
กระทงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิที่ถูกละเมิด
โดย... รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่มีการกล่าวถึงและได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากคือกรณีเด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ปี อยากหารายได้พิเศษเพื่อเป็นทุนการศึกษาโดยการรับประดิษฐ์กระทงอาหารปลา ซึ่งมีใบหน้าลายการ์ตูนแล้วประกาศขายผ่านทางโลกออนไลน์ แต่กลับถูกจับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยถูกกล่าวหาว่าลายการ์ตูนดังกล่าวหน้าตาคล้ายกับการ์ตูน “ริลัคคุมะ” จากประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่กล่าวอ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากตัวแทนลิขสิทธิ์จำหน่ายสินค้าของประเทศญี่ปุ่นจึงมีการร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีกับเด็กนักเรียนหญิงคนดังกล่าว โดยเรียกค่าเสียหายเป็นค่าละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 50,000 บาท ก่อนที่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนจะเจรจาต่อรองเพื่อยอมความโดยยินยอมชำระเงินจำนวน 5,000 บาท
หลังจากที่กรณีดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ดูเหมือนว่าเรื่องจะกลับตาลปัตร กลับกลายเป็นว่าผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง เพราะเป็นการล่อซื้อกระทง และการรับมอบอำนาจดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นการรับมอบอำนาจที่ถูกต้องจากตัวแทนลิขสิทธิ์
นอกจากนี้กระทงของเด็กนักเรียนหญิงที่ทำจำหน่ายก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะหน้าตาไม่เหมือนตัวการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น
กรณีที่เกิดขึ้นคงสะท้อนประเด็นปัญหาในสังคมไทยทั้งในแง่ของสิทธิขั้นพื้นฐาน และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้มีการกล่าวถึงหน่วยงานของรัฐว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
หากพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็จะพบว่าการทำกระทงของเด็กนักเรียนหญิงเป็นสิทธิที่ได้ควรรับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สามารถจะทำได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้การทำกระทงดังกล่าวควรจะพิจารณาว่าเป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์และช่วยกันรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ใช้กระทงที่ทำจากโฟม ซึ่งเป็นปัญหาทั้งต่อการย่อยสลายและขัดขวางการระบายน้ำ
ดังนั้นเด็กนักเรียนจะถูกกล่าวหาว่ากระทงที่จัดทำเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และถูกแจ้งความดำเนินคดี การสอบสวนคงต้องดำเนินการให้ปรากฏข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด ตามบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามหลัก นิติรัฐ (Legal State) นิติธรรม (Rule of Law)
แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวดูเสมือนว่าตำรวจรับฟังข้อมูลจากผู้กล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายมากกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียด
จากข้อมูลของ The World Justice Project (WJP) ซึ่งเป็นชุดรายงานประจำปีที่ใช้วัดหลักนิติธรรมในหลายประเทศทั่วโลก โดยวัดจากประสบการณ์และการรับรู้ของสาธารณชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ จากข้อมูลปีล่าสุดมีการสำรวจหลักนิติธรรมโดยเก็บข้อมูลมากกว่า 120,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญอีก 3,800 คน พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 126 ประเทศ ขณะที่ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในลำดับที่ 80 (สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย 2562)
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกให้ความสำคัญคือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Police discretion) เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม เพื่อความสงบสุขของสังคม การใช้ดุลพินิจของตำรวจโดยทั่วไปแล้วขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1.องค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายทั้งการสืบสวน สอบสวน และจับกุม (Body of Knowledge)
2.คุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ (Police morality and ethics)
3.วัฒนธรรมตำรวจ (Police culture)
4.ความซื่อสัตย์ต่อตนเองของตำรวจ (Police integrity)
5.การปฏิบัติที่เป็นมืออาชีพ (Professional conduct)
6.บรรทัดฐานของสังคม (Social norms)
หากพิจารณาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวถึงอยู่เสมอในเรื่องของการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม เพราะหากการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความสุจริต เที่ยงธรรม ย่อมนำมาซึ่งความไม่สงบสุขในสังคม
ดังจะเห็นได้จากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจหลายชุดที่ถูกจัดตั้งขึ้นในแต่ละช่วงเวลา แต่ละยุค แต่ละสมัย และในแต่ละรัฐบาลที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่คณะกรรมการที่ถูกจัดตั้งขึ้นเหล่านั้นก็มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบงานตำรวจเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน แต่อาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน หากพิจารณาแล้วพบว่าจำนวนคณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งขึ้นมาก็น่าจะมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่เคยจัดตั้งขึ้นมาในประเทศในแถบทวีปอเมริกา ยุโรป หรือประเทศในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น และสิงคโปร์
แนวคิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อความเท่าเทียมกันของคนในสังคมได้ปรากฏอยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2558-2564) นโยบายรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)
โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา” และได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าต้องการเพิ่มศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาและการให้บริการประชาชนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม
แต่อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อกรณีกระทงที่ละเมิดลิขสิทธิ์อาจจะยังคงสะท้อนให้เห็นวังวนของปัญหาทั้งการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวคิดการพัฒนาระบบงานตำรวจที่ดูเหมือนเป็นนามธรรม หรืออยู่แค่ในบทสรุปข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจในแต่ละชุด แต่ในทางปฏิบัติคงจะต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ถึงแม้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ด้วยเหตุผล และปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่แนวคิดเหล่านี้ก็ควรจะถ่ายทอดสู่ข้าราชการตำรวจทั้งระดับผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมในสถาบันการศึกษา และสถาบันฝึกอบรมของตำรวจในแต่ละภูมิภาคทั้งในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และศูนย์ฝึกอบรมต่างๆ ทั่วประเทศ
ในทางกลับกันผู้บังคับใช้กฎหมายก็อาจจะยังคงประสบปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละกรณี เช่น สถานภาพของคนในสังคม ความกดดันจากผู้มีอำนาจ และอิทธิพลทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยที่แตกต่างกันเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ส่งผลต่อความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย
แต่กระนั้นก็ตามหากผู้บังคับใช้กฎหมายเองยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือยังคงไม่มีความชัดเจน มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การทำงานโดยเฉพาะการแต่งตั้ง โยกย้าย ปรับเปลี่ยนสายงาน ย่อมส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของผู้บังคับใช้กฎหมายในฐานะผู้ปฏิบัติงาน
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
กรณีกระทงที่ละเมิดลิขสิทธิ์คงไม่ใช่เป็นกรณีแรกและกรณีสุดท้ายที่สะท้อนถึงความยุติธรรมของการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนรับรู้ ตระหนัก แต่ดูเหมือนเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาดังกล่าว เปรียบเสมือนสำนวนที่กล่าวว่า “Elephant in the room” หรือ “ช้างที่อยู่ในห้อง” คำตอบคงจะขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจและกลไกที่จะพัฒนาระบบงานตำรวจ เพราะท้ายที่สุด ผลลัพธ์ก็จะตกอยู่ที่ประชาชนซึ่งมีสิทธิจะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันของสถานภาพทางสังคม
..................................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส่อง 5 ข้อสำคัญตอกฝาโลงแก๊งตบทรัพย์ลิขสิทธิ์