คอลัมนิสต์

ไทม์ไลน์การเมือง "รัฐบาลใหม่" มิ.ย.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  โอภาส บุญล้อม


 

      
          ยังแข่งกันอยู่ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ในการชิงกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผ่านไป เพราะว่าชนะกันไม่ขาด โดยพรรคเพื่อไทย ได้ประมาณ 135 ที่นั่ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐได้ประมาณ  117 ที่นั่ง  แต่มีผู้ลงคะแนนให้แก่พรรคพลังประชารัฐมากกว่า โดยพรรคพลังประชารัฐ ได้ 7.9 ล้านคะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 7.4 ล้านคะแนน

 

 

          อย่างไรก็ตามเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล หนทางยังอีกยาวไกล ยังต้องดูกันไปอีกนานว่าฝ่ายไหนจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ เพราะว่ายังมีปัจจัยประกอบอีกหลายอย่าง ทั้งที่สามารถมองเห็นได้ และมองไม่เห็น


          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.  บอกว่า “ขณะนี้มีเพียงคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ สมมุติหาก กกต.สั่งระงับสิทธิสมัคร หรือสั่งใบแดงให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลคะแนนอาจเปลี่ยนไปทั้งหมด”


          นั่นหมายความว่า ขณะนี้ตัวเลขที่ว่าพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองนี้ ได้จำนวน ส.ส.เท่านั้นเท่านี้ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกตลอดเวลา ซึ่งเมื่อตัวเลขจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคการเมืองใดเปลี่ยนไป ก็ย่อมมีผลต่อการฟอร์มรัฐบาลของแต่ละฝ่ายได้  และเมื่อเรามาดู “ไทม์ไลน์เลือกตั้ง ” ก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น 
24  มีนาคม วันเลือกตั้งทั่วไป   

 

 

          25 มีนาคม เริ่มรู้ผลการนับคะแนน ส.ส.เขต อย่างไม่เป็นทางการ ในขณะเดียวกันก็มีการร้องคัดค้านเข้ามาว่าการเลือกตั้งมิชอบถึง 110 เรื่อง  ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องรีบพิจารณาให้เสร็จก่อนมีการประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งในระหว่างนี้ก็อาจมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ที่ทั้งสองฝ่ายก้ำกึ่ง แพ้-ชนะ กันอยู่   

 

 

ไทม์ไลน์การเมือง \"รัฐบาลใหม่\" มิ.ย.
 


          และสาเหตุที่ กกต.ต้องรับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้  เพราะในบทเฉพาะกาลมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีผลใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีผลใช้บังคับในวันที่  11 ธันวาคม 2561 ดังนั้น ระยะเวลาครบกำหนด 150 วัน ที่ กกต.จะต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ซึ่งก็คือการที่ กกต.ต้องรับรองผลหรือประกาศผลเลือกตั้งคือภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้  


          สรุป ก็คือ ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม จึงจะรู้แน่ชัดว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้จำนวน ส.ส.เท่าไร พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส.เท่าไรกันแน่ ขั้วไหน ฝ่ายไหน ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.มากกว่ากัน และเริ่มเห็นหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ชัดเจนขึ้น (อย่างไรก็ตาม หาก กกต.สามารถตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้เสร็จสิ้น และกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้สามารถประกาศผลเลือกตั้งได้เร็วกว่าวันที่ 9 พฤษภาคม ก็จะทำให้เริ่มเห็นหน้าตารัฐบาลใหม่เร็วขึ้น)


          หลังจากที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ต่อจากนั้น ภายใน 3 วัน ก็จะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 269 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ ซึ่งก็คือ ประมาณวันที่ 11-12 พฤษภาคมนี้


          จากนั้นประมาณวันที่ 24 พฤษภาคม ก็จะมีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน รวม 750 คน มาประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก (ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (ซึ่งคาดว่าเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม) ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมครั้งแรก)  ซึ่งการประชุมรัฐสภาครั้งแรกนี้ จะเป็น “รัฐพิธี” โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้ 


          เมื่อการประชุมรัฐสภาครั้งแรกผ่านไปแล้ว ก็จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงจะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี


          ทั้งนี้ในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมดจำนวน 750 คน ดังนั้นมากกว่าครึ่งหนึ่งก็คือ ไม่น้อยกว่า 376 เสียง โดยเป็นไปตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี  ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา


          และหากกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลจากบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต. ก็เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีคนนอกเป็น “ตาอยู่” คว้าเก้าอี้ไปครองได้ ทั้งนี้เป็นไปตาม 272 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า  หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าด้วยเหตุใดและสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (375 เสียง)  เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (500 เสียง) ให้ยกเว้นได้ ก็จะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ 


          จากไทม์ไลน์การเมือง ที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าตกประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน  จึงจะรู้กันว่า ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี  เมื่อมีนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่บริหารประเทศต่อไป ส่วนรัฐบาล คสช.ก็พ้นสภาพไป
ส่วนตอนนี้ก็ว่ากันไปตามวิถีทางการเมือง พลางๆ ก่อนก็แล้วกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ