คอลัมนิสต์

สิ้น ม.44 โซนนิ่งร้านเหล้าเอาไงต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ้น ม.44 โซนนิ่งร้านเหล้าเอาไงต่อ

 

 

 

          “ลันลาเบล” กับ “ปาร์ตี้มรณะ” ครองกระแส ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ หลายสัปดาห์ ตอนนี้แม้กระแสแผ่วลงแต่มีประเด็นสังคมต้องพูดถึงอยู่ 

 

          “ลันลาเบล” เป็นพริตตี้สายเอ็นเตอร์เทน แค่การกินเหล้ากับลูกค้า ในวงการสาย En ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นการทำงาน

 

 

          “ลันลาเบล” มีประสบการณ์รับงานนอกสถานที่มานานจึงรู้ว่าควรรับมือกับลูกค้าแต่ละประเภทอย่างไร แต่ปาร์ตี้ที่บ้านย่านบางบัวทอง เธอพลาดท่าถูกท้าชนเหล้าชนิด 10 รุม 1 แบบช็อตต่อช็อตจนร่วงหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด  หมอนิติเวชที่โรงพยาบาลระบุสาเหตุว่า “ดื่มสุราเยอะ” แต่ชาวบ้านใช้คำว่าถูก “มอมเหล้า”


          เมื่อคดีดังมีเรื่องเสพสิ่งมึนเมาเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นสาเหตุของการตาย สังคมจึงเริ่มพูดคุยถึงพิษภัยจากสุราหนาหูขึ้นเรื่อยๆ การประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน จึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษเพราะคาดหวังว่าบทเรียนจากการเสียชีวิตของ “ลันลาเบล” จะกระตุ้นให้เห็นความกระตือรือร้นในการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานราชการทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติมากกว่าที่เป็นอยู่


          การประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งนี้เป็นการประชุม ครั้งที่ 2/2562 มีหลายประเด็นที่หารือกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจเห็นมีอยู่ 2 ประเด็น คือ มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา และประเด็นข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถออกประกาศเพิ่มเติมมาตรา 30(6) เอาผิด การส่งเสริมการขายด้วยวิธีแข่งดื่มที่จัดในบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของกรณี “ลันลาเบล” ชนเหล้ากับลูกค้าอย่างหนักจนเสียชีวิต


          กระนั้นประเด็นการเอาผิดการส่งเสริมการขายด้วยวิธีแข่งดื่มที่จัดในบ้านนั้น ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาตราไหนเอาผิดได้ แต่ดูเหมือนว่าที่ประชุมจะรับไปพิจารณาต่อ ซึ่งก็คงหวังผลไม่ได้เร็วอย่างที่คิด

 




          นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อธิบายว่า ปกติการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีมาตรา 30(6) เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสามารถดำเนินการร่างอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องขึ้นมาได้ แต่ในส่วนของร้านค้าที่จัดทำโปรโมชั่น จะเข้าข่ายมาตรา 30(5) สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ ซึ่งปัจจุบันการบังคับใช้ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการยังไม่เอื้อในการบังคับใช้ภายในบ้าน ส่วนนี้จะให้อนุร่างฯ ไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


          “การจัดงานภายในบ้านจะเข้าข่ายเรื่องการตลาดหรือไม่นั้นอยู่ที่เจตนารมณ์ โดยกฎหมายระบุห้ามขายห้ามซื้อ หากเชิญชวนมาจัดสังสรรค์ และมีการขายบัตรเพื่อเข้าร่วมงาน ถือว่าเข้าข่ายการส่งเสริมการขาย หากแค่สังสรรค์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โดยวิธีการจะต้องดูตามเจตนารมณ์ รวมถึงกรณีสาวเชียร์เบียร์ และเหล้าเดินถือถาดเร่ขายแอลกอฮอล์ ถือว่าเข้าข่ายส่งเสริมการตลาดผิดกฎหมาย”


          *โซนนิ่งร้านเหล้ายาแรงหมดอายุ?
          ปัญหาเด็กแว้นและปัญหานักเรียนตีกันเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมที่ไม่มีรัฐบาลยุคไหน เอาอยู่! แม้กระทั่งรัฐบาล คสช.เองก็ไม่ได้รับความยำเกรงจากบรรดาเยาวชนเหล่านี้ 


          ปี 2558 ยังอยู่ในยุครัฐบาล คสช. การก่อเหตุตีกันของนักเรียนอาชีวะเกิดขึ้นถี่มาก เช่นเดียวกันการรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ของบรรดาวัยรุ่นบนท้องถนนได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้านจนสุดจะทนไหว 


          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่อง “มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ” 


          คำสั่ง คสช.ดังกล่าวดูเหมือนว่ามีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการแข่งรถของเด็กแว้นและนักเรียนนักเลงโดยตรง แต่ในรายละเอียดแล้วได้มีการออกคำสั่งพ่วงเกี่ยวกับการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เชื่อว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการก่อปัญหาของกลุ่มวัยรุ่นเข้าไว้ด้วยในข้อที่ 4 และ 6


          คำสั่งข้อ 4 เป็นมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการว่าด้วยการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และห้ามเปิดบริการเกินเวลา ซึ่งเป็นคำสั่งที่เคยมีอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการกำชับให้ทำตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เคร่งครัดมากขึ้น


          ส่วนคำสั่งข้อที่ 6 ห้ามมิให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ถือว่าเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดของรัฐบาล คสช. ที่นอกจากช่วยลดปัญหาการก่อเหตุของนักเรียน นักศึกษาแล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี


          มาตรการห้ามขายเหล้าใกล้สถานศึกษาและหอพักตามคำสั่ง คสช. ถือว่าจัดการได้ผลค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ในระยะ 2 ปีแรก ไม่เพียงร้านเหล้าและสถานบริการที่ตั้งอยู่ในรัศมี 300 เมตร รอบสถานศึกษาเท่านั้นที่ย้ายและปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ร้านเหล้าและสถานบริการที่อยู่ห่างออกไปแต่ยังอยู่ในรัศมีใกล้เคียงสถานศึกษาอีกหลายแห่งก็ต้องหลบไป เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดเจนว่า “ใกล้สถานศึกษา” นั้น มีระยะทางเท่าใด เพียงแต่ให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานเป็นผู้ชี้ขาด


          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษาจะประสบความสำเร็จด้านการลดลงของสถานประกอบการ ซึ่งจากการสำรวจของ ผศ.ศรีรัช ลอยสมุทร อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่าลดลงถึงร้อยละ 20-50 ในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันร้านเหล้ายังย้ายออกไปไกลสถานศึกษามากขึ้นในทุกพื้นที่ที่เฉลี่ยย้ายออกไปไกล 1 กิโลเมตร แต่ยังคงมีร้านในรัศมี 300 เมตรอยู่ในบางพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 31 และพบว่าการบังคับใช้กฎหมายในด้านการควบคุมแหล่งจําหน่ายในคําสั่งห้ามตั้งร้าน/ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใต้หรือใกล้หอพัก ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง โดยพบว่าในหลายพื้นที่ร้านเหล้าตั้งอยู่บริเวณหอพัก


          ขณะที่ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า กทม.มีเขตโซนนิ่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา จำนวน 1,026 โซน จากข้อมูลการลงพื้นที่ตรวจสถานบริการตั้งแต่ปี 2558-2562 จำนวน 1,261 แห่ง พบว่ามีสถานบริการที่ทำผิด 6 แห่ง โดยได้สั่งปิดกิจการเป็นเวลา 5 ปี ส่วนการตรวจสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ พบว่ามีความผิด และได้มีการสั่งปิดกิจการเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 56 แห่ง รวมเป็น 62 แห่ง 


          รองปลัดกทม.ระบุว่า  จากการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 กทม.ได้สำรวจสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา 15 แห่ง พบว่ามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559-2561 จาก 341 ร้าน เป็น 223 ร้าน


          จากผลการสำรวจดังกล่าวแม้ว่าการจัดโซนนิ่งร้านเหล้าใกล้สถานศึกษาและหอพักตาม ม.44 ของคสช. จะเห็นผลด้านจำนวนร้านที่ลดลง แต่จะเห็นว่ายังมีร้านเหล้าที่เปิดบริการใกล้สถานศึกษาในโซนนิ่ง และรัศมี 300 เมตรอยู่อีกจำนวนมาก


          ที่เป็นเช่นนี้เพราะช่องโหว่ของกฎหมายที่เกิดจาก หนังสือซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติตามคําสั่ง คสช. 22/2558 ที่ระบุว่า ร้านเดิมที่ได้รับใบอนุญาตยังสามารถขายต่อได้ แต่ห้ามให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ ทําให้ร้านเหล้าเดิมที่ยังอยู่ในรัศมี 300 เมตร ก็ยังสามารถอยู่ต่อได้ และเป็นสาเหตุทำให้มาตรการสกัดนักดื่มหน้าใหม่ (นักเรียน นักศึกษา) ไม่ประสบความสำเร็จ 


          ขณะที่ปัญหาอาชญากรรมที่มีองค์ประกอบจากการดื่มสุราในเด็กและเยาวชนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีเหตุการณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยย่านพระราม 7 ถูกนักเรียนอาชีวะนับสิบคนรุมทำร้ายใช้มีดแทงจนเสียชีวิตเมื่อกลางดึกวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา 


          มูลเหตุสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนั้น ตำรวจสอบสวนพบว่าเด็กอาชีวะที่ก่อเหตุมีทั้งปี 1 ถึงปี 3  กินเหล้าเมากันมาทุกคน ที่สำคัญร้านเหล้าที่นั่งกินก็อยู่ในเขตโซนนิ่งสถานศึกษา ทำให้เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยและนักศึกษาจากสถาบันในกรุงเทพฯ ต้องเข้าพบ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. จี้ให้จัดการกับสถานบริการและร้านเหล้าในพื้นที่โซนนิ่งทั่ว กทม.อย่างเด็ดขาด หลังจากถูกปล่อยปละละเลยมานาน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ฟังทนายเดชาพูดแล้วรู้เลย วิเคราะห์จุดอ่อนของคดีลัลลาเบล
-ไทม์ไลน์ ลัลลาเบล  ตายมีเงื่อนงำ..ใกล้จบแล้ว
-พบพิรุธหลายประเด็นปม 'ลัลลาเบล' อาจเข้าข่ายความผิด 3 ข้อหา
-เปิดโพสต์แฟนสาว 'น้ำอุ่น' ระบุ "ไม่รู้ว่าเขารับงานแบบนี้"

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ