คอลัมนิสต์

เทคโนแครตต่อต้านโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เทคโนแครตต่อต้านโควิด-19 โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

            เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสสนทนากับเพื่อนอาจารย์ที่ NIDA ท่านหนึ่งคือ รศ. พ.ต.ท. ดร.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ อดีตรองอธิการบดี NIDA โดยหัวข้อสนทนาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการได้ดีมากในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค แต่การแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการดำเนินการ ซึ่งคงต้องรอผลลัพธ์สุดท้ายในอีกไม่นาน ก็จะรู้คำตอบ 

         อย่างไรก็ตาม หัวข้อสำคัญในการสนทนาคือ ทำไมพลเอกประยุทธ์ จึงตัดสินใจเลือกที่จะไม่ใช้นักการเมืองในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หันไปพึ่งพิงบทบาทของเทคโนแครต ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแทน ในขณะที่นักการเมืองทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ยอมลดบทบาทตัวเองลงโดยธรรมชาติ และไม่มีท่าทีขัดขืนเท่าไรนัก เมื่อถูกขวางไม่ให้มีอำนาจและบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์โรคระบาดของชาติในครั้งนี้

        ก่อนอื่นขออธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับความหมายของเทคโนแครต โดยขออ้างอิงข้อมูลจาก Wikipedia ที่ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำมากล่าวในการปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบรอบ 99 ปี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

เทคโนแครตหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจจากวิชาความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ใด ๆ ซึ่งใช้อำนาจนั้นตัดสินใจต่อปัญหาสาธารณะ เช่นพวกวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ  แทนที่ผู้ใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

       จากความหมายเบื้องต้นของเทคโนแครต น่าจะทำให้หลายคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า บุคลากรทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในปัจจุบันไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ รวมถึงไม่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาโรคระบาด เราจึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนแครตที่มีวิชาความรู้เฉพาะ ทางการแพทย์ ระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา และ สาธารณสุข เป็นต้น ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค

 

 

 

           ปัญหาโรคระบาดนั้นไม่เหมือนกับปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาการเมืองที่คนจำนวนมาก รวมถึงนักการเมืองอาจจะพอจะเข้าใจได้บ้าง แม้ว่าจะไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์โดยตรงก็ตาม อย่างน้อยที่สุดความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ก็อาจจะมาจากประสบการณ์จากการอ่านหรือการดำเนินชีวิตหรือเกิดจากความรู้ที่ได้จากสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจนถึงปริญญาตรี โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยผ่านวิชาเศรษฐศาสตร์เบื่องต้นหรือการเมืองการปกครองไทยเบื่องต้นมาแล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเวลาที่นักการเมือง (ดัง ๆ...แต่ไม่รู้ว่าแบบไหน) พูดถึงเรื่องปัญหาทางการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจ อาจจะสามารถสร้างผลกระทบต่อความคิด (อาจรวมถึงการปฏิบัติด้วย) ของรัฐบาล สื่อมวลชน หรือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความคิดเห็นแย้งหรือความคิดเห็นสอดคล้องก็ตาม

         แต่วิชาด้าน การแพทย์ ไม่ได้มีสอนในชั้นเรียนทั่วไป เช่น เราคงไม่มีวิชา การแพทย์ 101 ในการเรียนสาขารัฐศาสตร์ วิชาด้านการแพทย์เป็นวิชาการเฉพาะกลุ่มสาขาอาชีพที่ผู้ศึกษาจำเป็นต้องมีความเข้าใจในเชิงกว้างและลึกและสร้างความเชี่ยวชาญให้ได้ ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ผู้ที่จบด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื่อว่าไม่น่าจะมีนักการเมืองคนใดในปัจจุบันที่เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาหรือ ไวรัสวิทยา หรือถ้ามีบ้าง แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้สนใจพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะมัวแต่ทำงานการเมือง เราก็คงไม่ไว้วางใจในคำแนะนำของนักการเมืองเหล่านี้ ฉะนั้นเวลาที่มีนักการเมืองบางคนโดยเฉพาะพวกที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์เลย ดันไปสู่รู้พูดในเรื่องเทคนิคหรือวิธีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็จะไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อผู้คนในสังคมได้ รวมถึงอาจโดนตำหนิกลับหรือโดนขอร้องให้หุบปากด้วย

       แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นการพูดของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากกระทรวงสาธารณสุข หรือจากคณะแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ คนส่วนใหญ่ในประเทศก็จะเงี่ยหูฟังในทันที และรวมถึงอาจจะสร้างผลกระทบต่อความคิดและวิธีปฏิบัติตัวของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 
ลองสร้างมโนทัศน์ในอีกมุมหนึ่ง สมมุติว่า นายกรัฐมนตรีให้นักการเมืองมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไม่มีหรือแทบจะไม่มีเทคโนแครตเข้ามาร่วมด้วยเลย อะไรจะเกิดขึ้น ทำนายได้เลยว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บ้านเราพุ่งถึงหลักหมื่นหรืออาจจะหลักแสนจนแทบจะไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ที่ผู้นำคิดเรื่องการเมืองก่อนเรื่องการรักษาชีวิตผู้คนในประเทศ

         ธรรมชาติของนักการเมืองส่วนใหญ่จะมองเรื่องอำนาจ ผลประโยชน์และการเลือกตั้งในสมัยหน้าเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นรัฐบาลผสม แต่ละพรรคการเมือง รวมถึงนักการเมืองด้วยจะไม่ยอมให้ใครหรือพรรคใดโดดเด่นแย่งชิงคะแนนเสียงหรือการสนับสนุนจากประชาชนไปแต่เพียงผู้เดียว ความพยายามขัดแข้งขัดขา มุ่งรับความชอบ โยนความผิด ขอเจรจาต่อรองแบ่งปันผลประโยชน์ ประนีประนอม จึงเกิดขึ้นเป็นประจำ ในขณะที่ฝ่ายค้านก็ต้องมีหน้าที่ค้าน ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร เพราะจำเป็นต้องแสดงบทบาทเพื่อให้ประชาชนหรือผู้สนับสนุนเห็นว่ากำลังทำหน้าที่อยู่ เช่น ในช่วงตอนต้นของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐบาลยังไม่ ปิดกั้นการเดินทางเข้าประเทศและยังไม่ประกาศ Lockdown ก็โดนฝ่ายค้านตำหนิว่าทำไมไม่ตัดสินใจเสียที แต่พอรัฐบาลตัดสินใจไป ก็ถูกฝ่ายค้านตำหนิ ประชดประชัน ว่าเมื่อไรจะยกเลิกมาตรการ (เรียกว่าทำงานตามหน้าที่อย่างเต็มที่)

       หากเราย้อนไปในช่วงต้นของการแพร่ระบาดประมาณปลายเดือนมกราคมต่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก่อนที่กลุ่มเทคโนแครตจะก้าวเข้ามามีบทบาทนำ จะพบว่าในช่วงนั้นประชาชนไม่ค่อยมีความมั่นใจว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะสามารถนำพาชาติฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ (ทำให้นักการเมืองฝ่ายค้านบางคนถือโอกาสถล่มรัฐบาลอย่างหนักเพราะเชื่อว่ารัฐบาลไม่รอดแน่) ไม่ว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะมีคำแนะนำหรือเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใด หรือแม้ว่าคำแนะนำนั้นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้รับฟังมาจากบุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครฟังเพราะประชาชนเชื่อว่านักการเมืองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ที่แท้จริงในเรื่องโรคระบาด

 

 

 

         ตัวอย่างการทำงานของ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด พยายามมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ถูกถล่มจากหลายฝ่ายว่าเอาคนที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์มาเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้อย่างไร ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยก็กำลังระอุขึ้น (ช่วงต้นประชาชนยังเชื่อว่าต้องใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N 95 เท่านั้น) จนกระทั่งคุณอนุทินทนโดนถามและถูกโจมตีทุกวันไม่ไหว เลยย้อนไปว่า ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยให้ไปถามกระทรวงพาณิชย์ 

         ในที่สุดเผือกร้อนทั้งหลายที่ตามมาหลังจากนั้นก็ถูกโยนลงหน้าตักหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จนกระทั่งเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายต้องออกมาบอกว่าถ้าเราไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ได้ทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ได้มีอาการป่วย ก็ให้ใช้หน้ากากผ้าได้ ทำให้ประเด็นเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนทั่วไปก็ถูกพูดถึงน้อยลงไปเรื่อย ๆ

        ผลสุดท้ายฝ่ายการเมืองก็ยอมถอย และปล่อยให้เทคโนแครตที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาทำหน้าที่และมีบทบาทนำแทนนักการเมืองโดยผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  (ศบค.)

       จากที่พรรณนาเบื้องต้นมาทั้งหมดนั้น เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือในความเชี่ยวชาญของผู้ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติเฉพาะด้านของประเทศ และเป็นเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ถึงต้องหันไปพึ่งพิงเทคโนแครตในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการพึ่งพาเทคโนแครตในการเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการแต่งตั้งคุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน มาเป็นโฆษก ศบค. ซึ่งก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ดีขึ้นในสายตาประชาชนทั่วไป (ดีกว่าแต่งตั้งคนยิ้มสวย ๆ แต่อาจไม่มีใครฟัง)

          อย่างไรก็ตามก็มีคำถามว่า หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เทคโนแครต ไม่ว่าด้านใดก็ตาม จะมีบทบาทเด่นแทนที่นักการเมืองต่อไปหรือไม่ คำตอบคือ ในปัจจุบัน ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะนักการเมืองคงไม่ยอมให้เทคโนแครตเข้ามามีบทบาทนำในยามปกติที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เทคโนแครตส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายจากทางฝ่ายการเมืองหรืออยู่เบื่องหลังคอยให้คำปรึกษานักการเมือง

เทคโนแครตจะกลับมามีบทบาทนำและเด่นอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมือประเทศอยู่ในช่วงวิกฤติที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือช่วงเวลาที่เราไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง...จะเอาช่วงไหน เลือกได้เลย

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ