คอลัมนิสต์

รับมือวิกฤติแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562

 

 

          ปัญหาแล้งปีนี้ดูน่าวิตกอย่างยิ่ง แม้ยังไม่สิ้นฤดูฝนแต่สถานการณ์น้ำน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหมือนจะรุนแรงและส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่า นับแต่นี้ไปหลายพื้นที่คงจะตกอยู่ในภาวะกันดารจากฝนทิ้งช่วงมา 3 สัปดาห์ ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างมิอาจหลีกเลียง   ซึ่งล่าสุดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.85 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตรรทก.) ซึ่งระดับที่เหมาะสมควรไม่ต่ำกว่า 15.00 เมตร รทก.  อีกทั้งน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง มีแต่การระบายออกจากอ่างเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เป็นหลัก

 


          รัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการด่วนให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อทำฝนเทียมเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำกับฝ่ายพลเรือนแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องระดมสรรพกำลังมาช่วยกัน เพราะปีนี้ฝนทิ้งช่วงยาวนานจึงมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 40  ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือภัยแล้งในหลายจังหวัด พร้อมเร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่างๆ  


          จากการลงพื้นที่ติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ของ 3 รมช.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่ามีน้ำเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ของความจุ นับว่าน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมาและคาดการณ์ว่าจะมีน้ำใช้ได้อีก 40 วันจึงได้สั่งการให้ลดการระบายน้ำลงแล้ว พร้อมกันนี้ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 จังหวัด เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ และการช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้ง ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า เผยภาพถ่ายดาวเทียมแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เปรียบเทียบระหว่างฤดูฝนปีที่แล้วกับปีนี้ น้ำน้อยลงไปมากกว่าเท่าตัว เกิดความแห้งแล้งมากในพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำโขง  ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่าจีนลดการระบายน้ำเขื่อนจิ่งหง รวมถึงสปป.ลาวได้ทดสอบเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี ส่งผลกระทบ 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขงในภาคเหนือและภาคอีสาน 


          แม้หน่วยงานภาครัฐจะได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้มีการปล่อยน้ำลงมา รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเช่น จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ ปฏิบัติการฝนหลวง ขุดเจาะบ่อบาดาล เพิ่มความจุแหล่งน้ำ เป็นต้น จะช่วยบรรเทาความเป็นอยู่ให้ชาวบ้าน เกษตรกร ลงได้ แต่การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถจัดการให้มีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอทั่วถึงตามศักยภาพของพื้นที่และความต้องการ มีการใช้น้ำที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้การพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลเองได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นรูปธรรมเร็ววัน ขณะที่เกษตรกรเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองรวมไปถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เช่น กักเก็บน้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำของตัวเอง หรืองดการเพาะปลูกหรือรวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม รวมถึงวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์แล้งอย่างเป็นระบบด้วย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ