตตุลาการด้วยการขอตั้ง“คณะอนุญาโตตุลาการ” ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย

 -รัฐบาลไทยและบริษัทคิงส์เกต เริ่มเข้ากระบวนการไต่สวนของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 3 -12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์ 

- การพิจารณายังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ  คาดว่าอาจมีคำวินิจฉัยปลายปี 2563 

-แม้ว่าจะมีการฟ้องแล้ว แต่การเจรจาก็สามารถทำควบคู่ได้ โดยทางรัฐบาลไทยต้องการใช้แนวทางการเจรจาโดยยึดหลักรัฐไม่เสียหาย เอกชนต้องอยู่ได้ และถ้าหากได้ข้อสรุปก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยออกมา อาจทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ ถอนคำฟ้องก็เป็นไปได้

-สำหรับค่าเสียหายจากการที่เหมืองแร่ทองคำอัคราถูกปิด ที่รัฐต้องจ่ายหากแพ้คดี คาดว่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

-ล่าสุดเกิดเป็นประเด็นขึ้นในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เมื่อนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่า มีการตั้งงบประมาณสู้คดีบริษัท คิงส์เกตฯ ในปี 2564 จำนวน 111 ล้านบาท รวม3 ปีใช้ไปจำนวน 389 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดว่าเมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณไป 60 ล้านบาท ปี 2563 ใช้ไป 218 ล้านบาท และปี 2564 ตั้งงบประมาณอีก 111 ล้านบาท รวม 3 ปี 389 ล้านบาท และไม่รู้ว่าจะต้องเสียอีกเท่าไร เพราะไม่รู้ว่าคดีจะจบเมื่อไหร่
และนายวิโรจน์ ยังบอกว่ามีการตั้งงบประมาณลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2562 และ 2563 แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อการไกล่เกลี่ยคดี เหมือนเป็นการซุกงบฯเอาไว้หรือไม่ ส่วนในปีงบประมาณ 2564 มีระบุมาชัดเจนในส่วนงบประมาณประจำปีของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งทางพรรคก้าวไกลจะแปรญัตติเพื่อขอตัดงบประมาณในส่วนนี้ ไม่สามารถยอมให้ใช้งบประมาณในส่วนนี้ได้ และจะตั้งงบไปแบบนี้เรื่อยๆคงยอมไม่ได้

-ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและอดีตหัวหน้า คสช. รับผิดชอบชดใช้เงินจากการสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำอัครา  โดยบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถนำเงินของรัฐมาจ่ายได้ และ พล.อ. ประยุทธ์ เคยประกาศชัดเจนว่า จะรับผิดชอบคดีปิดเหมืองทองอัคราด้วยตัวเอง ค่าสู้คดีรัฐในคดีนี้รวม 3 ปี 389 ล้านบาท ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายตามมา หากแพ้คดีอีกเกือบ 40,000 ล้าน ให้ พล.อ. ประยุทธ์ ควักเงินตัวเองจ่ายด้วย 

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "สุดารัตน์ "ลั่น "บิ๊กตู่" ต้องควักเงินจ่ายเองค่าสู้คดีปิดเหมืองทองอัครา 389 ล. )

-นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล บอกว่า  การตั้งงบฯสู้คดีเป็นเองปกติ ทุกสมัยเมื่อรัฐบาลมีกรณีพิพาทในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือถูกฟ้องในศาลต่างประเทศ จำเป็นต้องจ้างทนายความ ไม่เช่นนั้นจะนำเงินที่ไหนไปสู้คดีและการที่รัฐใช้อำนาจไปในเรื่องนี้เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ประชาชน เมื่อได้ทางหนึ่งก็เสียทางหนึ่ง เป็นธรรมดา

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ