คอลัมนิสต์

ใช่เพียงแค่วาทกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใช่เพียงแค่วาทกรรม บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 4 มีนาคม 2563

 

 


          ประเด็นสำคัญ “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในวาระแห่งการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศ เช่นที่กำลังเป็นกระแสกดดันรัฐบาล โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในขณะนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพทางการเมืองภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ถูกเรียกขานจากฟากตรงข้ามกลุ่มอำนาจทหารว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ผ่านกระบวนการต่างๆ นับเนื่องตั้งแต่ ประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติ การร่างรัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎกติกาต่างๆ แม้กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด ก็ยังถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นรากเหง้าหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

อ่านข่าว...   ความเหลื่อมล้ำอันรุนแรง

 


          นิยามของความเหลื่อมล้ำนั้น มีมากมายหลายหลากมิติ ที่สามารถแลเห็นเป็นรูปธรรม และจับต้องได้ ง่ายที่สุดเห็นจะเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ ซึ่งในทางวิชาการได้เขียนเอาไว้ว่า เป็นการเปรียบเทียบความไม่เท่าเทียมกันในเชิงรูปธรรม ซึ่งเป็นการถือครองสินทรัพย์ที่จับต้องได้ โดยมีข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแสดงเอาไว้ว่า แม้รายได้เฉลี่ยของคนไทยปรับตัวสูงขึ้น จากประมาณคนละ 1,100 บาทต่อเดือน ในปี 2531 เป็นคนละ 3,400 บาทต่อเดือน ในปี 2543 และเพิ่มเป็นคนละ 9,600 บาทต่อเดือน ในปี 2560 แต่ค่าสัมประสิทธิ์ที่บ่งบอกถึงความไม่เสมอภาคนั้นแทบจะไม่ดีขึ้นเลย


          นอกจากเรื่องรายได้แล้ว สังคมไทยยังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในด้านสังคมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเข้าถึงความยุติธรรมโดยเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร คำพูดที่ว่า คุกมีเอาไว้ขังคนจน ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบระหว่างกรณีการดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่า จนถูกตัดสินจองจำ กับกรณีนักการเมือง บุคคลชั้นนำของสังคม นายทุนผู้มีอิทธิพลซึ่งเข้าครอบครองพื้นที่ป่าโดยที่กระบวนการยุติธรรมมักจะเอื้อมมือเข้าไปไม่ถึง หรือว่า ในบางกรณีก็เกิดการกระทำที่รู้จักกันดีว่าเป็นการหลับตาข้างหนึ่ง

 

 

 

          การพูดถึงความเหลื่อมล้ำครั้งล่าสุดนี้ มาพร้อมๆ กับแรงกดดันที่กำลังถาโถมสู่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ซึ่งถูกมองว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเดินเครื่องจักรถักทอความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน เช่นที่ได้พูดถึงกลุ่มทุนผูดขาดเพียงไม่กี่ตระกูล ซึ่งข้อมูลของสำนักวิจัยแห่งหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ปี 2561 คนไทยที่รวยที่สุด 5% ของประเทศ ถือครองทรัพย์สินที่มีทั้งหมดในประเทศถึง 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% ก็แบ่งกันถือในกลุ่มคนไทยที่เหลืออีก 95% โดยที่คนจำนวนหนึ่งไม่มีทรัพย์สินให้ถือครองเลย ดังนี้แล้ว ข้อเรียกร้องให้เกิดกระบวนการปฏิรูปประเทศ จึงพึงลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ มิเพียงเฉพาะเป็นวาทกรรมการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เพราะทุกๆ ความเหลื่อมล้ำ ล้วนนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องเร่งแก้ไขทั้งสิ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ