คอลัมนิสต์

เปิดเบื้องหลังคดีอื้อฉาว เลี่ยงภาษีช่วยลูก ทักษิณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเบื้องหลังคดีอื้อฉาว เลี่ยงภาษีช่วยลูก ทักษิณ

 

 


          หลังจากศาลฎีกาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินคุก 2 ปี นางเบญจา หลุยเจริญ และพวก ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น ทีมข่าวการเมืองคมชัดลึก ขอนำรายละเอียดเรื่องราวอันเป็นมหากาพย์แห่งการทุจริต มาให้ทราบโดยสังเขปดังนี้

 

 

          คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 หรือราว 14 ปีก่อน เมื่อ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เมื่อครั้งเป็นที่ปรึกษาบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถามกรมสรรพากรว่า ถ้าบริษัท แอมเพิลริชฯ ที่ครอบครองหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา จะเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องมีการคำนวณเสียภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ โดยนางเบญจา กับพวก ทำหนังสือตอบ น.ส.ปราณีว่า การกระทำดังกล่าวไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการเสียภาษี 


          ถัดจากนั้นมาประมาณ 4 เดือน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 บริษัท แอมเพิลริชฯ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ที่ 49.25 บาท ต่างกัน 48.25 บาท 


          หลังจากนั้นอีก 3 วัน นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมกันประมาณ 48.75% ของมูลค่าทั้งหมด ให้แก่กลุ่มเทมาเส็กในประเทศสิงคโปร์

 

          เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมือง นอกจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรแล้ว ยังส่งให้กองทัพยุค “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้นทำการยึดอำนาจนายทักษิณ ขณะที่ไปประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จากนั้นมีการนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาล

 

 



          ในการต่อสู้ในชั้นศาลมีรายละเอียดว่า นางเบญจา กับพวก มีหนังสือตอบกลับไปยังน.ส.ปราณี สรุปได้ว่า โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เมื่อครั้งที่ 23/2538 สรุปได้ว่า บริษัท แอมเพิลริชฯ จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติเวอร์จิ้นส์ มิได้มีสถานะในการประกอบธุรกิจและอนุสัญญาการเสียภาษีซ้ำซ้อนให้แก่ประเทศไทย จึงยังไม่ถือว่าเป็นบริษัทที่ทำการในไทย จึงไม่เข้าข่ายถูกบังคับให้เสียภาษี ส่วนเรื่องส่วนต่างในราคานั้นเป็นเรื่องของผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งเป็นเรื่องปกติทางการค้า ดังนั้นการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ไม่มีหน้าที่ในการเสียภาษี


          แต่ศาลเห็นแย้งว่าการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถือเป็นสินทรัพย์ครอบครองโดยบริษัท แอมเพิลริชฯ และนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นดังกล่าวเข้าข่ายจะต้องนำส่วนต่างราคามาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 


          นอกจากนี้พฤติการณ์ของน.ส.ปราณี ที่หารือเกี่ยวกับกรณีการงดเว้นไม่ต้องเสียภาษี แถมยังมีพฤติการณ์ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลของบริษัท แอมเพิลริชฯ ที่มีนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา เป็นผู้ถือหุ้น และเป็นกรรมการบริษัท เพื่อจะได้ไม่ต้องพิจารณาประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ นั่นจึงทำให้ข้อหารือของ น.ส.ปราณี เป็นไปโดยไม่สุจริต


          บทสรุปคือ ต้นเหตุของความเสียหายมาจากการตอบข้อหารือดังกล่าวของนางเบญจา กับพวก ทำให้นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจากการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท 


          ทั้งนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า นายพานทองแท้ ได้รับส่วนต่างจากราคาในการซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี 7,941,950,000 บาท น.ส.พินทองทา 7,941,950,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,883,900,000 บาท หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาทเศษ


          นี่จึงเป็นมหากาพย์แห่งการทุจริตที่เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ทำให้รัฐเสียหาย เป็นเงิน 7.9 พันล้านบาท


          สุดท้ายนางเบญจาและพวก ที่รับใช้นายทักษิณ ต้องเดินคอตกเข้าคุกรับกรรมที่ก่อกันเอาไว้ ขณะที่นายทักษิณ ยังเสวยสุขอยู่ในต่างประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ