คอลัมนิสต์

สตง.กับบทบาทตรวจการใช้เงินแผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  สมัชชา หุ่นสาระ

 

 

 

          “ประจักษ์ บุญยัง"  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแห่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงภารกิจในการนำทัพสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้เงินแผ่นดินในทาง มิชอบ

 

 

          บทบาทหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มีอะไร?


          บทบาทของสตง.มีลักษณะคล้ายเดิมเมื่อเทียบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 โดยสตง.ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล รวมไปถึงการจัดเก็บรายได้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณว่าเป็นไปโดยคุ้มค่า เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพหรือไม่

 

 

 

สตง.กับบทบาทตรวจการใช้เงินแผ่นดิน

 


          และยังไม่นับรวมถึงหน้าที่อันสำคัญในการตรวจสอบบัญชีภาครัฐซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ส่วนราชการต่างๆ ต้องส่งรายงานการเงินให้แก่สตง. เพื่อตรวจสอบและให้ความเห็นภายใน 180 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ท้าทายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างยิ่ง


          นอกจากนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 8 ยังได้กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถเสนอผลการตรวจสอบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงิน การคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน หากมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนกรรมการที่ลงคะแนน ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการการเลือกตั้งและประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะร่วมกันลงนามในหนังสือเพื่อแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ

 

 

 

สตง.กับบทบาทตรวจการใช้เงินแผ่นดิน

 



          พันธกิจใหม่ในสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ ให้รักษาวินัยการเงินและการคลังนั้นมีอะไรบ้าง?
          นอกจากภารกิจหลัก คืองานด้านการตรวจสอบแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้ส่วนราชการต่างๆ รักษาวินัยการเงินและการคลังของรัฐ ผ่านการให้คำแนะนำของสตง.อีกด้วย พันธกิจนี้จึงกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอันจะเป็นส่วนที่ช่วยลดการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่คุ้มค่า หรือไม่เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพได้ เพราะเราเชื่อว่าการป้องกันย่อมดีกว่าปล่อยให้เกิดผลเสียหายแก่ประเทศชาติแล้วจึงมาแก้ไขกัน


          ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าในหลายกรณีภาครัฐก็ยังไม่สามารถติดตามหรือเรียกให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตามที่คาดหมายไว้ได้ ดังนั้นการส่งเสริมและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้รักษาวินัยการเงินและการคลัง จึงกลายเป็นหมุดหมายของสตง.ในการที่จะก้าวไปให้ถึงเพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศดังที่ได้กล่าวไปแล้วรวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นจากต้นทางมากกว่าจะปล่อยให้ “วัวหายแล้วล้อมคอก” เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้น


          โดยหากหน่วยงานของรัฐแห่งใดมีข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในอํานาจการตรวจสอบของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็สามารถจะสอบถามมายังสตง.ได้ตลอดเวลา และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็จะดำเนินตอบข้อสอบถามดังกล่าวให้แก่หน่วยงานของรัฐทราบเป็นหนังสือโดยเร็วภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับข้อซักถามนั้น ทั้งนี้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561

 

 

สตง.กับบทบาทตรวจการใช้เงินแผ่นดิน

 


          ครั้งนี้ถือเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรกที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ จะทำหน้าที่เช่นใด?
          ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า การตรวจสอบของสตง. แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การตรวจสอบการเงิน (Financial Audit) การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน (Performance Audit) และการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) ซึ่งทุกลักษณะงานมีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าใจว่าผู้ร่างกฎหมายต้องการที่จะให้สตง. มุ่งเน้นด้านการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม


          โดยปกติ สตง. ก็จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีให้แก่รัฐสภาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ได้เน้นย้ำให้สตง.ต้องรายงานผลการปฏิบัติงานที่สำคัญทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับการที่ตนเองมีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานมาตลอดช่วงชีวิตการรับราชการ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นข้าราชการกลุ่มแรกๆ ที่ได้ร่วมกันบุกเบิกการตรวจสอบในลักษณะนี้ขึ้นในสตง.ก็ว่าได้ จึงมีโอกาสใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา มาประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบในลักษณะดังกล่าว


          ซึ่งโดยหลักการแล้วจะใช้เกณฑ์ที่เรียกกันว่า 3E คือ ประหยัด (Economy) ประสิทธิภาพ (Effectiveness) และประสิทธิผล (Efficiency) มาเป็นเกณฑ์วัดผลในการตรวจสอบ แต่ในปัจจุบันเกณฑ์ด้านความประหยัดจะถูกแทนที่ด้วยเกณฑ์ด้านความคุ้มค่า (Value for money) ซึ่งแทนที่จะมุ่งเน้นในเรื่องความประหยัดเพียงอย่างเดียว เราก็จะไปดูว่าหน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินไปแล้วมีความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียหรือไม่แทน ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบเพื่อช่วยให้ประเทศชาติใช้จ่ายเงินงบประมาณไปอย่างชาญฉลาด (Helping the nation spend wisely)

 

 

 

สตง.กับบทบาทตรวจการใช้เงินแผ่นดิน

 


          ภารกิจในระดับนานาชาติของสำนักงานมีอะไรบ้าง?
          เมื่อไม่นานมานี้เราได้รับโอกาสที่ล้ำค่าเป็นอย่างยิ่งและถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำสตง.ไทยไปสู่การเป็นองค์กรชั้นนำในระดับสากล โดยการที่เราได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะมนตรีขององค์การสถาบันตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board) โดยเมื่อได้รับเลือกเข้าไปแล้ว สตง.ไทยก็จะเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะคณะมนตรีเพื่อร่วมกับสตง.จากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละทวีปทั่วโลกในการกำหนดทิศทางการตรวจสอบภาครัฐในระดับสากลผ่านการบริหารงาน จัดทำนโยบาย กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐให้แก่สตง. หรือองค์กรในลักษณะเดียวกันนี้ซึ่งมีอยู่ทุกประเทศทั่วโลก


          นอกจากนี้การทำหน้าที่ดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรในลักษณะเดียวกันให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์แก่สตง.ไทยในการที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการตรวจสอบกับองค์กรตรวจสอบจากประเทศต่างๆ และจะนำไปสู่การพัฒนาการตรวจสอบของสตง.ไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน หน่วยงานราชการต่างๆ และในระดับนานาชาติอีกด้วย


          การทำงานของสตง.ที่ต้องการยกระดับสู่มาตรฐานสากล มีแนวทางใด?
          ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานต่างๆ สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและช่วยดูแลเงินของแผ่นดิน และบุคลากรของสตง. ต้องมีการปรับปรุงตัวเองให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ศึกษาหาความรู้และเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้กำหนดขึ้นโดยนำเอามาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดินสากลมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยด้วย


          ส่วนเรื่องที่สตง.ต้องการเพิ่มเติมหรือติดดาบในการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง?
          สิ่งสำคัญที่สุดที่สตง.ต้องการในปัจจุบันและกำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ก็คือระบบการจัดการฐานข้อมูล (Database Management System - DBMS) ที่ใช้ในการตรวจสอบให้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ซึ่งในอนาคต สตง. จึงอยากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเพื่อทำให้การตรวจสอบรวดเร็วและมีประสิทธิภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคดิจิทัล
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
"ประจักษ์ บุญยัง"นั่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ศรีสุวรรณ จี้ สตง. สอบเครื่องบินเจ๊ตบริการ บิ๊กป้อม
เปิดคำพิพากษาฎีกา"คุณหญิงเป็ด" อำพรางใช้งบ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ