คอลัมนิสต์

เตือน กลุ่มเคลื่อนไหว "วันเฉลิม" กระทบเกียรติภูมิเพื่อนบ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝ่ายความมั่นคงเตือนเคลื่อนไหวหนักเรื่อง "วันเฉลิม" ทั้งๆ ที่ข้อมูลไม่ชัดเจน เสี่ยงละเมิดเกียรติภูมิประเทศเพื่อนบ้าน กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หลังจากมีการสร้างประเด็นเกี่ยวกับการอุ้มหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ต้องหาคดีกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขณะลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา จนกลายเป็นกระแสดราม่าใหญ่โต และวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างพากันออกมาปฏิเสธข่าวนั้น

 

มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ บางฝ่ายวิจารณ์และเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียในลักษณะรับลูกต่อๆ กันไป โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน หรือมีข้อมูลข้อเท็จจริงแต่ก็น้อยมาก 

การวิจารณ์เช่นนี้ทั้งจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่หยิบฉวยเรื่องนี้มากล่าวหารัฐบาล หรือแม้กระทั่งฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาล ที่พยายามอ้างถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในอาเซียน จนเชื่อเอาเองว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้นั้น การวิจารณ์ทั้ง 2 รูปแบบถือว่าผิดมารยาท ไม่เคารพเกียรติภูมิประเทศเพื่อนบ้าน และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เพราะเท่ากับเป็นการยกประเทศไทยให้มีอำนาจเหนือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในแถบนี้ ถึงขนาดส่งกำลังไปทำอะไรในแผ่นดินของประเทศอื่นได้อย่างเสรี

 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีประเทศไหนในโลกยอมให้เจ้าหน้าที่จากประเทศอื่นเข้าไปปฏิบัติการในประเทศของตน โดยเฉพาะถึงขั้นอุ้มฆ่า อุ้มหายอย่างโจ๋งครึ่ม บางประเทศอาจมีการส่งสายลับเข้าไปตามเก็บเป้าหมายในประเทศอื่น แต่ก็เป็นปฏิบัติการลับที่เมื่อประเทศเจ้าของดินแดนตรวจพบ จะถูกประท้วงต่อต้าน และจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทันที

แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง อธิบายว่า โดยระเบียบและข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนมารยาททางการทูตแล้ว ไม่มีชาติใดยอมให้อีกชาติหนึ่งเข้าไปปฏิบัติการอุ้มฆ่าพลเรือนในประเทศของตน โดยเฉพาะประเทศเอกราชที่มีอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ยกเว้นก็แต่เป็นประเทศบริวารเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพาประเทศใหญ่ อาจจำยอมชาติมหาอำนาจด้วยความไม่เต็มใจ แต่ไม่ใช่กรณีกัมพูชากับไทย หรือลาวกับไทยอย่างแน่นอน

 

ประเทศไทยเอง เมื่อหลายปีก่อนก็มีสายลับหรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษจากเกาหลีเหนือเข้ามาไล่ล่าเป้าหมายในไทยโดยพลการ ซึ่งเมื่อทางการไทยทราบเรื่งอ ก็ทำการประท้วง และขอให้ยุติปฏิบัติการทันที ขณะที่บรรดาสายลับหรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษของชาติอื่นๆ ที่เข้ามาเคลื่อนไหวแทรกซึมในไทย ก็ต้องอยู่ในสายตาของหน่วยข่าวและฝ่ายความมั่นคงไทย หากหน่วยงานของต่างประเทศต้องการให้ทางการไทยจับกุมบุคคล หรือจับตาบุคคลใดเป็นพิเศษ ก็ต้องส่งเรื่องและหลักฐานต่างๆ มา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการ ไม่ใช่เปิดปฏิบัติการเอง และแน่นอนว่าการปฏิบัติการย่อมไม่ใช่การกระทำในลักษณะละเมิดกฎหมาย อาจจะมีการจับกุม แต่ก็ต้องมีหลักฐานและหมายจับมาแสดงอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ปฏิบัติแบบนี้เช่นเดียวกัน

 

กรณีของนายวันเฉลิม มีการตรวจสอบข้อมูลจากสารบบคดี พบว่าไม่ได้โดนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามที่มีการรณรงค์สร้างกระแสกัน แต่นายวันเฉลิมโดนกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อัตราโทษไม่ได้สูงมาก และไม่ใช่แกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธ ฉะนั้นรัฐบาลและฝ่ายความมันคงจึงไม่ได้มองว่าเป็นภัยคุกคามที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ

 

ฉะนั้นการรู้เพียงข้อมูลกล่าวอ้างด้านเดียว การปล่อยข่าวออกมาในช่วงที่มีกระแสการประท้วงที่สหรัฐ และอ้างถ้อยคำสุดท้ายของนายวันเฉลิมที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์นายจอร์จ ฟลอยด์ ที่มินนิอาโปลิส (หายใจไม่ออก หรือ I can't breath) และมีการรับลูกวิจารณ์ต่อๆ กันของฝ่ายต้านรัฐบาล โดยไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ดูผิดธรรมชาติและจงใจเกินไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ