
"3 ก๊ก 1 กั๊ก" เดดล็อกหลังเลือกตั้ง 62
ต้องบอกเลยว่าเลือกตั้งงวดนี้มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ และวัดใจนักเลือกตั้งชนิดลุ้นกันนั่งไม่ติด
สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 การวิเคราะห์การเมืองหลังเลือกตั้งกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม ตั้งแต่หัวไร่ปลายนายันล็อบบี้เลาจน์ในโรงแรมหรูระยับ
จากการประเมินผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่างๆ รวมถึงบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบางแห่ง พบว่าจำนวนส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อจำของพรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.รวม 130-150 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 90-100 คน, พรรคพลังประชารัฐ 80-90 คน, พรรคภูมิใจไทย 38 คน, พรรคอนาคตใหม่ 30 คน, พรรคเสรีรวมไทย 15-20 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 10-15 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 20 คน, พรรคชาติพัฒนา 15 คน, พรรคประชาชาติ 12 คน, พรรคเพื่อชาติ 10 คน และที่เหลือกระจายไปยังพรรคอื่นๆ
ก๊กทักษิณ-ฝ่ายค้าน
ทุกสำนักโพลล์ทุกสำนักข่าว เชื่อว่า “พรรคเพื่อไทย” จะได้เสียงจำนวนมากที่สุด แต่ก็ประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ “พรรคไทยรักษาชาติ” ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปแล้ว
แผนเพื่อไทยโกยส.ส.เขต และไทยรักษาชาติเก็บแต้มสะสมบัญชีรายชื่อต้องสะดุด ความหวังที่เหลือของฝ่ายชินวัตร จึงต้องอาศัยพรรคเพื่อชาติ, พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย กวาดแต้มให้ได้มากที่สุด
สถานการณ์การเลือกตั้ง 2562 ต่างจาการเลือกตั้ง 2554 ไม่อาจจุดกระแส “นารีขี่ม้าขาว” ได้ เพราะภาพลักษณ์ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นนักการเมืองหน้าเก่า บอบช้ำ ไม่สดใหม่เหมือนตอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสนาม
อีกประการหนึ่ง “พลังคนเสื้อแดง” อ่อนแรง และถูกแยกสลาย ไม่คึกคักและเข้มข้นเหมือนปี 2554 รูปธรรมแห่งพรรคเพื่อชาติให้คำตอบได้ดีว่า รากหญ้าเสื้อแดงไม่เหมือนเก่า
ก๊กประยุทธ์-รัฐบาล
นักวิเคราะห์การเมืองรุ่นเก๋าสรุปว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ในชั่วโมงนี้ยิ่งกว่าพรรคสามัคคีธรรม เพราะมีมุ้งย่อยอยู่ในพรรคนี้ประมาณ 10 กลุ่ม แต่ในความหลากหลายก็กลายเป็นจุดแข็งของพรรค เพราะมุ้งเหล่านี้มีนักเลือกตั้งมืออาชีพเป็นแม่ทัพ ซึ่งชำนาญการเลือกตั้งในพื้นที่ชนบท
นักเลือกตั้งอย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, วิรัช รัตนเศรษฐ, อนุชา นาคาศัย และอีกหลายคน ผ่านสนามรบเลือกตั้งมาโชกโชน รู้ดีว่ากติกาเลือกตั้ง “บัตรเดียว” และทุกแต้มถูกนับรวมหมด ทำให้มืออาชีพมีวิธีการ “เก็บแต้ม” เป็นระยะๆ โดยไม่รอนาทีสุดท้าย
สังเกตได้จากการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีเวทีปราศรัยมากที่สุด และระดมคนได้เวทีละ 1-2 หมื่นคน โดยเฉพาะในพื้นที่อีสาน
สำหรับแนวร่วมที่ประกาศชัดว่าหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกสองพรรคคือ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา แม้หัวหน้าพรรคหรือผู้ชี้นำพรรค มิได้ลั่นคำว่าหนุนลุงตู่ แต่วงในก็รู้กันดีว่าพวกเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ รวมถึงพรรคพลังท้องถิ่นไท นำโดย ชัชวาลล์ คงอุดม
ก๊กปชป.-ชิงตั้งรัฐบาล
เกมไม่เอาลุงตู่ของ “พรรคประชาธิปัตย์” นั้น มุ่งหวังที่จะดึงการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบทักษิณและไม่ปลื้มลุงตู่ เลยขอเป็น “ทางเลือกใหม่” ในโค้งสุดท้าย
การเลือกตั้งปีนี้ พรรค ปชป.ประสบปัญหาใหญ่ ถูกมองว่าเป็น “พรรคเครื่องเคียง” จึงไม่มี “สปอนเซอร์” รายใหญ่ให้การหนุนช่วย บวกกับขาด “แม่บ้านใจถึง” แบบสุเทพ เทือกสุบรรณ พลอยทำให้ขุนพลในสนามรบทำงานลำบาก
ด้วยเหตุนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตั้งโต๊ะแถลงไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ กระชากเรตติ้งให้ ปชป.มีราคา และดึงแต้มในกรุงเทพฯ และภาคใต้ ไม่ให้ไหลไปที่พรรคอนาคตใหม่
ก๊กสายกั๊ก-อนุทิน
ว่ากันตามจริง “เนวิน ชิดชอบ” ผู้มีบารมีเหนือพรรคภูมิใจไทย มีสัญญาใจกับกลุ่มบูรพาพยัคฆ์มาแต่สมัยตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์
มาถึงเลือกตั้ง 2562 พรรคภูมิใจไทยยุค “อนุทิน ชาญวีรกูล” มีการรีแบรนด์ภูมิใจไทยให้เป็น “พรรคไม่มีสี” หรือสลัดภาพ "พรรคทรยศนายใหญ่” หวังซื้อใจคนอีสานและเหนือ
ฉะนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงเป็น “ขั้วกั๊ก” ที่รอวันจับมือได้ทั้งสองก๊กเพื่อไทยและก๊กประยุทธ์ ขณะเดียวกัน “เนวิน” ผู้มากด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่เครือข่าย “กลุ่ม 16” รวมเสียงพลิกเกมเป็น “ขั้วทางเลือก”
ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมก่อนวันหย่อนบัตรโดยภาพรวม “3 ก๊ก 1 กั๊ก” เชื่อว่าหลังเลือกตั้งฝุ่นตลบแน่ และอาจเข้าสู่สถานการณ์ “เดดล็อกทางการเมือง” เนื่องจากไม่มี “ขั้วไหน” ได้เสียงข้างมากโดยเด็ดขาด
ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดว่าต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในกี่วัน กี่เดือน ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้เลือกภายใน 30 วัน นับแต่ประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ต่อได้แบบไม่มีกำหนด แถมยังมี ม.44 อยู่ในมือ