
อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน
อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ
นับตั้งแต่การประกาศแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยโมเดล BCG (Bio, Circular, Green Economy) ของรัฐบาลไทยเมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งสถานศึกษาต่างๆ ได้ร่วมมือกันคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ เพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดล BCG ของประเทศไทย แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตรและอาหาร ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ และด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้เป็นไปแนวทางชีวภาพ หมุนเวียนทรัพยากร
“การกลั่นทางเคมีชีวภาพหรือที่เรียกว่า Biorefinery เป็นกระบวนการที่คล้ายกับการกลั่นปิโตรเลียมที่ทำให้ได้พลังงานและสารปิโตรเคมีพื้นฐานแต่เป็นการนำพืชมาสกัดเพื่อพลังงานในรูปเอทานอล และเคมีชีวภาพเบื้องต้นในรูปของวงแหวนน้ำตาลที่จะนำไปสู่ชีวเคมีภัณฑ์ หรือโพลิเมอร์ พลาสติกต่างๆ” ศ.ดร.สุวบุญ กล่าว
แนวทางการพัฒนาพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพเริ่มต้นตั้งแต่ในปี 2548 ที่วิทยาลัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลาสติกสู่การเขียนแผนพัฒนาพลาสติกชีวภาพแตกสลายได้หรือที่เรียกว่า “พลาสติกชีวภาพ” ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยให้แก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
“เป็นการวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มของชีวมวล ยกตัวอย่างเช่น มีอ้อย 1 กิโลกรัมจะขายได้เงินแค่ 3 บาท แต่ถ้านำไปสกัดเป็นน้ำตาลจะได้ 20 บาท แต่ถ้านำไปแปลงเป็นชีวเคมีภัณฑ์ประเภทต่างๆ จะนำไปสู่มูลค่าเพิ่มระดับพันบาทต่อกิโลกรัมได้”
ขณะนี้วิทยาลัยได้ร่วมงานกับองค์กรในประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงโครงการนำร่องที่จะตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มประเทศยุโรป แล้วจะประมวลเป็นรายงานส่งมอบให้แก่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในขณะเดียวกันก็ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศเนเธอร์แลนด์เร่งพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่ ทดแทน Single Use Plastic หรือที่เรียกว่าพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง รวมถึงการพัฒนาโพลิเมอร์ชั้นสูงที่มีคุณสมบัติพิเศษเช่น โพลิเมอร์ดูดน้ำ โพลิเมอร์ที่ตอบสนองแสงได้ หรือต่อความเป็นกรด-ด่าง นอกเหนือจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้
“ขณะนี้นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพมาถึงระดับผลิตภัณฑ์แล้ว ซึ่งเราจะเห็นผลิตภัณฑ์จำพวกถุง แผ่นฟิล์ม จาน ถาด ช้อนส้อม ตะเกียบ เราพยายามสร้างนวัตกรรมจากเคมีชีวภัณฑ์ชนิดต่างๆ” ศ.ดร.สุวบุญ กล่าว
ความมุ่งมั่นขณะนี้คือความพยายามพัฒนาชีวมวล (Biomass) ให้เป็นวัสดุในระดับที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานทางเคมีนานาชนิดเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของการผลิตพลาสติกในระดับอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคทั่วไป
อย่างไรก็ตามความท้าทายในการพัฒนาไปสู่ระดับการใช้งานจริงนั้นคือการลดต้นทุน
“สิ่งที่ต้องทำต่อคือการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ซึ่งผลิตจากเคมีชีวภาพยังมีราคาสูงกว่าพลาสติกปิโตรเคมี ทั่วไป 3-5 เท่า และคุณภาพโดยเฉพาะความเหนียวก็ยังสู้ไม่ได้ แต่เราเล็งเห็นว่าไทยมีอุตสาหกรรมแป้งที่เข้มแข็ง ก็มีแนวคิดว่าอาจจะต้องเติมแป้งลงในพลาสติกเพื่อให้ราคาลดลง พัฒนาแป้งให้มีความเหนียวมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกัน”
ศ.ดร.สุวบุญ ย้ำว่า ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วและการตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนา Biorefinery จากชีวมวลที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ที่ครอบคลุมถึงเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพด้วยตามนโยบายของรัฐด้วย
“เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะต้องมีโครงการที่ชี้แนวทางในอนาคต และมีความชัดเจน ซึ่งจะตอบโจทย์การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น วิทยาลัยปิโตรเลียมและเคมีจึงมีพันธกิจที่จะต้องสร้างแนวทางต้นแบบการใช้พลังงานชีวภาพ พลังงานแบบหมุนเวียน รวมถึงตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ เพื่อให้โครงการ BCG เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” ศ.ดร.สุวบุญ ทิ้งท้าย