คอลัมนิสต์

หนี้ครัวเรือนต้องแก้ให้ถูกจุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2562

 

 

 

          ปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นหนามยอกอกรัฐบาลท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติของเศรษฐกิจโลก ความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ทำให้รัฐบาลไทยเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ พร้อมยืนยันเศรษฐกิจของไทยยังไม่อยู่ในภาวะถดถอย โดยมีการสั่งการหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ เพื่อให้เม็ดเงินไหลลงสู่ระบบอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อที่จะส่งผลทันไตรมาสสุดท้ายของปี แต่กลับมีปัญหาเพิ่มมาอย่างน่าตกใจเมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2562 พบหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ 78.7% สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส หรือ 2 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่ปี 2560

 


          และดูเหมือนจะน่าสนใจเมื่อตัวเลขในไตรมาส 2 จากรายงานเดียวกันระบุแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นระดับสูง 9.2% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งเเต่ไตรมาส 4/58 เป็นต้นมา ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ขยายตัว 7.8% และ 10.2% ชะลอลงจาก 9.1% และ 11.4% จากไตรมาสก่อน บทสรุปที่ได้มาหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ โดยหนี้ที่ต้องจับตา คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหนี้บัตรเครดิต และรถยนต์ มีเเนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนเเนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลง จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้มากขึ้น


          แม้ภาครัฐจะไม่กังวลกับตัวเลขดังกล่าว แต่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ที่ถือว่าน่าเป็นห่วงก็คือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่นับวันจะอยู่ในระดับที่ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการวิจัยเก็บข้อมูลของสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าขณะนี้ คนไทยเป็นหนี้เร็วมาก และมีมูลค่ามาก กระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มอายุ 30-35 ปี มากที่สุด สัดส่วน 68% และในจำนวนนี้ มีสัดส่วนหนี้เสียถึง 20% ซึ่งหนี้เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการลงทุน นำไปซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน หรือเป็นหนี้ที่เป็นการก่อร่างสร้างตัว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค เช่น นำเงินไปท่องเที่ยว ซื้อข้าวของต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร เห็นได้ชัดว่าเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นตัวฉุดไม่ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระทบต่อกำลังซื้อ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไม่เติบโตเท่าที่ควร


          ต้องยอมรับว่าตลอดการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลลุงตู่สมัยหนึ่งต่อเนื่องมาถึงสมัยที่สอง หลายปัจจัยกดดันให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถขยับไปข้างหน้าได้ และเมื่อปัญหาถูกทับถมขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนในชาติถ่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และยังถูกฝังรากลึกในพฤติกรรมของประชาชนในการก่อหนี้ที่ผิดพลาด การวางแผนการเงินที่ผิดพลาด ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงภาคประชาสังคม ต้องบูรณาการร่วมกันจัดระเบียบปัญหา เพื่อทำการแก้ไขอย่างจริงจังทั้งระบบ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ