คอลัมนิสต์

วงเสวนาวิชาการ ชี้ ต้นตอปัญหาบ้านเมือง ความไม่เป็นธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วงเสวนาวิชาการ จาก 6 ตุลาฯ ถึงวิกฤติการเมืองร่วมสมัย เทียบเคสรัฐประหาร-เหตุการณ์เดือนตุลาฯ-ความรุนแรงภาคใต้ เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหากไม่แก้ไขปัญหาต้นตอความเป็นธรรม

     เกศินี แตงเขียว  

     ธรรมศาสตร์ จัดรำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 “หมอเลี๊ยบ” เล่าย้อนเหตุการณ์สรุปบทเรียน 6 ข้อ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่อยู่ค้ำฟ้า ไม่ยึดติดหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ ฝันขอให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพความเห็น เลือกผู้บริหารประเทศได้ด้วยตัวเอง

       ขณะที่ 6 ตุลาฯ เป็นอีกวันหนึ่งที่ครบรอบเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ 2519 ครั้งที่มีนักศึกษาและวีรชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจทหารในการปกครอง จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมีนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเสียชีวิต

   

         วันนี้ ( 6 ต.ค.62) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งจัดให้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป บริเวณสวนประติมาประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ และการวางพวงมาลาดอกไม้ที่ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีทั้ง นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี๊ยบ สืบวงษ์ลี อดีตนักการเมืองและอดีตผู้นำนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และนักการเมืองปัจจุบัน อาทิ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. และผู้แทนองค์กรต่างๆ ร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

วงเสวนาวิชาการ ชี้ ต้นตอปัญหาบ้านเมือง ความไม่เป็นธรรม

     โดย “นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี๊ยบ สืบวงษ์ลี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยพรรคพลังประชาชน และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้ร่วมกิจกรรมในการปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ด้วย ซึ่งได้เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ว่า ยามสายวันที่ 6 ต.ค. 2519 เขายืนอยู่นอกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนิ่งงันไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามไม่ให้น้ำตาไหลออกมาเพราะไม่อยากให้เป็นเป้าสายตา ซึ่งเช้าตรู่วันนั้นเขาตกใจตื่นขึ้นจากที่นอนในหอพักแพทย์รามาธิบดี เพราะพี่ๆ ที่หอพักแพทย์ตะโกนบอกกันเรื่องเหตุนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

      โดยคืนวันที่ 5 ต.ค. เขาได้ออกจากที่ชุมนุม เพราะมีภารกิจต้องกลับมาที่ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ผมยังไม่สังหรณ์ใจว่าจะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่าอาจจะมีความรุนแรงระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดปี 2519 แม้จะรู้สึกแปลกไปบ้าง ที่คราวนี้น้ำเสียงของวิทยุยานเกราะแข็งกร้าว และหนังสือพิมพ์ดาวสยามปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ไม่ประสีประสา จึงคิดไม่ถึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า

วงเสวนาวิชาการ ชี้ ต้นตอปัญหาบ้านเมือง ความไม่เป็นธรรม

       พอเสร็จภารกิจด้วยความอ่อนล้าที่ตรากตรำมาหลายวันจึงไปค้างนอนกับพี่นักศึกษาแพทย์ที่หอพักแพทย์รามาธิบดี แล้วเมื่อตื่นขึ้นก็รีบนั่งรถเมล์จากรามาธิบดี มาถึงสนามหลวง ก็เห็นคนจำนวนนับร้อยคน มุงกันอยู่ริมสนามหลวงตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ เมื่อเขาเดินเข้าไปใกล้ แล้วต้องเบือนหน้าหนีเพราะมีร่างของ 2-3 คนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น มองไปไกลอีกเล็กน้อยก็เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง ขณะที่เขายืนอยู่สักพักแล้วก็รีบถอยออกมาจากตรงนั้นโดยไม่หันหลังกลับไปดูอีกเลย

     เวลา 15 นาที กลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่เขายังจำได้ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้ เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี กับภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้เขาเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล ความฝันแสนงามโลกใบที่สดใส และผู้คนที่รักสันติภาพอยู่ที่ไหนเล่า ฯลฯ

วงเสวนาวิชาการ ชี้ ต้นตอปัญหาบ้านเมือง ความไม่เป็นธรรม

       ซึ่งหลังจากที่ “นพ.สุรพงษ์” ได้เล่าย้อนเหตุการณ์แล้ว ก็ได้สรุปบทเรียนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ว่า 1.ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน 2.จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเรา คนอาจจำได้ในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ใส่ใจเลยสักนิดว่าใครทำ 3.ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆไม่หยุด ใครคิดเก่งก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ไม่ยึดติดหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ

วงเสวนาวิชาการ ชี้ ต้นตอปัญหาบ้านเมือง ความไม่เป็นธรรม

       4.ที่ถามว่าโลกพระศรีอารย์ (ศรีอาริย) เป็นไปได้จริงหรือ นักวิชาการบางคนบอกว่าประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เรามีการเมืองประชาธิปไตย มีเศรษฐกิจเสรี มีสังคมอุดมคติแล้ว มาวันนี้นักวิชาการบางคนกลับบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางอำนาจนิยม ประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังต้องการทฤษฎีแบบใหม่ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว แต่สำหรับตนไม่ว่าจะมีความพลิกผันเพียงใด ความฝันของตนยังคงง่ายเหมือนเดิมคือ ขอให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง

       5.สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่อยู่ค้ำฟ้า ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่งที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อมการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ คือเรื่องราวของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เริ่มต้นจากวันที่ 6 ม.ค.44 ด้วยปัจจัย 5 ประการที่สั่งสมมาทีละเล็กละน้อยจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

     6.สุภาษิตของทิเบตกล่าวว่า พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาถึงก่อน วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจจะหลับไปตลอดกาล วันนี้เราจึงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่ราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต

      นั่นคือ ส่วนหนึ่งที่ “นพ.สุรพงษ์” ซึ่งเคยร่วมรับรู้ในเหตุการณ์สำคัญ 6 ตุลาฯ 2519 ได้สะท้อนเรื่องราวและบทเรียนมาสู่การเรียนรู้ในปัจจุบัน

      ขณะที่ในการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ครั้งนี้ “สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ยังได้มีการมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย” ด้วย ซึ่งชื่อ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” นั้น เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งที่ได้เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ดังกล่าว และ ได้กลายเป็นตัวแทนของความรุนแรงในเหตุการณ์นั้น โดยปีนี้เป็นการจัดมอบรางวัลดังกล่าวครั้งแรกให้กับนักกิจกรรม ที่มีนายประภัสสร ทองสินธุ์ น้องชายของนายจารุงพษ์ เป็นผู้มอบรางวัล ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัล คือ “นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์” ฉายาที่เรียกกันติดปากว่า “จ่านิว” ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยเห็นว่ายืนหยัดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมแม้จะเผชิญเหตุการณ์อันตรายต่างๆ มามากมาย

       นอกจากนี้ในวาระครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) ม.ธรรมศาสตร์ ยังได้จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ จาก 6 ตุลาฯ 2519 ถึงวิกฤติการเมืองร่วมสมัย : สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน” ซึ่งในการเสวนามีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการสถานการณ์การละเมิดสิทธิจากการใช้กฎหมายดำเนินคดีช่วงที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557

      โดย “น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ” ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงข้อมูลการดำเนินคดีหลังจากที่ คสช. เคยมีคำสั่งเรียกให้รายงานตัว กระทั่งมีการฟ้องคดีพลเรือนบางส่วนในศาลทหารว่า จากสถิติที่ศูนย์ทนายความฯ รวบรวมไว้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 – 30 เม.ย.62 มีอย่างน้อย 929 ถูกเรียกไปรายงานตัวหรือปรับทัศนคติ , อย่างน้อย 572 คนที่ถูกข่มขู่ คุกคาม , มีกิจกรรมอย่างน้อย 353 กิจกรรมที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซง , อย่างน้อย 428 คนที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป , มี 121 คนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ถูกกล่าวหากระทำการยุยงปลุกปั่นฯ , มี 169 คนถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นเบื้องสูง) , มี 144 คนถูกดำเนินคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีพลเรือน 2,408 คนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

       ขณะที่เมื่อดูเปรียบเทียบเหตุการณ์รัฐประหาร คสช. ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กับสถานการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ 6 ตุลาฯ , เหตุการณ์ พฤษภาฯ 2535 และเหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ ช่วงปี 2553 ไปจนถึงความรุนแรงสามจังหวัดใต้ ส่วนตัวมองว่า มีเรื่องเดียวกันคือความรุนแรงโดยรัฐ โดยรูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ความรุนแรงต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมานั้นมีวัตถุประสงค์เดียวคือ ต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและชนชั้นนำ แสดงว่าที่ผ่านมา 40-50ปี ภาวะของอำนาจ และสมดุลอำนาจระหว่างฝั่งประชาชนกับชนชั้นนำ อาจจะยังไม่สมดุลจริง เราอาจจะยังไม่ได้อยู่กันแบบเสถียร ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นตลอดมา และอาจจะเกิดต่อไปอีกหากเรายังไม่สร้างสมดุลหรือมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง โดยหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ

         “ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่แค่จำนวน แต่เป็นจำนวนที่ถูกคัดเลือกมาแล้วว่าพวกนี้คือเป้าหมาย คือจะต้องหยุดพวกนี้ให้ได้ แต่คนที่เคลื่อนไหว คนที่ถูกข่มขู่คุกคาม คนที่ถูกไปเยี่ยมบ้าน คนที่เราไม่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้มีมากกว่านี้”

        ขณะที่ในการเสวนายังหยิบยกประเด็นการแก้ปัญหาสถานการณ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาวิพากษ์ด้วย โดย “น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร” อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งเคยติดตามทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจประเด็นหนึ่งว่า ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นตัวอย่างของความรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ความรุนแรงอันหนึ่งทำให้เกิดความรุนแรงอีกอันหนึ่ง ขณะเดียวกันความพยายามในการระงับความรุนแรงนั้นยังไปไม่ถึงไหน มันมีธรรมชาติของความพยายามที่บ่งบอกเราถึงทัศนะของผู้พยายามแก้ปัญหาซึ่งผูกโยงอยู่กับเรื่องประชาธิปไตยและเผด็จการอย่างชัดเจนมาก

    ปัญหาภาคใต้มีเยอะมากพูดกันคงไม่จบ โดยประมาณว่าช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มีมากกว่าหมื่นเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ใหญ่และเหตุการณ์เล็ก เช่น การยิง การถูกซ้อมจนตาย ความตายที่พิสดารและเป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นความตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ (ชาวปัตตานีที่เพิ่งเสียชีวิตเดือน ส.ค.62 ) ที่ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในความรู้สึกของคนในพื้นที่ภาคใต้เขาก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ยังไม่ได้รับการเยียวยาและการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอเรื่องความไม่ธรรม

      ทั้งนี้ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับกรณีที่มีผู้พิพากษาในศาลจังหวัดยะลาตัดสินใจใช้ปืนยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับมีแถลงการณ์ 25 หน้าที่อ้างชื่อผู้พิพากษาท่านนั้นออกมาบอกเล่าอ้างถึงความกดดันจากการถูกผู้พิพากษาผู้บังคับบัญชาการแทรกแซงตัดสินคดีฆาตกรรม 5 ศพในบันนังสตา จ.ยะลา           สำนวนหนึ่ง ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษามีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยว่า หลังจากที่ฟื้นขึ้นมาแล้วกลับมาสู่ระบบจะเป็นอย่างไร โดยเอกสาร 25 หน้าของนายคณากร เพียรชนะ บ่งบอกถึงข้อบกพร่องเกี่ยวกับระบบ บ่งบอกถึงการไม่สามารถใช้ระบบยุติธรรมเยียวยาได้ แล้วเราไปเยียวยาด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบกรณีแล้วกรณีเล่า ซึ่งคณะกรรมการต่างๆ ที่ถูกตั้งมาหลายๆ คณะ แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอขึ้นศาลผลลัพธ์ออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นกรณีทุ่งยางแดง เป็นต้น กรณีเหล่านี้ในที่สุดแล้วส่งผลกระทบต่อวิธีคิดของคนในพื้นที่ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และมันจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะ 1.ไม่มีการเยียวยา 2.ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอคือเรื่องความเป็นธรรม และความพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอนั้นความพยายามก็ยังไปไม่ถึงไหน

   จากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นรำลึกครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 นี้ ก็ถือเป็นอีกเวทีในการสร้างการเรียนรู้ผ่านการประมวลเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น ซึ่งในการจัดงาน ยังได้จัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวที่บันทึกในอดีต และสิ่งของที่เคยมีอยู่ในอดีตมาจัดแสดงให้ดูด้วย

       โดยบันทึกประวัติศาสตร์เหล่านี้แม้จะเป็นอดีตนานแล้ว แต่สามารถนำมาคิดทบทวนเพื่อเป็นทางแก้ไข ปรับปรุง ข้อบกพร่อง และพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน มั่นคง เป็นสุข ในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ