
พี่สภาสูง น้องสภาล่าง ไม้ประดับสภาไทย
คอลัมน์ "ท่องยุทธภพ" โดย "ขุนน้ำหมึก" หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2562
*******************
ไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อมีการประกาศรายชื่อ ส.ว.แต่งตั้งจำนวน 250 คน เพราะส่วนใหญ่เป็นบุคคลในเครือข่าย คสช. และจะมีสาย “นักเลือกตั้ง” แทรกเข้ามาบ้างในสัดส่วนที่น้อยนิด
อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว.เลือกตั้ง ที่หลุดเข้ามาอยู่ในสภาสูงเที่ยวนี้ มาจากกระบวนการคัดเลือก ส.ว.ทั่วประเทศ ที่เป็นการเลือกกันเองจากผู้สมัคร 10 กลุ่มอาชีพ โดย คสช.เป็นผู้เคาะรายชื่อในขั้นตอนสุดท้าย
อย่างไรก็ตามในแวดวงการเมืองรู้ดีว่ามีอดีต สนช.กี่คน ที่แอบหนุนผู้สมัครส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และได้รับแต่งตั้งกลับมาเป็น ส.ว.อีกครั้ง
ทายาท “เจ้าพ่อหันคา”
ส.ว.หญิงป้ายแดงที่คนรู้จักมากหน่อย เพราะนามสกุล “สงฆ์ประชา” นั่นคือ “จิรดา สงฆ์ประชา” อดีตนายก อบจ.ชัยนาท
“จิรดา” เป็นบุตรสาวของบุญธง สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท ที่มีฐานธุรกิจอยู่ใน ต.ไพรนกยูง อ.หันคา โดยบุญธงเป็นส.จ.ครั้งแรกปี 2490 ก่อนจะได้เป็นส.ส.สมัยแรกปี 2526 และสร้างฐานมวลชนไว้แน่น จนได้ฉายา “เจ้าพ่อหันคา”
จิรดา สงฆ์ประชา
“เจ๊อ้อย” จิรดา เป็นพี่สาวใหญ่ ดูแลกงสีบริษัทธงไทยหันคา ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบุญธง และเคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ชัยนาท 2 สมัย
เลือกตั้ง 2562 “แดง ชัยนาท” มณเฑียร สงฆ์ประชา น้องชายจิรดา ลงสมัคร ส.ส.เขต 2 ชัยนาท สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.อีกสมัย คู่กับ “เสี่ยแฮงก์” อนุชา นาคาศัย เขต 1
มณเฑียร สงฆ์ประชา
ส่วน “มันแกว” นันทนา สงฆ์ประชา แยกทางไปเป็นเลขาธิการพรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคนี้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งคือ สมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรค
นันทนา สงฆ์ประชา
วันก่อน นันทนา สงฆ์ประชา เพิ่งพาสมเกียรติไปร่วมแถลงข่าว 11 พรรคเล็กหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
สรุปว่าตระกูลสงฆ์ประชา พี่สาวอยู่สภาสูง น้องชายอยู่สภาล่าง และน้องสาวอีกคนกำกับพรรคจิ๋วหนุนลุงตู่
ลูกสาว “เจ้าพ่อโรงสี”
เห็นรายชื่อผู้สมัครส.ว. กลุ่มอุตสาหกรรม/เอสเอ็มอี/การท่องเที่ยว ที่หลุดเข้ามาสภาสูงอีกรายหนึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “อ้อ” ภัทรา วรามิตร อดีตส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทยนั่นเอง
ภัทรา วรามิตร
ภัทรา วรามิตร เป็นบุตรสาวของสมบัติ วรามิตร อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์ และชะม้อย วรามิตร อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์
ตระกูล “วรามิตร” เป็นเจ้าของธุรกิจโรงสีข้าวใหญ่ใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ “อ้อ ภัทรา” ย้ายค่ายจากเครือข่ายทักษิณ ไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นก็สอบตกทั้งในสีเสื้อพรรคชาติไทย และพรรคภูมิใจไทย
เลือกตั้ง 2562 ตระกูลวรามิตร ส่ง “โด่ง” ชานุวัฒน์ วรามิตร ลูกชายคนโตลงสมัครส.ส.เขต 2 กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชารัฐ แต่ก็พ่ายแชมป์เก่า
แม้พี่ชายจะชวดเข้าสภาล่างแต่น้องสาวก็ได้รับเลือกเป็น ส.ว.สมใจป้าชะม้อย
สายนักการเมืองเก่า
นักแต่งตั้งป้ายแดงอีกส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มอดีต ส.ว.เลือกตั้ง เริ่มจาก “พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์” อดีตส.ว.พิษณุโลก เป็นบุตรสาวของโกศล ไกรฤกษ์ และเป็นพี่สาวของจุติ ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
“บุญส่ง ไข่เกษ” อดีตส.ว.ตราด ปี 2549 และเคยเป็น ส.ส.ตราด ปี 2544 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
“อมร นิลเปรม” เป็นส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก ปี 2543 โดยเข้าสภาสูงในฐานะส.ว.อุบลราชธานี ซึ่งตระกูลนิลเปรม ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและเล่นการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน
อมร นิลเปรม
ญาติของอมร คือ อดุลย์ นิลเปรม ก็เคยลงสมัคร ส.ส.อุบลฯ ตั้งแต่สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน จนมาถึงพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็สอบตก
“สุรสิทธิ์ ตรีทอง” อดีตส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน และเป็นหลานชายของบุญชู ตรีทอง อดีต ส.ส.ลำปาง
อดุลย์ นิลเปรม
บังเอิญกลางปีที่แล้วกลุ่มสามมิตรเคยเปิดตัวสุรสิทธิ์ ตรีทอง ในนามตัวแทนของพลังประชารัฐ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจไปสมัคร ส.ว. โดยมี ปัญญา จีนาคำ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน 5 สมัย ลงสนามและได้รับชัยชนะ
เปรียบเทียบจำนวน ส.ว.แต่งตั้ง ที่มาจากนักการเมืองเก่านั้น มีจำนวนแค่หยิบมือเดียวท่ามกลางนักแต่งตั้งขาประจำหลายร้อยคน