คอลัมนิสต์

ร่วมใจฝ่าวิกฤติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่วมใจฝ่าวิกฤติ บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563

          สถานการณ์การแพร่ ระบาด ของ ไวรัสโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทุกมุมโลก ที่สำคัญกระทบภาพรวมของตลาดการเงิน  สังคม และเศรษฐกิจโลกอย่างแสนสาหัสและมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาคาดว่าเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะหดตัวติดลบร้อยละ 5.3 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 และจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2564 โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะหดตัวลงราวร้อยละ 60 และภาคการส่งออกที่ประเทศคู่ค้าทั่วโลกชะลอตัวแรงหรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หาก โควิด-19 ยังระบาดรุนแรงและยาวนาน จะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง

 

 

 

          หลายประเทศอัดฉีดเงินเยียวยาภาคธุรกิจ ประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยออกมาตรการเงินช่วยเหลือลูกจ้างใน-นอกระบบ ผู้มีอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายตัวเอง เว้นระยะห่างทางสังคม  รวมถึงแผนรองรับในระยะต่อๆ ไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งจากการประเมินความเสียหายในการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อาจจะสูงเกิน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณปี 63 ที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการนำมาใช้ แม้หลายส่วนเสนอให้ดึงงบประมาณลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมาใช้ในส่วนกลางก็ตาม แต่หากดูจากตัวเลขจะมีเพียงประมาณ 450,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยังคงไม่เพียงพอ จึงเป็นความจำเป็นที่กระทรวงคลังเตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาท

          เพียงชั่วระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ไวรัสร้ายแพร่ระบาดสร้างความเสียหายขนาดหนัก เป็นวิกฤติที่มีความต่างจากเหตุการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา มองย้อนกลับไปใน วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ความเสียหายเกิดขึ้นภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เกิดขึ้นจากนอกประเทศเป็นหลัก แต่วิกฤติขณะนี้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงทำได้ยากกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะที่มาตรการของภาครัฐ ที่รวมถึงการแจกเงิน 5,000 บาท และมาตรการลดดอกเบี้ย พักชำระเงินกู้จากแบงก์ชาติ และสถาบันการเงินต่างๆ ที่ออกมาขณะนี้ เป็นเพียงการช่วยประคองเท่านั้น ยังไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง และมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงจำเป็นที่ต้องใช้เม็ดเงินก้อนโตมาพยุงระบบ

          วิกฤติการณ์ครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไปกว่า 5 แสนคน เสียชีวิตอีกทะลุ 2 หมื่นคน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันฟันฝ่าไปให้ได้ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รวบรวมสรรพกำลังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาตรการมาเพื่อยับยั้งและยุติการแพร่กระจายของโรคร้ายแรงนี้ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-30 เมษายน 2563 นั้นก็เป็นเครื่องมืออีกชิ้นที่จะลดการเจ็บการตายและการติดเชื้อของคนไทย ขอเพียงพวกเราให้ความร่วมมือและรับฟังข้อชี้แนะจากทีมแพทย์พยาบาลที่เสียสละอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนไทยอย่างไม่ลดละ และเป็นกำลังใจให้พวกเขาเหล่านั้น เพราะนี่เป็นบททดสอบที่สำคัญในวาระที่คับขันเช่นนี้ เราควรต้องร่วมกันปรับเปลี่ยนความคิด และช่วยกันคิดช่วยกันทำ ยึดมั่นในระเบียบวินัย พาชาติพ้นวิกฤติ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ