คอลัมนิสต์

หวั่นเมกะโปรเจกท์ ท่อส่งน้ำมันสู่อีสาน ละเมิดสิทธิชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หวั่นเมกะโปรเจกท์ ท่อส่งน้ำมันสู่อีสาน ละเมิดสิทธิชุมชน โดย... กวินทรา ใจซื่อ   ภาพ...  พรพรรณ เพ็ชรแสน


 

 

          หลังจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนโยบายขยายท่อส่งน้ำมันไปยังภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่ง กระทรวงพลังงานจึงเห็นชอบให้ดำเนิน โครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน

 

 

          โครงการนี้ประกอบด้วยการวางระบบท่อขนส่งน้ำมันระยะทาง 350 กิโลเมตร ท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 นิ้ว ขีดความสามารถส่งน้ำมันวันละ 10 ล้านลิตร หรือปีละ 4,500 ล้านลิตร ผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด 21 อำเภอ 67 ตำบล มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณคลังน้ำมันของ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) ที่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี สิ้นสุดที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งที่ อ.บ้านไผ่ จะก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทาง ขนาด 140 ล้านลิตร ในพื้นที่ภาคอีสาน จุดเริ่มอยู่ที่ อ.สีคิ้ว อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แล้วเข้าสู่ จ.ชัยภูมิ ผ่าน อ.จัตุรัส อ.เนินสง่า อ.เมือง อ.คอนสวรรค์ และ อ.แก่งคร้อ มายัง จ.ขอนแก่น ท่อจะผ่านที่ อ.โคกโพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี อ.ชนบท แล้วสิ้นสุดที่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่


          เมื่อระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อแล้วเสร็จจะลดปริมาณการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกลงไปจำนวน 88,000 เที่ยวต่อปี คิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่งลงไปได้กว่า 15.4 ล้านลิตรต่อปี 


          ขณะที่ภาคเอกชนกลับแสดงความกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ?

 

 

 

หวั่นเมกะโปรเจกท์ ท่อส่งน้ำมันสู่อีสาน ละเมิดสิทธิชุมชน

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์

 


          ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตามมติ กพช. โดย กระทรวงพลังงาน เซ็นสัญญาให้บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN ในเครือ เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC กับ บริษัท ไชน่า ปิโตรเลียมไปป์ไลน์ บูโร จำกัด หรือ CPP ดำเนินโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่า 9,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

 



          ทวิสันต์ กล่าวว่า โครงการนี้มีแนวก่อสร้างผ่าน จ.นครราชสีมา 2 พื้นที่ คือ อ.สีคิ้ว และ อ.ด่านขุนทด แต่มีข้อสังเกต 2-3 ประเด็นจากภาคประชาสังคม คือ ทางบริษัทได้ประเมินอานาคตการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์จากน้ำมันไปเป็นระบบไฟฟ้ามากขึ้น และอาจส่งผลให้การลงทุนไม่คุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงเรื่องของความปลอดภัย และที่สำคัญ สัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน กระทรวงพลังงานต้องเปิดทำประชาคมในทุกตำบลที่แนวท่อพาดผ่าน เพื่อไม่ให้โครงการขนาดใหญ่ทิ้งปัญหาไว้ให้ประชาชน ขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ควรออกมาช่วยตั้งเวทีคุยให้ความรู้ประชาชน


          “ทางบริษัทได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่จากการเข้ารับฟังพบว่า ชาวบ้านแทบไม่มีความรู้ด้านนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีของโครงการเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยใช้มาก่อน จึงมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย หากเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทางบริษัทมีหลักประกันด้านความปลอดภัยหรือไม่ ประเด็นหลักๆ เหล่านี้ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ” ทวิสันต์ ตั้งข้อสังเกต

 

 

 

หวั่นเมกะโปรเจกท์ ท่อส่งน้ำมันสู่อีสาน ละเมิดสิทธิชุมชน

 


          สำหรับโครงการท่อส่งน้ำมัน เป็นโครงการพัฒนาที่จัดอยู่ในประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ให้บริษัท เอ็นทิค จำกัด บริษัทที่ปรึกษา เป็นผู้ศึกษา และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ด้วยการสำรวจเส้นทาง ออกแบบระบบทางวิศวกรรม และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 จากนั้นบริษัทได้นำมามอบให้นายอำเภอในพื้นที่ท่อผ่าน


          เมกะโปรเจกท์ซุ่มเงียบ
          วิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น บอกว่า หากให้ อ.บ้านไผ่ เป็นศูนย์กลางคลังน้ำมันภาคอีสาน การเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ จะอยู่ในระยะทางที่เท่าๆ กัน แต่จากการสอบถามข้อมูลจากกลุ่มนักธุรกิจ ทราบว่า บริษัท ช ทวี จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างคลังน้ำมันที่ อ.บ้านไผ่ ซึ่งมีการทำประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับทราบมา 2 ปีแล้ว แต่ขณะนี้กลับไม่มีใครทราบความคืบหน้าของโครงการเลย


          วิฑูรย์ ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ทำอยู่ในกลุ่มเล็กๆ กระทั่งมาทราบว่าโครงการเริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน ในขณะที่เจ้าของพื้นที่ยังไม่มีข้อมูลของโครงการที่ชัดเจนเลย

 

 

 

หวั่นเมกะโปรเจกท์ ท่อส่งน้ำมันสู่อีสาน ละเมิดสิทธิชุมชน

 


          “โดยส่วนตัวยังไม่เคยรับทราบข้อมูลว่าทางบริษัทเข้ามาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ หากเป็นประเด็นที่ทางโครงการอ้างว่าคนอีสานจะซื้อน้ำมันถูกลงนั้น ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวเลข แต่หากมองในประเด็นด้านการลงทุน เชื่อว่ามีความคุ้มค่าในระยะยาว และประเด็นที่เห็นได้ชัดและพอใจคือ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีการใช้งานได้จริง รถบรรทุกขนส่งน้ำมันจะหายไป ทำให้การจราจรคล่องตัว และลดอุบติเหตุจากการขนส่ง” นายวิฑูรย์ กล่าว


          นักพัฒนาหวั่นส่งผลกระทบจราจร
          จรูญพิศ มูลสาร เครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมแก่งละว้า ระบุว่า ที่ผ่านมาการเข้ามาก่อสร้างคลังน้ำมันที่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ ชาวบ้านไม่ค่อยรู้ความเคลื่อนไหวมากนัก แต่มีการเชิญไปรับฟังความคิดเห็นหนึ่งครั้ง คนที่ไปร่วมแสดงความเห็นส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นำชุมชน แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ขณะนี้เริ่มมีการปรับพื้นที่ ถมที่เพื่อก่อสร้างแล้ว ทำให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนคือการถมดินขวางทางน้ำ โดยพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างคลังน้ำมัน ตั้งอยู่ริมฝั่งถนนสายบ้านไผ่-ชนบท ฝั่งซ้ายมือ บริเวณดังกล่าวจะมีลำห้วยอยู่ 2 ห้วยคือ ห้วยบ่อกระสินธุ์ หรือห้วยบ้านดู่ และห้วยขามเรียน บริเวณบ้านเมืองเพีย ซึ่งมีการถมดินสูงมาก และไม่เปิดช่องน้ำไหล เป็นการขวางทางน้ำเพราะพื้นที่ที่ก่อสร้างนี้เดิมเป็นพื้นที่รับน้ำ หากถมที่ขวางทางน้ำจะทำให้น้ำท่วมหนักกว่าปี 2562 นี้แน่นอน และทางกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้าเคยทำหนังสือท้วงติงเรื่องนี้ไปแล้วแต่ก็เงียบ


          “พื้นที่ก่อสร้างคลังน้ำมันมีประมาณ 200 ไร่ หลังก่อสร้างเสร็จคาดว่าจะเกิดปัญหาด้านจราจร เพราะในโครงการระบุว่าจะมีรถขนส่งน้ำมันเข้าออกประมาณ 300 คันต่อวัน และหากมีการเชื่อมเส้นทางการเดินรถขนส่งเข้าไปใน สปป.ลาว ได้แล้วจะมีรถขนส่งน้ำมันเพิ่มเป็น 600 คันต่อวัน หากรถเยอะขนาดนั้นชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดปัญหาด้านการจราจร อุบัติเหตุ รวมถึงคลังน้ำมันดังกล่าวอยู่ใกล้กับโรงเรียนนานาชาติด้วย ทางโรงเรียนก็ห่วงเรื่องมลพิษ ฝุ่น ควันพิษ และอุบัติเหตุการระเบิด การสูญเสียเหมือนกัน” จรูญพิศ ระบุ

 

 

 

หวั่นเมกะโปรเจกท์ ท่อส่งน้ำมันสู่อีสาน ละเมิดสิทธิชุมชน

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์

 


          จรูญพิศ กล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาการจราจร ฝุ่นและมลพิษแล้ว ยังห่วงเรื่อง การปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำ เพราะลำห้วยทั้งสองสายจะต้องไหลลงแก่งละว้า ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำดิบของพื้นที่และน้ำยังเอาไปผลิตน้ำประปาใช้อีกหลายหมู่บ้าน หากฝนตกน้ำล้างครบน้ำมัน คราบสกปรกในคลังน้ำมันลงไปกับลำน้ำก็จะไปไหลรวมที่แก่งละว้า จะเกิดการปนเปื้อนและคนเดือดร้อนคือชาวบ้าน ปลาจะตาย และเกิดปัญหาต่อระบบนิเวศแน่นอน สิ่งเหล่านี้อยากให้ทางโครงการออกมาดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหามลภาวะที่จะเกิดด้วย


          หวั่นละเมิดสิทธิ์ชาวบ้าน
          สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามนโยบายของรัฐมักมีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติที่ คือ ข้อมูลที่ให้แก่ชุมชนไม่ครบถ้วน รอบด้านพอสำหรับการตัดสินใจชองประชาชน และจะเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง เช่น ให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประกาศให้ผู้ที่อยู่ในแนวท่อผ่านนำสำเนาโฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน มาให้ผู้นำเพื่อรวบรวมหลักฐานเอาไปให้เจ้าหน้าที่โครงการเพื่อจ่ายค่าเวนคืนหรือค่ารอนสิทธิฯ ถ้าเริ่มแบบนี้จะเกิดความขัดแย้งหรือมีการต่อต้านทันที เพราะว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบเขาไม่ได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดก่อนริเริ่มโครงการ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญในประเด็นนี้ให้มาก เพราะถ้าหน่วยงานยังมองแบบเดิมคือ ฉันมีกฎหมาย สามารถทำได้ทุกอย่าง ใครขัดขวางการพัฒนาก็จะใช้กฎหมายจัดการ


          “ต้องยอมรับกันว่าอิทธิพลของจีนต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง มีปัญหามากในเรื่องที่ไม่สนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากผลประโยชน์ของตนเอง โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้อำนวยผลประโยชน์ให้และอ้างการพัฒนา ความมั่นคงด้านพลังงานตบตาประชาชน โดยเฉพาะบนเส้นทางหนองคายถึงโคราช จะมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และท่อน้ำมัน จะเริ่มดำเนินการปี 2563 ประเทศเราเองได้เตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้างต่อผลกระทบต่างๆ"


          สุวิทย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเปิดเวทีระดับภาคและระดับจังหวัดที่ท่อน้ำมันผ่าน เช่น จ.หนองคาย จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ก่อนจะมีการจัดเวทีรับฟังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต้องทำตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องมีการชี้แจงการเลือกแนวท่อผ่านแต่ละพื้นที่ มีแนวทางอย่างไร มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรบ้าง


          “เจ้าของโครงการต้องให้ข้อมูลก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะจะทำให้ชุมชนหรือบุคคลที่แนวท่อผ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อจะได้สร้างทางเลือกให้เขา เช่น ถ้ามีท่อผ่านที่ดิน เจ้าของที่ดินจะทำกินบนที่ดินได้หรือไม่ ระยะความกว้างแนวท่อกี่เมตร ท่อฝังลึกจากผิวดินเท่าไร ไม่ใช่มาจัดเวทีรับฟังในกระบวนการ EIA เลย โดยคนในชุมชนไม่พร้อมในเรื่องข้อมูล ชุมชนหรือบุคคลที่แนวท่อผ่าน จะได้รับค่าเวนคืน หรือค่ารอนสิทธิฯ อย่างไรบ้าง เช่น ต้นไม้ที่แนวท่อผ่านที่ต้องถูกตัดออกไป หรือค่าเสื่อมราคาของที่ดินที่แนวท่อผ่าน และอื่นๆ หรือจะมีการจ่ายเงินอย่างไร ครั้งเดียวจบหรือทยอยจ่าย รัฐบาลต้องชี้แจง และคำถามใหญ่ๆ คือโครงการนี้เป็นผลประโยชน์ของใคร ใครได้ใครเสีย และประชาชนผู้เสียสละต้องมีโอกาสที่ดีในอนาคต”


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ