คอลัมนิสต์

ถนนเจ็ดชั่วโคตร! ฝันร้ายจะกลายเป็นดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถนนเจ็ดชั่วโคตร! ฝันร้ายจะกลายเป็นดี

 

 

          “มันเป็นหน้าที่ของไอ้พวกบุคลากรที่ทำถนน ไม่ใช่สารพัดเรื่องต้องไปที่นายกฯ ทำไมต้องรอให้นายกฯ มาไขลาน”


          ป้าคนหนึ่งอายุเลยวัยกลางคนไปแล้วตอบคำถามกระจอกข่าวว่าด้วยเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ที่สร้างแล้วสร้างอีกไม่จบสิ้นสักที

 

 

          ป้าคนนี้แกอาศัยอยู่แถวย่านถนนพระราม 2 และคงมาเป็นแนวร่วมกับกลุ่มชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ลงมาแก้ปัญหาดังกล่าวที่หน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา


          อารมณ์ของป้าเวลานั้นคงผิดหวังอย่างที่สุดในการทำงานของระบบราชการไทย จึงตอบคำถามนักข่าวอย่างตรงไปตรงมาแบบไม่ต้องเขียนโพยล่วงหน้า ประเด็นใหญ่ใจความจึงออกมาแบบนี้


          “คุณไม่ใช่หุ่นยนต์ คุณต้องมีสมอง คุณเข้ามาเป็นข้าราชการก็ดี เป็นผู้แทนก็ดี ต้องใช้ความสามารถทำ ไม่ใช่รอให้เรื่องถึงนายกฯ น่าเกลียดจะตาย อะไรๆ ขี้ไม่ออกเยี่ยวไม่ออก เลิกผัวก็ต้องไปบอกนายกฯ เขาไม่ทำกันแล้ว"


          ก่อนจบคำตอบที่ทรงคุณค่ามากกว่าคำถามที่กระจอกข่าวชงให้ฝากอะไรไปถึงท่านนายกรัฐมตรี คุณป้าท่านนี้ยังแวะตั้งโจทย์ให้บรรดาสื่อทั้งหลายไปขุดคุ้ยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ (คงไม่เกี่ยวกับโครงการนี้) ว่ามีความโปร่งใสแค่ไหนด้วย


          "ไปเจาะดูเลยว่าพวก อบต. อบจ. เขาประมูลงานกันอย่างไร มันมีอะไรอยู่ใต้พรมบ้าง”


          ว่าตามตรงแค่การชุมนุมชูป้ายร้องแลกแหกกระเชอของชาวบ้านรากหญ้าอย่างพวกที่มากันวันนั้น คงไม่ได้รับการใส่ใจอย่างจริงใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าใดนัก หากคราวนี้เป็นจังหวะดีที่เลือกช่วงเวลารัฐบาลใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน รัฐมนตรีป้ายแดงหลายคนกำลังฟิต ความทุกข์ยากของชาวบ้านย่านพระราม 2 จึงได้รับการส่งต่อไปถึงฝ่ายกำกับนโยบายเร็วกว่าปกติ

 



          จากวันนั้นเพียง 3 วัน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประเดิมงานแรกด้วยการควง ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม พร้อมทีมผู้บริหารกระทรวงไล่ตั้งแต่ปลัดไปจนถึงเจ้าภาพอย่างอธิบดีกรมทางหลวง ลงไปเดินสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านเหมือนถูกลงโทษให้ต้องมาอยู่ในเมืองที่แสนอึดอัด ไม่เกินเลยไปจากข้อความบนป้ายระบายทุกข์ “ทนไม่ไหวแล้ว ถนนพระราม 2 #รถติดหนักมาก ถนนเจ็ดชั่วโคตร”


          “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” ที่ชาวบ้านเรียกขานนั้น ภาษาทางการก็คือ “โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย” 


          ลักษณะงานเป็นการขยายคันทางทั้งทางขนาน (Frontage Road) จากเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 3 ช่องจราจร และทางหลัก (Main Road) จากเดิม 3 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร รวม 2 ฝั่งจาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร พร้อมก่อสร้างสะพานกลับรถ 2 แห่ง ที่กม.12 (แสมดำ) กม.16 (ก่อนถึงซอยพันท้ายนรสิงห์) และสะพานข้ามทางรถไฟ กม.18


          โครงการนี้มีระยะทางเพียง 11.7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 2,213.5 ล้านบาท แต่ได้ซอยงานก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ให้ 3 บริษัทดูแล (คุณป้าก็มีพาดพิงถึงประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน)


          ตอน 1 (กม.9+800-13+300) ตั้งแต่วงแหวนรอบนอก-แสมดำ  ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด งบประมาณ 707.50 ล้านบาท 


          ตอน 2 (กม.13+300-17+400) แสมดำ-วัดพันท้ายนรสิงห์  ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท แสงชัยโชค จำกัด งบประมาณ 798.555 ล้านบาท 


          ตอน 3 (กม.17+400-21+500)  วัดพันท้ายนรสิงห์-มหาชัยเมืองใหม่ ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท เอ็ม.ซี.คอนสตรัคชั่น (1979) จำกัด งบประมาณ 707.5 ล้านบาท


          แม้การก่อสร้างจะแบ่งสัญญาออกเป็น 3 ตอน เพื่อให้งานเดินหน้าเร็วขึ้นและเสร็จให้ทันตามสัญญาในเดือนสิงหาคม 2563 แต่นับจากเริ่มเปิดหน้างานเมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันพบว่าการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดมาก 


          สาเหตุหนึ่งเกิดจากอุปสรรคด้านการขนย้ายระบบสาธารณูปโภค และการแก้ไขแบบ “ผิวถนน” ที่มีความล่าช้ามานานกว่า 1 ปียังไม่แล้วเสร็จ


          ประเด็นเรื่องอุปสรรคด้านการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคมีข้อมูลน่าสนใจจาก กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 23 กรกฎาคม 2562 หลังจากคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวงลงตรวจพื้นที่เพียงวันเดียวว่าแท้ที่จริงแล้วหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสาธารณูปโภคแต่ละด้านนั่นเองที่เป็นตัวถ่วงทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า


          กรณ์  ให้เครดิตข้อมูลว่าได้มากจากการพูดคุยกับ ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกัน และท่านฝากมาถ่ายทอดให้ฟังว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และได้ดำเนินการสั่งการแก้ไขไปแล้วอย่างไรบ้าง


          กรณ์ บอกว่า ประเด็นแรกที่ทำให้การก่อสร้างถนนเป็นไปอย่างล่าช้าคือ กรมทางหลวงอ้างว่าการประปา การไฟฟ้า ไม่ให้ความร่วมมือในการรื้อย้าย แจ้งว่าประชุมกันไป 10 กว่าครั้งก็ยังไม่ได้ข้อตกลง สิ่งที่ท่านรมต.คมนาคม ทั้งสองได้ถามกลับไปคือ “ยังคุยไม่ได้แล้วเปิดหน้างานไปทำไม??”


          ประเด็นต่อมาคือจากสภาพความเป็นจริง ทางผู้รับเหมาเปิดหน้างานกว้างเกินไปและเปิดพร้อมกันทั้งสองฝั่งถนน เหลือพื้นที่ให้รถวิ่งได้น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นเส้นทางสำคัญ เป็นถนนเส้นหลักจากภาคใต้ทั้งภาคที่มีค่าเฉลี่ยสถิติรถวิ่งเข้าออกมากถึงวันละ 200,000 คัน


          อีกประเด็นคือหลังจากผู้รับเหมาเปิดหน้างานไปแล้ว แต่คนงานลงไปทำงานไม่ได้ เพราะสภาพดินนิ่มทำให้หลังจากถมดินถมทรายแล้วต้องทิ้งไว้เฉยๆ อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรอให้ดินอยู่ตัว ประเด็นนี้ รมว.คมนาคมได้ถามว่า ใช้วิธีตอกเสาเข็มแล้วเทซีเมนต์เลยไม่ได้หรือ คำตอบคือ “ได้” และในระยะยาวดีกว่าด้วย 


          แต่ข้าราชการบอกว่าไม่ได้ของบไว้ ทั้งที่รถ 200,000 คันติดกันวันละหลายชั่วโมง น่าจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่ามาก


          ประเด็นสุดท้ายไม่มีการประสานขอความร่วมมือการวิ่งรถบรรทุกเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ประชาชนต้องเดินทางทำงาน หรือรับส่งลูกที่โรงเรียน ขณะเดียวกันตำรวจก็ควรต้องขยันมาดูแลจราจรเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุที่จะทำให้รถติดมากขึ้นไปอีก


          กรณ์ บอกว่า ข้อมูลที่ได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนรัฐมนตรีพรรคเดียวกันนี้ ฟังแล้วทึ่งในการทำงานตามระบบราชการเป็นอย่างมาก แถมยังเจอกับตัวเองมาแล้วหลายครั้ง


          ส่วนประเด็นการแก้ไขแบบผิวถนนซึ่งมีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้การก่อสร้างติดขัดนั้น มีข้อมูลจากนายช่างโครงการคนหนึ่งว่า เป็นเพราะตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้รับเหมากำหนดความหนาไว้เพียงแค่ 13 ซม. ทั้งที่ถนนหลักที่มีรถบรรทุกคับคั่งควรจะมีผิวถนนหนากว่า 20 เซนติเมตร หากปล่อยให้มีการก่อสร้างตามแบบจะทำให้ถนนเส้นนี้อยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี ก็ต้องปรับปรุงใหม่ อีกทั้งยังพบปัญหาอื่น เช่น ไม่มีรายละเอียดการวางระบบท่อ


          กรมทางหลวงใช้เวลากว่า 1 ปี แก้ไขแบบก่อสร้างผิวถนน แต่ยังแก้ไม่เสร็จ ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของผู้รับเหมา เพราะเมื่อแบบไม่เสร็จก็ไม่สามารถเบิกเงินมาก่อสร้างได้ ผู้รับเหมาบางรายต้องใช้วิธีไปกู้เงินเพื่อดำเนินการเองไปก่อน


          กระนั้น รมว.คมนาคม เห็นแย้งว่า การแก้แบบผิวถนนไม่น่าเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า และแม้ว่าโครงการเพิ่งมีความคืบหน้าเพียง 38% แต่ยืนยันว่าจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในปี 2563 แน่นอน 


          แต่ระหว่างนี้ได้วางแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนด้านจราจร โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจขอความร่วมมือบริษัทขนส่งที่ใช้รถบรรทุกใหญ่ให้ออกเดินทางหลังช่วงเวลาเร่งด่วน และให้รถใหญ่ยูเทิร์นรถถัดไปอีก 1 กม.จากจุดเดิม ขณะที่เรื่องผิวจราจรภายใน 2 สัปดาห์จะสามารถเลื่อนผิวจราจรจากจุดเดิมไปจุดถัดไปได้ 


          ขณะเดียวกันได้ปรับขั้นตอนการก่อสร้างไม่ให้เปิดหน้างานตรงกันจะได้ไม่เกิดภาวะคอขวดรวมถึงให้ทำป้ายบอกทางจราจรให้ชัดเจนด้วย


          การลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาด้วยตนเองของรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง โดยไม่ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีไขลาน ดูเหมือนจะสร้างความพึงพอใจแก่ชาวบ้านพอสมควร เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา ปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 โดยเฉพาะย่านวัดพันท้ายนรสิงห์มีความคล่องตัวมากขึ้น 


          ชาวบ้านบอกว่าตอนนี้นั่งรถสองแถวจากห้างโลตัสพระราม 2 กลับบ้านใช้เวลาแค่ 10 กว่านาที ก่อนหน้านี้นั่งรถไม่กี่กิโลใช้เวลาเป็นชั่วโมงก็ยังไม่ถึงสักที 


          การปรับปรุงถนนพระราม 2 ที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นถนนเจ็ดชั่วโคตรนั้น แท้จริงแล้วโครงการนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-วังมะนาว จ.ราชบุรี ซึ่งจะทำเป็นทางยกระดับวางเสาบนเกาะกลางถนนพระราม 2 เชื่อมต่อกับทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังก่อสร้างใหม่ 


          การก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-วังมะนาว แบ่งการพัฒนาเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย (มหาชัย) ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท เฟส 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. วงเงินลงทุนรวมกัน 4.8 หมื่นล้านบาท และเฟสที่ 3 ช่วงบ้านแพ้ว-วังมะนาว 


          โครงการเฟส 1 ซึ่งเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างบนเกาะกลางถนนพระราม 2 เริ่มก่อสร้างแล้วในปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2564 โครงการเฟส 2 ช่วงเอกชัย 1-บ้านแพ้ว จะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565 หรืออาจนานกว่านั้น ส่วนเฟส 3 ช่วงบ้านแพ้ว-วังมะนาว จะก่อสร้างเป็นระยะสุดท้าย


          อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง บอกว่า ​ เมื่อโครงการทั้งหมดก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรที่มีอยู่ในปัจจุบันและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังลดระยะเวลาการเดินทางของโครงข่ายถนนโดยรอบส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการใช้เส้นทางเพิ่มมากขึ้น


          กระนั้นแม้ว่าโครงการปรับปรุงถนนระยะแรก “บางขุนเทียน-เอกชัย” อาจแล้วเสร็จตามกำหนดเดือนสิงหาคม 2563 แต่ชาวบ้านอาจต้องทนรับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่จะตามมาอีกอย่างน้อย 3-4 ปี 


          และนี่เองคือสิ่งที่ชาวบ้านย่านพระราม 2 รวมถึงผู้คนที่มีความจำเป็นต้องสัญจรบนถนนสายนี้เป็นประจำรู้สึกกังวลและเป็นทุกข์ตลอดเวลาเมื่อนึกถึงสภาพอันแสนเลวร้ายเมื่อครั้งมีการก่อสร้าง ถนนธนบุรี-ปากท่อ ช่วงปี 2532-2546 ตำนานถนนเจ็ดชั่วโคตรของแท้ 


          แต่ก็หวังไว้ว่าเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งระบบ ชาวบ้านและประชาชนผู้ใช้เส้นทางจะได้รับความสะดวกสบายคุ้มค่าต่อการที่ต้องอดทนอยู่กับฝันร้ายมาแสนนาน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ