คอลัมนิสต์

ค่าโง่มหากาพย์โฮปเวลล์ ยังไม่สุดทาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การขอรื้อฟื้น" คดีโฮปเวลล์" ในศาลปกครอง จะทำได้แค่ไหน กี่ครั้งกัน !?!?

        เกศินี แตงเขียว                                                                                                                                
        จากคดีมหากาพย์ “โฮปเวลล์” หมื่นล้าน แม้ผลการโต้แย้งคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตตุลาการ  "ศาลปกครองสูงสุด" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วเมื่อวันที่ 22 เม.ย.62 ให้ "กระทรวงคมนาคม" และ "การรถไฟแห่งประเทศไทย" หรือ รฟท.ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ลงวันที่ 30 ก.ย.51 ที่ให้หน่วยงานรัฐทั้ง 2 แห่ง คืนเงินค่าตอบแทน ให้กับ "บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด" ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในพื้นที่ กทม. จำนวน 11,888,749,800 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ
        โดยศาลปกครองสูงสุด ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฯ นั้น ให้เสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ผลคดีถึงที่สุด นั่นคือวันศาลปกครองสูงสุดอ่านคำตัดสินวันที่ 22 เม.ย.62 ก็เท่ากับหน่วยงานรัฐ จะต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้นภายในเดือน ต.ค.62 นี้ 

       แต่ฟากรัฐบาล ก็ได้ประชุมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งท้ายสุดกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มอบอำนาจให้อัยการสำนักงานคดีปกครอง ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 ที่ผ่านมา หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาถึงที่สุดในข้อพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตฯ มาแล้วร่วม 3 เดือน 
         โดยการยื่นคำขอให้ศาลหยิบยกคดีพิพาทที่มีคำตัดสินไปแล้ว ขึ้นพิจารณาใหม่นั้น จะทำได้ก็ต้องมีเหตุตามหลักเกณฑ์ มาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า “คู่กรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ฟ้อง หรือผู้ถูกฟ้องก็ดี หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกผลกระทบจากคดีนั้น อาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ ได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 
      (1)ศาลปกครอง ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติไปแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ 
     (2)คู่กรณีที่แท้จริง หรือบุคคลภายนอกที่มีผลกระทบ ไม่ได้ถูกเรียกเข้ามาร่วมดำเนินกระบวนพิจารณาคดี หรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรม ในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา 
    (3)มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม 
     (4)คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ได้ทำขึ้นโดยศาลรับฟังข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น  
       การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคู่กรณี หรือบุคคลภายนอกไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาคดีที่แล้วมาโดยมิใช่ความผิดของผู้นั้น 
      โดยการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ หรือมีคำสั่งใหม่ ต้องกระทำภายใน 90 วัน ตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าถึงเหตุที่อาจขอพิจารณาใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่มีศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาด”
       โดยคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท.นั้นได้ยกเหตุว่า 1.ศาลปกครองสูงสุด รับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด 2.มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์ ซึ่งหากได้พยานหลักฐานใหม่จะนำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไป 3.โต้แย้งเรื่องความสามารถในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ของ “บ.โฮปเวลล์ฯ” ขณะเข้าทำสัญญาพิพาท 4.การอ้างว่าที่ศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัย ในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี ถือว่าเป็นข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง “ศาลปกครองกลาง” ใช้เวลาพิจารณา ราวเดือนเศษ ก็เห็นว่า เหตุคำขอที่อ้างมานั้นยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) ประกอบวรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีใหม่  
         อ้าว!! เมื่อผลออกมาอย่างนี้แล้ว แปลว่าการขอพิจารณาคดีใหม่ คดีโฮปเวลล์สิ้นสุดแล้วหรือไม่...?

        หากดูจากบทบัญญัติ มาตรา 75 แม้จะไม่ได้กำหนดเรื่องการยื่นอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นในเรื่องดังกล่าวไว้ แต่เมื่อย้อนดู มาตรา 3 ในพระราชบัญญัติเดียวกัน ที่นิยาม ความหมาย ‘คำฟ้อง’ ก็หมายรวมถึงการมีคำขอให้พิจารณาใหม่ด้วย ดังนั้นเมื่อ ‘คำขอให้พิจารณาใหม่’ มีสถานะเป็นเสมือนคำฟ้องแล้ว การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับพิจารณาคดีใหม่ ก็สามารถทำได้ตามมาตรา 73 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไว้ว่า 
“ให้ยื่นอุทธรณ์ ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถ้าไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคดีนั้นเป็นที่สุด” ซึ่งในวรรคสอง ของมาตราดังกล่าวก็บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้ยื่นอุทธรณ์ได้ตามวรรคหนึ่งนั้นให้หมายความรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด” ประกอบกับ ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2543 ข้อ 49/1 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา...หรือคำสั่งอื่นใดซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ระหว่างพิจารณา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้น”
       นั่น!! คือคำตอบที่ว่า การขอพิจารณาคดีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคดีโฮปเวลล์ หรือคดีปกครองอื่น ไม่ได้จบข้้นตอนแค่การวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นนี้ โดยคู่ความยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้าน คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นได้ ถือเป็นโอกาสที่ 2 ตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย  แล้วถ้ามีการอุทธรณ์ตามขั้นตอน จนนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด 
 หากผลเป็นเช่นเดิม คือไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ผลจะถึงที่สุดเลยหรือไม่ ยังสามารถยื่นคำขอพิจารณาใหม่ได้อีก…?         คำตอบในข้อสงสัยนี้ คือ ไม่ว่าจะคดีโฮปเวลล์ หรือคดีปกครองทั่วไป เมื่อการจะยื่นคำขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เรื่องหลักเกณฑ์การยื่นคำขอพิจารณาใหม่แล้ว ซึ่งมีห้วงเวลาที่กฎหมายกำกับไว้ชัดเจน ในมาตรา 75 วรรคท้ายว่า “การยื่นคำขอพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ต้องกระทำภายใน 90 วัน นับแต่ที่ได้รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุที่จะขอได้ แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด” 
         ก็หมายความได้ว่า...หากตัดสินใจยื่นคำขอพิจารณาใหม่ โดยอาจจะมีเหตุเข้าตามหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งหมดที่กำหนดใน (1)(2)(3)(4) แล้ว ระยะเวลาที่ยื่นคำขอนั้น กฎหมายก็ยังกำหนดเวลาอีกช่วงไว้ด้วยว่า หากรับรู้ถึงเหตุที่อาจยื่นขอพิจารณาใหม่ได้ ก็ให้ยื่นภายใน 90 วัน แต่ก็ต้องไม่เกิน 5 ปีนับจากที่ศาลเคยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีนั้น ซึ่งเป็นการกำหนดช่วงเวลาสูงสุดไว้เพื่อไม่ให้เกิดความยืดเยื้อในคดี แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่ายื่นขอพิจารณาคดีใหม่ได้กี่ครั้ง ดังนั้นการยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ ในศาลปกครองนั้น อาจจะถือได้ว่ากฎหมายไม่ได้จำกัดจำนวนครั้งที่ยื่น แต่ขึ้นอยู่กับเหตุที่ยกขึ้นมาอ้าง ประกอบกับกรอบเวลาการยื่นเป็นสำคัญซึ่งต้องไม่เกินเวลาสูงสุด 5 ปี ใช่หรือไม่  
         แต่ถ้าการยื่นพิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรก ถูกตีตกไปด้วยคำวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุดแล้ว   การจะยกเหตุมายื่นคำขอพิจารณาใหม่ครั้งต่อไปอีก เหตุที่จะยกมาอ้างนั้นก็ต้องไม่ซ้ำเหตุเดิมที่ศาลวินิจฉัยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ 4 ข้อที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพื้นฐานนั้นคือ 
       (1) มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติไปแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จะหมายถึงพยานหลักฐานที่เพิ่งมี เพิ่งปรากฏ แบบที่เรียกว่าไม่เคยรับรู้ รับทราบมาก่อนในระหว่างกระบวนพิจารณาชั้นใดๆ ก็ตาม จนกระทั่งวันนี้ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ ไม่ใช่พยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วแต่ช้้นพิจารณาใดๆ กลับไม่ได้นำเสนอให้ครบถ้วนไม่ว่าจะด้วยจากเหตุปัญหาอุปสรรคใดก็ตาม แล้วมาอ้างว่าเพิ่งได้พบจึงนำเสนอมาขอให้พิจารณาใหม่ โดย 'พยานหลักฐานใหม่' ที่จะอ้างใน            ข้อ (1) นี้ นอกจากจะต้องเป็นสิ่งที่เพิ่งรู้ หรือเพิ่งได้มาแล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ หลักฐานใหม่นั้นจะต้องสำคัญพอที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เคยวินิจฉัยไว้ได้ด้วย ดังนั้นเกณฑ์ข้อนี้ จึงอาจไม่ง่ายนัก 
        (2) คู่กรณีที่แท้จริง หรือบุคคลภายนอกที่มีผลกระทบ ไม่ได้ถูกเรียกเข้ามาร่วมดำเนินกระบวนพิจารณาคดี หรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรม ในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา  
       (3) กรณีมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม คือการอ้างว่าศาลพิจารณาคดีผิดพลาด และจะทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม 
       (4) กรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยศาลรับฟังข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด แล้วต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมนั้นขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น 
         การยื่นคำร้องครั้งแรก มีข้ออ้างว่าอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน จึงอาจเป็นไปได้ว่าอาจจะมีพยานหลักฐานใหม่นอกจากที่เคยอ้างในครั้งแรกแล้ว  
         สุดท้าย คดีที่ผู้คนทั่วไป เรียกกันว่า 'ค่าโง่' นั้น จะลงเอยด้วยผลที่เปลี่ยนแปลงไปได้อีกหรือไม่ ต้องวัดใจกับการทำงานหนักของหน่วยงานฟากรัฐว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ที่น่าจะรับฟังได้อีกหรือไม่ แค่ไหน !?!? ก็จะต้องรวบรวมให้ได้ ในเวลาไม่เกิน 5 ปี จากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในคดีเดิมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะเมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่งแล้วว่า คำร้องตามที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ผู้ร้อง อ้างมาขอพิจารณา “คดีโฮปเวลล์” ใหม่ นั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ มาตรา 75 (1) (3) ซึ่งหากยังอยู่ในช่วงเวลาที่จะยื่นขอพิจารณาใหม่ได้ครั้งต่อไปอีก เหตุที่ยกมาอ้างนั้นต้องมีข้อเท็จจริงใหม่อย่างอื่น 
        ขณะที่เกิดคำถามต่อไปว่า...ถ้าเช่นนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ “กระทรวงคมนาคม” และ “รฟท.” ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ คืนเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้ “บ.โฮปเวลล์” นั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อใด...?  
        คำตอบนั้น...ต้องรอดูในช่วงเดือน ต.ค.62  ที่จะครบกำหนด 180 วัน ในการคืนเงินให้ “บ.โฮปเวลล์ฯ” ตามคำพิพากษาเดิมของคดีในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งฝ่ายผู้ชนะคดีสามารถบังคับคดีได้เนื่องจากผลคดีถึงที่สุดแล้วตามกระบวนการวินิจฉัยคดี ด้วยการยื่นขอให้ศาลไต่สวนกรณีที่ฝ่ายหน่วยงานรัฐ ยังไม่ปฏิบัติให้เสร็จตามคำพิพากษา ซึ่งกระบวนการบังคับนี้ถือว่าแยกจากกันชัดเจน กับส่วนที่หน่วยงานรัฐ ผู้แพ้คดี ขอพิจารณาคดีใหม่  
         หากหน่วยงานรัฐทั้ง 2 แห่งซึ่งต้องพิทักษ์สิทธิประโยชน์แห่งรัฐ จะต้องเลือกปฏิบัติตามสิทธิทางกฎหมายให้ครบถ้วนทุกมิติในการดำเนินคดีดังกล่าว คือใช้โอกาสในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยขอพิจารณาคดีใหม่ก็เดินหน้าไปในทางกลับกันฝ่ายเอกชน ก็ติดตามการบังคับคดีได้ตั้งแต่คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเสมือนทางคู่ขนาน ซึ่งกระบวนการร้องขอพิจารณาคดีใหม่ก็เป็นไปได้ที่ผลการวินิจฉัยนั้นอาจจะไม่ได้จบลง เพียงแค่ในเดือน ต.ค.62 นั่นหมายถึงอีกแค่ 2 เดือนนับจากนี้ โดยอาจเป็นได้ที่ฟากรัฐคงตรวจดูช่องทางกฎหมายทุกมิติ ถ้าเป็นเช่นนั้น “มหากาพย์โฮปเวลล์” ก็ต้องรอจนถึงสถานีปลายทางสุดท้ายอย่างแท้จริง เพราะตอนนี้ยังไม่สิ้นสุดทาง!!! 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ