คอลัมนิสต์

กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประชุมนัดแรกกมธ.แก้ไข รธน.พีระพันธุ์ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากกมธ.ซีกรัฐบาล นั่งประธานกมธ.ฯตามคาด..ก้าวต่อไปจับตาการวางหมากทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภา ของ กมธ.ชุดนี้

       หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร มติเป็นเอกฉันท์ ให้ตั้ง “ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ” เพื่อเป็นใบเบิกทางที่นำไปสู่การแก้ปมปัญหาที่กติกาใหญ่ของประเทศผูกเงื่อนไว้ ภายหลังได้รับความเห็นเอกฉันท์ จึงตั้งให้มีบุคคลจำนวน49 คนทำหน้าที่เป็น "หัวหมู่ทะลวงฟัน"
 

  กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

  ซึ่งแบ่งตามโควต้าแล้ว ซีกรัฐบาล คือ เสียงข้างมากของ“กมธ.” รวมยอดทั้งสิ้น 30 คน ขณะที่ซีกฝ่ายค้าน ยอดรวม 19 คน     ซึ่งในวันนี้ ( 24 ธันวาคม)  การประชุมนัดแรกได้เริ่มขึ้น  โดยวาระปกติ คือ ตั้งประธานกมธ.ฯ ซึ่งชื่อที่ถูกเสนอออกมาและได้รับแรงสนับสนุนจากกมธ.ซีกรัฐบาล คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ที่เพิ่งลาออกจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
ไปได้ไม่นาน และก็เป็นไปตามคาด พีระพันธุ์  ได้นั่งที่ปรึกษานายกฯ 

     ส่วนผลการตั้ง รองปธ.กมธ. หลังหารือนอกรอบกว่า 30 นาที ลงตัว ไพบูลย์ นิติตะวัน นั่ง รองปธ. กมธ. คนที่1 , วัฒนา เมืองสุข นั่งรองปธ.กมธ. คนที่2 , ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.อนค. นั่งรองปธ.คนที่3

กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

       ขณะที่กรอบการทำงานแนวทางที่นำไปสู่โรดแม็พนั้นเชื่อว่าจะถกเถียงถึงวิธีการด้วยเช่นกัน เพราะ กมธ.ฯ แต่ละฝ่าย
คงไม่ยอมที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือ "พิมพ์เขียว"ของฝั่งตนเองเป็นธงนำและชูเป็นโรดแม็พต้นแบบที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นี้อย่างแน่นอน

กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

    เพราะการคิดค้นแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แต่ละฝั่งมี อาจรวบรัดตัดตอน จนฝ่ายผู้มีอำนาจปัจจุบันถูกลดทอน และ
สูญเสียอำนาจกับการเตรียมการไว้
     สะท้อนให้เห็นในหลายปรากฎการณ์ทั้ง​โควต้า กมธ.ฯ​ ส่งอดีตผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
เข้าร่วม อาทิ “ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)” - “ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฏีกา อดีต
กรธ.” - “วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตที่ปรึกษากรธ.”

     ซึ่งรวมถึง “ไพบูลย์  นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ” อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดที่เคยมี
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ.ฯ

กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

    แน่นอนว่า  การนำ “กูรูด้านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” เข้ามานั่งกมธ.ฯ ส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นผู้อธิบายความ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตราที่อาจมีผู้เสนอให้แก้ไขบนความไม่เข้าใจในต้นสายปลายเหตุของบทบัญญัติ
    แต่บทบาทอีกส่วนที่อาจหมายถึงด้วย คือ ฐานะผู้โต้แย้ง หากจะมีใครเสนอทางลัดแบบล้ำเส้นหรือเกินกรอบของฝ่ายผู้มีอำนาจที่หวังรักษาอำนาจตามที่กลไกของรัฐธรรมนูญพ.ศ.  2560 ออกแบบไว้ให้

กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

      นอกจากนั้นการนำเข้ามาซึ่ง“คนนอก” ที่เป็นคนคุ้นเคยของรัฐบาลทั้ง “เสี่ยติ่ง” สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย -โกวิทย์ ธารณา สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ-“สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม” สื่อมวลชนนักเคลื่อนไหว -“ธนกร วังบุญคงชนะ
โฆษกพรรคพลังประชารัฐมาร่วม ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือการสะท้อนภาพของสร้างมวลชนนอกสภาฯที่พร้อมจะใช้งานเมื่อมีการเปิดเวทีสาธารณะฯ หรืออีกฝั่งใช้เกมนอกสภาฯเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์บางประการ

      ขณะที่กมธ. ซีกฝ่ายค้าน หากนับเป็นคะแนนต่อหัวเสียงจะน้อยกว่าฝั่งรัฐบาล แต่เชื่อว่าบทบาทในกมธ.ฯดีกรีจะไม่ด้อย
เพราะไล่เรียงตัวบุคคลที่เป็นนักกฎหมายชั้นหัวกะทิ ทั้งจากพรรคเพื่อไทย อาทิ  ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกฯอดีตอัยการสูงสุด -ชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานด้านกฎหมาย-โภคิน พลกุล
อดีตประธานรัฐสภา-พงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านพัฒนาการเมือง

กมธ.แก้รธน.วางหมาก ทั้งเกมในสภาฯ-นอกสภาฯ

       พรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ดีกรีอาจารย์สอนกฎหมาย - เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
     พรรคเสรีรวมไทย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือว่างานนี้ฝ่ายค้านเอาจริง

     เช่นเดียวกับการเดินงานนอกสภาฯ หากงานของกมธ.จะขยายไปสู่ภูมิภาคแบบสมานฉันท์ผ่านการตั้งเวที หรือเกิดการปะทะทางความคิดในกมธ. และด้วยเสียงที่น้อยกว่าและสู้ไม่ได้จึงมีชื่อ“ยงยุทธ ติยะไพรัช"แกนนำพรรคเพื่อชาติแต่มาในโควต้าของพรรคเพื่อไทย - “รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่มีบทบาทสำคัญคือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งมีมวลชน-นักเคลื่อนไหวอยู่พอตัว

      กับเกมที่ทั้ง 2 ฝั่ง มองกันออกและเตรียมงานที่เป็นงานเอาไว้ถือเป็นสิ่งสะท้อนภาพว่า แนวทางที่นำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการเปิดกว้างหลากหลายและไม่ถูกจำกัดไว้เพียงพิมพ์เขียว ที่ออกมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

    อย่างไรก็ดีในการอภิปรายสนับสนุนให้ตั้งกมธ.ฯ ของสภาฯหากสรุปเป็นสาระที่พอโฟกัสได้ คือ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางเดียวที่ถูกยกมาเสนอ คือ ปลดล็อค มาตรา 256 ที่ว่าด้วยเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเงื่อนล็อคที่สำคัญ
คือ
     1.ใช้เสียงความเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภาที่กติกากำหนดให้วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการของที่ประชุมรัฐสภา ต้องเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งและในคะแนนเห็นชอบที่ว่า มี “ส.ว.” เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน3 หรือ 84 เสียง จากส.ว.ทั้งหมด 250 คน

   และ 2. ในวาระที่สามขั้นเห็นชอบหรือไม่ที่ออกแบบให้ลงคะแนนด้วยการขานชื่ออย่างเปิดเผยกำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาคือ 750 คน คือ เกิน 375เสียงขึ้นไป ซึ่งใน 375 เสียงที่ว่า ต้องประกอบด้วย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ
ส.ส.​พรรคเล็ก ที่เข้าร่วมเป็นขั้วรัฐบาล ซึ่งไม่มีคนในพรรคตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20ของสมาชิกที่ว่านั้นรวมกันและมีเสียง ส.ว.เห็นชอบร่วมด้วยไม่น้อยกว่า  1 ใน 3 หรือ 84เสียงจากส.ว. 250 คน

    เพราะเงื่อนไขของเสียงเห็นชอบที่กำหนดและกำหนดคะแนนแบบตายตัว ส่วน “ส.ว.” นั้นเกินหลักการเสียงข้างมาก
ในระบบประชาธิปไตย

     ส่วนเงื่อนไขว่าด้วยการทำประชามติที่ขีดกรอบให้ก่อนการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขขึ้นทูลเกล้าถวายฯ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป, หมวด2พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญ
     หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่อำนาจของศาล องค์กรอิสระ หรือทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ต้องนำร่างแก้ไขไปออกเสียงประชามติ ว่าประชาชนจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ไม่มี ส.ส. ฝ่ายใดที่ติดใจเพราะต่างยอมรับในกฎที่ว่า “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” นั้นมาจากการทำประชามติและเพื่อรักษาความเรียบร้อย งดการโต้เถียงที่ใช้เสียงของมวลชนยกเป็นข้อต่อสู้

     และเมื่อดูภาพของการแก้ไขเพื่อปลดล็อคการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นมีเพียงเฉพาะเสียงของพรรคฝ่ายค้านและพรรคชาติไทยพัฒนาที่ดังชัดว่าต้องมีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านตัวแทนประชาชน ที่เรียกว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(ส.ส.ร.) 

       ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองยังไม่แสดงท่าทีต่อการเกิดของ ส.ส.ร.เท่าที่ควรมีเพียงมาตรการที่ต้องปลดล็อคเงื่อนไข
ว่าด้วยการใช้เสียงของส.ว.เท่านั้น กับประเด็นสำคัญที่อาจจะพอทำให้เกิดเป็นแนวทางต้นแบบ ที่ทุกฝ่ายของกมธ.และภาคสังคมเห็นร่วมกัน คือ การก้าวเข้ามามีบทบาทใน 2 ส่วน คือ ส่วนของภาควิชาการที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ อ.บวรศักดิ์ และฉบับอ.มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตกรธ.นั้นหลักวิชาการที่นำมาใช้ประกอบการศึกษา จะมาจากงานศึกษาและวิจัยของต่างประเทศ
และจากสถาบันพระปกเกล้า

     รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ผ่านการบังคับใช้ 2 ปี สถาบันพระปกเกล้า ฐานะองค์กรวิจัยและองค์กรวิชาการภายใต้ร่มของรัฐสภายังไม่ได้ทันได้ศึกษารายละเอียดทั้งฉบับ มีเพียงการศึกษาเป็นรายประเด็น เช่น การเลือกตั้งตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม,องค์กรอิสระ,สิทธิเสรีภาพ แต่พร้อมสนับสนุนในแง่วิชาการข้อมูล ผลการศึกษาต่างๆ ที่จะนำไปเป็นข้อมูล การออกความเห็นของกมธ.ฯฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง เช่น แนวทางการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ข้อดี ข้อเสีย และนำประสบการณ์จากต่างประเทศให้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการหาแนวทาง ที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่าย
ยอมรับมากที่สุด ทั้งการแก้ไขผ่านคณะบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญ หรือ บุคคลที่อยู่นอกวงโคจรของกลุ่มการเมือง

    แต่ในโมเดลที่ถูกระบุถึงคือ “ส.ส.ร.” เชื่อว่ายังไม่ใช่คำตอบของบทสรุปครั้งนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ