คอลัมนิสต์

Nice Review แชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่ ไลค์กระจายออนไลน์ลวงโลก

Nice Review แชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่ ไลค์กระจายออนไลน์ลวงโลก

14 ส.ค. 2562

Nice Review แชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่ ไลค์กระจายออนไลน์ลวงโลก รายงาน...

 

 

          ดีเอสไอถึงกับเต้นถูกพวก Nice Review กระตุกหนวดอย่างแรง!

 

          เรื่องของเรื่องคือเมื่อไม่นานมานี้เครือข่ายธุรกิจ Nice Review รายหนึ่งนำตราสัญลักษณ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความแอบอ้างทำนองว่า  ดีเอสไอ ชี้ชัดธุรกิจ Nice review ไม่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ตามที่มีผู้ร้องเรียนผ่าน แอพพลิเคชั่นแชร์ลูกโซ่ ที่ดีเอสไอเปิดให้ประชาชนตรวจสอบและร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติหลอกลวงประชาชน

 

 

          ข้อความเต็มๆ ที่เครือข่าย Nice Review แชร์กันว่อนในเฟซบุ๊ก ระบุตามนี้


          “ตามที่ท่านส่งเรื่องร้องเรียนแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่น แชร์ลูกโซ่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่ ศ.5/7/2019 12:44 เกี่ยวกับธุรกิจ Nice Review ที่อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษขอเรียนว่า กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริง ไม่อาจเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้ หากท่านได้รับความเสียหายทางอาญา แนะนำให้ท่านร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป”


          ชัดเจนว่าผู้แอบอ้างหวังสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจรับจ้าง คอมเมนต์ กดไลค์ กดแชร์ หรือที่เรียกว่า Nice Review บนเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์ทั้งหลาย หลังจากมีคนเข้าไปแสดงความเห็นและตั้งคำถามในเฟซบุ๊กของ Nice Review รายหนึ่งว่า เหตุใดบริษัทที่เปิดรับสมัครสมาชิกรับจ้างกดไลค์กดแชร์โฆษณาสินค้าต้องเก็บเงินค่าสมัครแรกเข้า (เงินประกัน) จากคนเหล่านี้ หรือว่าต้องการนำไปหมุนเวียนจ่ายเป็นค่าจ้างให้สมาชิกคนอื่นๆ  


          การเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกแรกเข้า หรือค่ามัดจำจากผู้ต้องการร่วมงานกับเครือข่ายธุรกิจ Nice Review เหล่านี้ ถูกสงสัยว่าอาจเข้าข่ายธุรกิจ แชร์ลูกโซ่ หรือไม่ หรืออาจเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง เหมือกรณีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตำรวจกองบังคับการปราบปรามตามรวบแก๊งกดไลค์โปรโมทเว็บไซต์ หลังมีผู้เสียหาย 17 คน ร้องเรียนว่าถูกหลอกให้ร่วมลงทุนโปรโมทเว็บไซต์กับ บริษัทแห่งหนึ่ง

 



          การหลอกลวงของบริษัทที่อ้างว่าทำธุรกิจรับจ้างกดไลค์แห่งนั้นใช้วิธีตั้งเงื่อนไขให้ผู้เสียหายต้องร่วมลงทุนขั้นต่ำคนละ 2 หมื่นบาท จะได้ 1 รหัส สำหรับกดไลค์โปรโมทได้ 1 ครั้ง และจะได้รับเงินค่าตอบแทนต่อการกดไลค์ครั้งละ 2,500 บาท 


          ช่วงแรกของการลงทุนรับงานผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนที่น่าพึงพอใจ แต่เมื่อทำไประยะหนึ่งกลับไม่ได้เงินตามกำหนดและขาดการติดต่อไป มูลค่าความเสียหายครั้งนั้นสูงถึง 22 ล้านบาท  


          แม้มีคำเตือนจากตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าปกติไม่มีอยู่จริงและควรตรวจสอบก่อนทุกครั้ง แต่ก็ยังมีเหยื่อถูกหลอกลงทุนในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา


          ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ เหยื่อสาวมีทั้งแม่บ้านและพนักงานบริษัทกว่า 300 คน พากันไปร้อง กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ว่าถูกหลอกให้รับงานแยกสีลูกปัด โดยต้องจ่ายค่าซื้ออุปกรณ์เองก่อน จากนั้นเมื่อส่งงานให้ผู้จ้างแล้วจะได้รับเงินคืนพร้อมค่าจ้างอย่างงาม แต่กว่าจะรู้ว่าถูกต้มก็ต้องสูญเงินไปแล้วรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดไม่ต่ำวก่า 3 ล้านบาท


          กรณีหลอกจ้างรับงานไปทำที่บ้าน เช่น แยกสีลูกปัด ยางรัดผม หรือพับกระดาษห่อเครป เหล่านี้เป็นเทคนิคเก่าๆ ที่มิจฉาชีพใช้มานาน และได้ผลอยู่เสมอกับคนที่ต้องการหารายได้เสริมในยุคที่ค่าครองชีพจี้ติดเงินเดือนเข้าไปทุกที


          ขณะที่ธุรกิจ Nice Review  แม้มีมานานและเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมหรืออาจถึงขั้นยึดเป็นอาชีพหลักได้เลยในยุคที่โลกทั้งใบถูกครอบงำด้วยโซเชียลมีเดีย กลับยังไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายจากการทำงานรับจ้างกดไลค์กดแชร์แบบที่ไม่ต้องลงทุนเสียค่าสมัครสมาชิก 


          กระทั่งไม่นานมานี้ธุรกิจ Nice Review บางรายเริ่มขยับหาช่องทางสร้างรายได้จากเครือข่ายมือปืนรับจ้างด้วยการใช้เทคนิคเก่าๆ แบบธุรกิจขายตรง นั่นคือการเก็บเงินแรกเข้าจากคนที่ต้องการสมัครทำงานเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว


          อย่างไรก็ตามแม้ยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนกับธุรกิจเหล่านี้ แต่ก็มีคนส่งเรื่องแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่อ้างว่ามีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทนั้น น่าเป็นการอุปโลกน์ขึ้น 


          และที่อ้างว่าบริษัทมีรายได้จากการโฆษณาสินค้าเพื่อเอามาจ่ายสมาชิกที่ร่วมเปิดพอร์ตลงทุนเป็นค่าว่าจ้างกดไลค์กดแชร์นั้น จากการตรวจสอบงบการเงินพบว่ารายได้ที่มี หรือจำนวนเงินสดที่มี บริษัทไม่สามารถจ่ายให้แก่ผู้ที่เปิดพอร์ตทั้งหมดได้แน่นอน จึงเชื่อได้ว่าบริษัทนำเงินค้ำประกันของสมาชิกมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้ผู้ที่เปิดพอร์ตแทน นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมเป็นลำดับชั้นสำหรับผู้ที่ชักชวนผู้อื่นมาทำแชร์ลูกโซ่นี้ด้วย ปัจจุบันมีคนหลงเชื่อสมัครลงทุนแล้วนับแสนราย


          กระนั้นกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งเบาะแสที่ยังไม่มีผลทางคดี ทำให้ปัจจุบัน Nice Review ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้ผลิตสื่อโฆษณาและเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำการตลาดผ่านสังคมออนไลน์ เพราะการใช้บริการปั่นไลค์ ปั่นแชร์ และคอมเมนต์เชียร์สินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการซื้อเวลาโฆษณาตามสื่อกระแสหลักเช่นสิ่งพิมพ์ ทีวี และวิทยุ มากทีเดียว 


          ขณะเดียวกันปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการปั่นไลค์ปั่นแชร์สินค้าและโฆษณา ทำให้ธุรกิจประเภทนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้แต่ดีเอสไอ หรือ ปอท.เอง ก็ไม่มีอำนาจจัดการอะไรได้ตราบที่ยังไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษ


          ส่วนกรณีการจับกุมกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาเช่าบ้านเปิดวอร์รูมปั่นไลค์ปั่นแชร์สินค้าทางเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ยอดฮิตของจีนที่เป็นข่าวใหญ่โตเมื่อปี 2560 และล่าสุดอีกครั้งเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ กฎหมายไทยก็ไม่สามารถเอาผิดในข้อหารับจ้างกดไลค์กดแชร์ได้ เอาผิดได้เพียงข้อหา “เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต” 


          ขณะที่ประเทศจีนกลับมีกฎหมายห้ามไว้ชัดเจน ทำให้คนกลุ่มนี้อาศัยช่องโหว่เข้ามาหากินในประเทศไทยแทน


          พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ ยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมธุรกิจปั่นไลค์ปั่นแชร์ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าธุรกิจ Nice Review เป็นการเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่ใช้เฟซบุ๊กให้กดไลค์กดแชร์และให้คอมเมนต์ในเชิงบวกแก่งานโฆษณาบนเฟซบุ๊กที่ Nice Review เตรียมไว้ในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อโปรโมทเพจของผู้ประกอบการให้เกิดความน่าเชื่อถือ 


          อย่างไรก็ดี พ.ต.ต.วรณัน อธิบายว่า กรณี Nice Review ที่มีการเก็บค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิก มีรหัสให้ และมีการกำหนดค่าตอบแทนเป็นลำดับชั้น ตรงกับคำนิยาม “กู้ยืมเงิน” ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และยังอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 ในเรื่องการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมในส่วนรวม เนื่องจากการกดไลค์กดแชร์ และให้ความคิดเห็นไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริง อาจทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อในสินค้าหรือบริการว่ามีคุณภาพตามคำโฆษณาทั้งที่ไม่เป็นความจริง


          รวมถึงอาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) และ (5) ในการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จด้วย


          รองโฆษกดีเอสไอ ยังได้แจ้งเตือนไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังว่าแชร์ลูกโซ่มักจะมาในรูปแบบของธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ และโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนระยะสั้นโดยอ้างว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง โดยใช้วิธีการนำเงินจากผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่จ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าเพื่อให้เห็นว่าธุรกิจสามารถดำเนินการได้จริง ภายหลังที่ระดมทุนได้มากแล้วจะหยุดดำเนินการและหลบหนีไปพร้อมเงินของผู้เสียหาย ซึ่งจะเกิดความเสียหายลุกลามอย่างรวดเร็ว 


          “ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวังในการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยควรศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจก่อนเข้าร่วมลงทุน และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร.1202”