คอลัมนิสต์

กรณีกระทง-อย่าหลงทาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2562

 

 

 

          กรณีการจับกุมคุมขังเด็กอายุ 15 ปี ในข้อหาขายกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้แนวโน้มคดีค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเป็นกรณี “ตบทรัพย์” เสียมากกว่า นับเป็นเรื่องที่ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหลายประเด็นด้วยกัน อย่างแรกคือ วิธีการล่อซื้อกับล่อให้กระทำความผิด ซึ่งสำนักอัยการสูงสุด เคยมีหนังสือเวียนที่ อส.0007 (ปผ)/ ว 154 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เรื่องแนวทางการพิจารณาข้อแตกต่างของการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด สาระสำคัญคือการล่อซื้อเป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีผู้กระทำผิด ที่มีพฤติการณ์และเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว การส่งสายลับไปล่อซื้อจับกุมเป็นเพียงวิธีพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่ใช่ก่อให้จำเลยกระทำความผิด พยานหลักฐานที่ได้มาจึงชอบด้วยกฎหมาย

 


          สำหรับกรณีตามคำให้การของเด็กที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่บอกว่าผู้อ้างว่าล่อซื้อ จ้างให้ผลิตกระทงมีภาพการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์นั้น ถือว่าเป็นพฤติกรรมล่อให้กระทำความผิด ซึ่ง ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำ สำนักงานอัยการสูงสุดยกประเด็นคำพิพากษาศาลฎีกาชี้ให้เห็นว่า เป็นการล่อให้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำความผิดแต่แรกให้ลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้ พยานหลักฐานที่ได้มาจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย


          ประเด็นต่อมาก็คือ การประกอบกิจกรรมนอกลู่ของบุคคลสองกลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่บางนายและบุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งมีความจริงในเวลาต่อมาว่าพวกเขาจัดอยู่ในจำพวกนักบิน ผู้ตกงานเพราะสิ้นสุดสัญญาการจ้างกับบริษัท แต่ก็ยังออกเดินสายปฏิบัติการ “ล่อให้กระทำความผิด” โดยมีเจ้าหน้าที่บางคนให้ความร่วมมือ จะโดยถูกหลอกลวงหรือว่าสมรู้ร่วมคิดก็แล้วแต่ กรณีนี้หน่วยงานต้นสังกัดต้องสอบสวนให้ถึงที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องลักษณะเดียวกันอีก ไม่เฉพาะแต่การละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น หากแต่พฤติกรรมในหลากหลายรูปแบบของบรรดานักบิน หากยังดำรงอยู่ก็จะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ไม่รู้จบสิ้น ขณะเดียวกันการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนก็ควรจะต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 

 

 

 

          สังคมทุกวันนี้การค้าขายหรือทำธุรกิจทางออนไลน์เกิดขึ้นมากมายราวดอกเห็ดเพราะเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ได้ในหลากหลายมิติ ซึ่งในด้านมืดก็เปิดทางให้เหล่ามิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือล่อลวง กรรโชกทรัพย์ จนเกิดคดีขึ้นแทบไม่เว้นวัน ประชาชนและผู้ทำมาค้าขายทางอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องกฎหมายให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของอาชญากรที่แฝงตัวเข้ามาล่าเหยื่อ ขณะที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็พึงเอาใจใส่กับสิทธิของประชาชนและข้อปฏิบัติที่จะปกปักษ์พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ดีที่สุด ดังเช่น แนวทางที่สำนักงานอัยการสูงสุดเคยแยกแยะให้เห็นแล้วว่า การล่อซื้อกับล่อให้กระทำความผิดนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญก็คือเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่หลงทางตกเป็นเครื่องมือมิจฉาชีพเสียเอง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ