คอลัมนิสต์

"จ่าโคราช" ระบบอุปถัมภ์ในค่ายทหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จ่าโคราช" ระบบอุปถัมภ์ในค่ายทหาร คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนาง บางปะกง 

 

 

          เป็นคืนเพ็ญสีเลือดที่ชาวโคราชต้องจดจำไปอีกนาน กรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ก่อเหตุสะเทือนขวัญยิงคู่อริเสียชีวิต ก่อนที่จะขับรถฮัมวีออกจากค่ายทหารมายังห้างสรรพสินค้าย่านใจกลางเมืองนครราชสีมา ใช้อาวุธปืนกราดยิงประชาชนเจ็บตายมากมาย

 


          ปมแค้นของ “จ่าคลั่ง” คนนี้ตามรายงานข่าวว่า มีมูลเหตุมาจากโครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพัก เพื่อขายให้บรรดาทหาร ซึ่งโครงการนี้มีนายหน้าเป็นตัวกลางทำหน้าที่ขายและจดจำนองให้ลูกค้า แต่เคลียร์ผลประโยชน์ไม่จบจึงเกิดโศกนาฏกรรม 


          อย่างไรก็ตามความไม่ชอบมาพากลเรื่องนายหน้าค้าขายที่ดินเป็นเหตุปัจจัยภายนอก แต่เรื่องสุขภาพจิต ปมลึกในใจของจ่าคลั่งก็เป็นเหตุปัจจัยภายใน


          ธุรกิจในค่ายทหารเป็นความสัมพันธ์กันระหว่าง “นาย” กับ “ลูกน้อง” คำว่า “นาย” กับ “ลูกน้อง” ไม่ได้มีเฉพาะกองทัพ หากกล่าวโดยรวมทั้งระบบราชการไทย อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องระบบอุปถัมภ์ว่า “ผู้อุปถัมภ์เป็นผู้ซึ่งมีฐานะทางสังคมสูง มีอำนาจ และบารมีทั้งในทางการเงินและการปกครองบริหาร ขณะเดียวกันบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะดังกล่าวก็จำต้องมีลูกน้องคอยประดับบารมี ตลอดทั้งคอยช่วยเหลือในการทำงาน ทำราชการ เพราะจะอยู่โดดเดี่ยวแต่ผู้เดียวไม่ได้”


          อาจารย์ลิขิตยังชี้ว่า "สภาวะดังกล่าวได้นำไปสู่ศิลปะแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ หรือที่เรียกว่าระหว่างนายกับลูกน้อง โดยฝ่ายที่เป็นผู้อ้ปถัมภ์จะต้องผูกใจลูกน้องได้ด้วยการมีใจนักเลง ถึงลูกถึงคน เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อลูกน้อง ทั้งในทางตำแหน่งหน้าที่ ในทางการเงิน”


          ดังที่รู้กันระบบราชการทหารเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ที่สูง อัตราความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานจะขึ้นอยู่กับ “ผู้ใหญ่” ของเหล่าทหารนั้นๆ 


          กล่าวเฉพาะกองทัพบกก็ขึ้นอยู่กับ “รุ่น” ที่จบจาก “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” หรือที่ภายในระบบของทหารเรียกว่า “ลำดับอาวุโส” มาโดยตลอด


          ปี 2558 เคยมีงานวิจัยเรื่อง “ความคิดเห็นต่อความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในกองพลทหารราบที่ 9” โดย นรินทร์ กุลธนาพงศ์, วัชรินทร์ ชาญศิลป์ และวัลลภ รัฐฉัตรานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนั้นคือ นายทหารประทวน และนายทหารสัญญาบัตร สังกัดกองพลทหารราบที่ 9 กาญจนบุรี

 

 


          ผลการวิจัยพบว่ามีความคิดเห็นต่อความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์อยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาในรายข้อพบว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่สูงที่สุดในเรื่อง “ไม่ขายเพื่อนคือข้อคิดในการทำงานที่ดี” และรองลงมาคือเรื่อง “บุญคุณต้องทดแทน" เป็นค่านิยมที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าควรกระทำต่อไป


          ตัวอย่างกรณีผลประโยชน์ที่ได้รับมักจะควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ส่วนตัว การออกฝึกหรือการทำภารกิจต่างๆ ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านภายในหน่วยทหารนั้น ผู้บังคับบัญชามีผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน การคัดเลือกนั้นขึ้นอยู่กับ “ความสนิทและความสัมพันธ์ส่วนตัว” คอร์รัปชั่นจึงมาจากความคิดของคนที่มองตัวเองว่า มีพันธะทางสังคมที่ต้องปฏิบัติต่อกัน


          ตัวอย่างกรณีที่มีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์น้อยที่สุดอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในการทำงาน การลงโทษ หรือการพิจารณาความดีความชอบจากผู้บังคับบัญชา แต่การใช้ระบบอุปถัมภ์มากเกินไปอาจทำให้เกิดความระส่ำระสาย เกิดการเสียขวัญกำลังใจในการทำงานของทหารที่อยู่นอกวงอุปถัมภ์


          มีการสรุปผลวิจัยในหัวข้อดังกล่าวข้างต้นดังนี้ 1.ระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรี ต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์มากกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป 


          2.สถาบันการศึกษาที่ไม่ใช่ของทหารจำเป็นต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในการทำงานมากกว่าผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษาของทหารโดยตรง 3.ชั้นยศที่ต่ำกว่าสัญญาบัตรต้องการผู้อุปถัมภ์เพื่อความก้าวหน้ามากว่าทหารสัญญาบัตร


          สรรพสิ่งมี 2 ด้าน ด้านบวกของระบบอุปถัมภ์ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีพี่ มีน้อง มีรุ่น มีเพื่อน แต่ด้านลบก็เป็นกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบของ “นาย” ที่มีต่อ “ลูกน้อง”


          อยากเห็นผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน หรือคนต่อไป ได้ตระหนักถึงระบบอุปถัมภ์ในค่ายทหารและเอาใจใส่ปมขัดแย้งนาย-ลูกน้อง อย่าปล่อยให้เกิด “จ่าคลั่ง” คนใหม่

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ