
เมืองนักตุ๋นขุมทรัพย์18มงกุฎ
รายงาน...
เจ็บจี๊ดทุกครั้งเมื่อได้ยินใครพูดว่า “ทำไมคนไทยหลอกง่ายจัง ?”
แต่เจ็บลึกกว่านั้นกับคำสบประมาท “ช่วยไม่ได้ โง่เอง”
ปาณิสรา นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ วัย 59 ปี ถูกแก๊ง 18 มงกุฎ หลอกโอนเงินไปกว่า 200 ล้านบาท
ส่วนสาวลูกจ้างร้านขายข้าวใน จ.ปราจีนบุรี ถูกแก๊งโรแมนซ์สแกมแชทหยอดความรัก เกือบเสียท่าโอนเงินซื้ออนาคตหลักหมื่น
ข่าวแบบนี้ชาวบ้านชอบ อ่านแล้วคันปาก
ในร้าน “ตะลุยเกศา บาร์เบอร์” พลันที่ลูกค้าหนุ่มวัยกลางคนซึ่งนั่งรอคิวตัดผมอยู่เหลือบไปเห็นพาดหัวข่าว “จับ 18 มงกุฎสุดแสบ ปั้นเรื่องขอยืมเงิน เศรษฐินีสูญ 232 ล้าน” จึงกางหนังสือพิมพ์ออกอ่านแล้วยิงคำถามไปยังช่างที่กำลังบรรจงไถปัตตาเลียนบนหัวของเด็กน้อยวัยกำลังซน
“พวกนี้มันเก่งนะ หลอกเงินป้าได้ตั้งเป็นร้อยล้าน ป้าแกไม่สงสัยอะไรเลยหรือไง ทำไมหลอกง่ายจัง?”
ความจริงตอนถูกแก๊งนี้เข้ามาตีเนียนช่วงแรกๆ ปาณิสรา ก็ไม่ได้เชื่อเสียสนิท แต่เพราะความไว้ใจว่ามีคนรู้จักแนะนำมาจึงทำให้หลงกล
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปี 2559 คุณป้าปาณิสรา ได้รู้จักกับ สุภิช นิมิตนิวัช ชาวบ้านโป่ง จ.ราชบุรี วัย 61 ปี ผ่านคนรู้จัก
จากนั้น สุภิช ซึ่งรู้ว่า ปาณิสรา เพิ่งได้เงินจากการขายที่ดินย่านนนทบุรี แนวก่อสร้างรถไฟสายสีม่วงหลายร้อยล้านบาท จึงกุเรื่องว่ากำลังดำเนินการเรื่องทรัพย์มรดกของแพทย์หญิงรายหนึ่งซึ่งเป็นตัวละครที่อุปโลกน์ขึ้นมา โดยหลอกลวงว่า แพทย์หญิงคนดังกล่าวเสียชีวิตจากเหตุโจรใต้ลอบวางระเบิดระหว่างอาสาไปทำงานกับกองทัพบกใน จ.ยะลา
สุภิช อ้างว่า แพทย์หญิงได้ทำพินัยกรรมมอบมรดกและสิทธิในการรับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ให้แก่ ผาณิตา นารถไพรินทร์ (เพื่อนร่วมแก๊ง) แต่ ผาณิตาไม่มีเงินดำเนินการเรื่องพินัยกรรมที่จำเป็นต้องใช้เงินวางหลักประกันในการเปิดพินัยกรรมและค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพบกซึ่งเป็นผู้ดูแลพินัยกรรมและติดตามเรื่องขอเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ อีกรวม 14 หน่วยงาน
สุภิช อ้างว่า ต้องการใช้เงินในการดำเนินการก่อนที่จะถึงกำหนดเปิดพินัยกรรมเบื้องต้น 235 ล้านบาท หลังจากได้ใช้เงินส่วนตัวจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารในส่วนของกองทัพบกไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดนี้ ผาณิตาจะใช้คืนให้ สุภิช พร้อมกับเงินค่าตอบแทนอีก 300 ล้านบาท แต่ตอนนี้ สุภิชไม่สามารถหาเงินเพื่อส่งให้ทหารได้ จึงมาขอยืมจาก ปาณิสรา ครั้งแรก 5 แสนบาท
หลังจากได้เงินไปแล้ว 5 แสนบาท อีก 4 วันต่อมา สุภิช บอกกับ ปาณิสรา ว่าต้องการเงินอีก 5.2 แสนบาท ปาณิสรา ก็เบิกเงินให้แบบไม่มีบ่ายเบี่ยง
ถึงตรงนี้ สุภิช เริ่มเดินอุบายขั้นสูงด้วยการสั่งจ่ายเช็คธนาคารให้แก่ ปาณิสรา 2 ฉบับ เพื่อเป็นหลักประกัน แต่บอกว่า อย่าเพิ่งนำเช็คไปขึ้นเงิน แต่เมื่อเห็นว่าปาณิสราเริ่มสงสัย จึงต้องใช้แผนสองด้วยการให้ ชัยชนะ จันทรา ตัวละครร่วมแก๊งอีกคน อ้างตัวเป็นนายทหารยศพันโท โทรศัพท์มาพูดคุยกับผู้เสียหายและอธิบายเกี่ยวกับการที่จะมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างก่อนที่จะเปิดพินัยกรรมส่งมอบเงินและทรัพย์สินตามพินัยกรรมให้แก่ผาณิตา
ต่อมา สุภิช ได้นัด ปาณิสรา มาพบพันโทกำมะลอที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี ซึ่งที่นั่น ปาณิสรา ได้พบกับ มาริษา โสมบ้านกรวย ซึ่งอ้างตัวเป็นร้อยโทหญิงกำมะลออีกคนหนึ่ง โดยทั้งหมดได้นำเอกสารปลอมมายืนยันว่า ผาณิตา เป็นผู้มีสิทธิได้รับพินัยกรรมของแพทย์หญิง แต่จำเป็นต้องหาเงินมาวางเพื่อเป็นหลักประกันและค่าดำเนินการ ทำให้ ปาณิสรา เชื่อจนสนิทใจ
กระนั้นกว่า ปาณิสรา จะรู้ตัวว่าถูกหลอก เธอได้พลาดท่าโอนเงินให้แก่ 18 มงกุฎแก๊งนี้ไปแล้วถึง 597 ครั้ง รวมเป็นเงิน 232,910,617 บาท ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.นครปฐม และสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหามาได้ทั้งหมดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีลูกจ้างสาวร้านขายข้าว ในตลาดโป่งไผ่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเกือบตกเป็นเหยื่อแก๊งโรแมนซ์สแกมรายล่าสุดนี้ เธอถูกชายชาวต่างชาติแชทจีบทางเฟซบุ๊ก
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
เธอสนทนาออนไลน์กันอยู่นานประมาณ 2 เดือน กระทั่งปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฝ่ายชายหลอกว่าจะมาเที่ยวเมืองไทย วานให้หญิงสาวรายนี้หาซื้อบ้านพักที่ดูดีมีราคาให้
แต่เมื่อเหยื่อหาบ้านราคา 1.5 ล้านบาท ให้ได้แล้ว มิจฉาชีพรายนี้จึงโทรผ่านห้องแชทกลับมาออกอุบายว่า เงิน 1.5 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนมากไม่สามารถโอนได้ แต่จะส่งเป็นพัสดุเงินสดมาให้ แต่ต้องให้เหยื่อสาวเสียค่าโอนหรือค่าใช้จ่ายปลายทางเอง
ชายต่างชาติยังสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการส่งรูปที่เป็นเหมือนเงินดอลลาร์ใส่ถุงพัสดุมาให้ดู เหมือนกับว่าได้ส่งเงินมาแล้ว เพียงแต่เมื่อของถึงเมืองไทยแล้วจะมีบริษัทที่รับส่งพัสดุโทรหาอีกทีเพื่อให้มารับของ โดยเน้นย้ำว่าอย่าบอกใครว่าสิ่งที่อยู่ในกล่องที่ส่งมาเป็นเงินสด
ต่อมาได้มีโทรศัพท์จากหญิงสาวอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิแจ้งว่ามีพัสดุส่งมาถึงเหยื่อ แต่ต้องโอนเงินจำนวน 800 ดอลลาร์ หรือประมาณ 24,500 บาท มาก่อนจึงจะส่งพัสดุไปได้ โดยมีการส่งชื่อเจ้าของบัญชีคือ Supapom Boonma หมายเลขบัญชี 725-263815-6 ชื่อธนาคาร SCB Bank มาด้วย
หญิงสาวที่กำลังตกเป็นเหยื่อเริ่มแปลกใจหลังจากถูกบุคคลเหล่านี้พยายามติดต่อเร่งรัดให้โอนเงินหลายครั้ง จึงตัดสินใจปรึกษาเจ้าของร้านที่ทำงานอยู่ เลยรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพรายนี้ไปได้
แม้ว่าสาวลูกจ้างร้านขายข้าวไม่โชคร้ายเสียท่าให้แก่แก๊งมิจฉาชีพเหมือนกับ ปาณิสรา เศรษฐินีที่ต้องเสียทั้งเงิน เจ็บทั้งใจ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งสอง น่าจะช่วยเตือนสังคมให้พึงระมัดระวังตัวจากเล่ห์เหลี่ยมของบุคคลเหล่านี้ไว้ตลอดเวลา
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า สาเหตุที่ทำให้แก๊งมิจฉาชีพยังสามารถล่าเหยื่อด้วยวิธีการเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่องมีหลายปัจจัย
ประเด็นแรก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ บอกว่า ธรรมชาติของมนุษย์มักมีความอยากได้ อยากเป็น อยู่ในตัว กรณีคนอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ถ้าใครมีข้อเสนอว่าไม่ต้องทำงานเยอะ ให้ไปร่วมธุรกิจที่ลงทุนน้อย ผลตอบแทนเยอะ หรือไปแต่งงานกับชาวต่างชาติแล้วน่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้ได้ทรัพย์สินมาโดยง่าย คนก็จะชอบ
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ยกตัวอย่างสาเหตุที่แก๊งโรแมนซ์สแกมยังหากินกับเหยื่อในไทยอย่างต่อเนื่องว่ามีหลายเหตุผล ประการแรกหญิงไทยที่โดนหลอกมักเชื่อแค่รูปที่โพสต์โดยไม่มีการวิเคราะห์ว่าอาจเป็นการสร้างโพรไฟล์ขึ้นมาก็ได้
ประการต่อมา หน่วยงานภาครัฐไม่มีการสื่อสารหรือแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ อย่างที่ควรจะทำ เช่น การแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานเชิงรุกที่น่าจะได้ผลดีกว่าการทำงานแบบตั้งรับ
“บ้านเรามักเน้นทำงานเชิงตั้งรับ ขณะที่หน่วยงานในต่างประเทศจะเน้นการป้องกัน เช่นผมไปประชุมที่สิงคโปร์ ไปเจอเพื่อนตำรวจนิวยอร์กที่นั่น เลยถามว่าทำไมเป็น ตำรวจนิวยอร์ก แต่ทำงานอยู่สิงคโปร์ เขาบอกว่าเขาต้องหาข้อมูลส่งให้นิวยอร์กทุกวัน รายงานความเคลื่อนไหวของเซาท์อีสต์เอเชียว่าเป็นอย่างไร นั่นหมายความว่า เขายอมส่งเจ้าหน้าที่รัฐ คือ ตำรวจ มาทำงานเฝ้าระวังในประเทศเป้าหมายที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมิจฉาชีพ เพราะเขารู้ว่า สุดท้ายถ้าไม่ทำงานเชิงรุก นิวยอร์กก็ต้องได้รับผลกระทบจากการก่ออาชญากรรมในเซาท์อีสต์เอเชีย เพราะเขามีการวิเคราะห์ข้อมูลว่า การลักลอบค้ายาเสพติด การค้าประเวณี หลบหนีเข้าเมืองต่างๆ มีฐานอยู่ที่ไหน นี่คือตัวอย่างการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ”
กลับมาที่บ้านเรา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่า แม้เรามีศูนย์เฝ้าระวังการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ก็จริง แต่คำถามคือ มีคนทำงานกี่คน คนทำงานมีความเชี่ยวชาญต่อเนื่องแค่ไหน ผู้เชี่ยวชาญทำงานได้ไม่กี่ปีก็ต้องขยับขยาย เลื่อนตำแหน่ง ทำให้ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง ต่างกับในต่างประเทศทำงานกัน 24 ชม. มีแผนกเกาะติดอาชญากรหรือแก๊งมิจฉาชีพกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ
“แก๊งโรแมนซ์สแกม เขามีทีมงานเกาะติด ตั้งเป็นแผนกหนึ่งขึ้นมาเลย หรือถ้าคดีไหนมีคนได้รับผลกระทบเยอะ หรือเกิดขึ้นต่อเนื่อง เขาจะมีเจ้าหน้าที่รัฐทำงานเชิงรุกเกาะติดโดยเฉพาะเลย”
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ย้ำด้วยว่า การทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับกลุ่มมิจฉาชีพในบ้านเราต้องทำให้เป็น “นวัตกรรม” คือปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานจากตั้งรับเป็นรุก ซึ่งต้องออกแบบให้ทันกับพัฒนาการของยุกสมัย แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยจะต้องหมั่นติดตามข่าวสารและปกป้องตัวเองมากขึ้นด้วย