คอลัมนิสต์

"สายเขียว"จะเฮดังได้ไหม?หาก"ภท."ดันกัญชาเสรีได้จริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น

 

 

          ใครเล่าจะเชื่อว่าวันนี้กัญชาอาจจะกลาย “เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและค้าขายได้” และคำว่า “กัญชาธิปไตย” ซึ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับนำมาใช้เมื่อราวๆ กว่า 40 ปีในหลากอารมณ์อักษร วันนี้ "กัญชา” คือหนึ่งในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยพรรคภูมิใจไทยนำเสนอกับสังคมว่าหากปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น จะมีรายได้ปีละ 420,000 บาท...

 

 

          “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงกับ “เครือเนชั่น” เกี่ยวกับหลากนโยบายพรรคที่ใช้หาเสียง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหวือหวาและฉีกแนวการหาเสียงจากช่วงที่ผ่านมามากว่า “นโยบายพรรคเกิดขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการ พรรคคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชน”


          สิ่งที่พรรคคิดมาตั้งแต่แรกคือปัญหาใหญ่ของประเทศ คือปัญหาความยากจนและหนี้สิน เพราะฉะนั้นเราควรมีการจัดเรียงลำดับปัญหาในสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ พรรคคิดว่าการนำเสนอนโยบายพรรคให้ประชาชนได้พิจารณานั้นทำได้จริง


          เริ่มที่นโยบาย “สีเขียว” ที่ค่อนข้าง “ร้อน” กันก่อน ตามประเด็นที่พรรคภูมิใจไทยบอกเอาไว้ว่า จะทลายข้อจำกัดเพื่อปากท้องประชาชนด้วยการปลูกกัญชาเสรีนั้น


          เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า "เราจะทลายข้อจำกัดหลายอย่าง เพื่อให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพอย่างมีเสรีภาพและมีรายได้จากศักยภาพของตนเอง เรื่องกัญชานั้น ใช้ตามหลักของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา คือ 1.ให้สามารถใช้ในเชิงการแพทย์ได้ 2.ใช้ในเชิงพาณิชย์ 3.จำกัดจำนวนที่ปลูกที่บ้านและลงทะเบียน

 

          บางคนถามว่ากัญชาเสรีนั้นยังมีสถานะยาเสพติดไหม ผมถามกลับว่า ถ้าไม่เสพจะมีอาการไหม บางคนอาจจะเคยรับประทานกัญชาโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกลงแดงอยากลองอีก



          บางคนบอกว่ามีโอกาสที่จะมอมเมาสังคม ผมถามว่า วันนี้ก็มีสิ่งมอมเมาอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว พรรคไม่ได้ไปสร้างเรื่องที่ไหน จากการค้นคว้าวิจัยก็พบว่าเสพกัญชาจะทำให้ง่วงนอน บางคนมองว่าจะมีปัญหาว่าเยาวชนเสพกัญชา เพราะอยู่ใกล้ตัวนั้น ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะคงไม่เสพกันทั่วไป"


          เมื่อถามว่า การปลูก 6 ต้นจะมีรายได้ครอบครัวละ 420,000 บาทต่อปี เม็ดเงินนี้จะมาจากไหน เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยอธิบายว่า “แคลิฟอร์เนียขายกิโลกรัมละ 7 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทเป็นขั้นต่ำ แต่ที่แพงกว่าคือนำไปสกัดเป็นน้ำมันกัญชา ราคาขวดละ 1 แสนบาท และจะมีแพงไปถึง 5 แสนบาทถึง 1 ล้าน แม้ว่าพวกเขาจะมีการปลูกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ทำให้ดีมานด์ซัพพลายลดลง”


          จากกัญชา ว่าด้วยพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ซึ่งภูมิใจไทยนำเสนอวิสัยทัศน์ไว้ น่าติดตามผลในทางปฏิบัติ


          ศักดิ์สยามเล่าว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง พรรคนำเรื่องนี้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าพรรคมีนโยบายอะไรบ้าง พรรคจะแปรนโยบาย 12 ด้านไปสู่การปฏิบัติ โดยการจัดทำพระราชบัญญัติ 12 เรื่อง ซึ่งมันพร้อมที่จะสามารถผลักดันเป็นกฎหมายหลังเลือกตั้งทันที ถ้าพรรคภูมิใจไทยได้รับอนุญาตจากประชาชนให้ไปทำหน้าที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล


          ปัญหาความยากจนและหนี้สินของประชาชนทุกระดับชั้น กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ เกษตรกร โดยพรรคเห็นว่าการที่พวกเขาไปทำการเกษตร ปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด เช่น ข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย พืชเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือกลไกการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม พรรคมองเห็นว่าพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่ง คือ "อ้อย” ที่มี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ดูแล มีการแบ่งและกำหนดราคา คือแบ่งกำไรอย่างเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ แบ่งกันตามสัดส่วน 70 ต่อ 30 มาสามสิบปีเศษแล้ว ทำไมพืชเศรษฐกิจตัวอื่นถึงไม่มีกฎหมายแบบนี้มารองรับ


          พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ มักจะมีเรื่องที่สะท้อนกลับมาตลอดคือ ลงทุนและลงแรงมากที่สุดแล้วก็ขาดทุนมากที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่ตรงกลางน้ำ คือผู้แปรรูป หรือผู้อยู่ปลายน้ำคือผู้ขาย ไม่เคยมีใครที่จะต้องมาเสี่ยงขาดทุน คือผู้ประกอบการที่อยู่กลางน้ำกับปลายน้ำกำไรตลอดเวลา ปัญหาคือโครงสร้างในการกำหนดกลไกราคา เพราะฉะนั้น พรรคใช้ตัวแบบคืออ้อยมาศึกษา ปรากฏว่าพืชตัวอื่นๆ ก็ทำได้ หากทำแบบนี้ได้ ราคาสินค้าเกษตรจะเปลี่ยนไปทันที


          เรานำเอาต้นทุนเป็นหลัก คือ ใครลงทุนมากหลังจากมีกำไร ก็ต้องได้แบ่งกำไรไปมาก มันคือความเป็นธรรมที่ควรเกิดขึ้น แบบนี้จะไม่มีใครขาดทุน ยกตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิ ข้อมูลในปีนี้ถ้าเป็นโครงสร้างปกติในขณะนี้ จะขายได้ประมาณ 18,000 บาทต่อตัน ถ้าใช้กลไกกฎหมายที่พรรคร่างไว้มาดำเนินการ เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะได้กำไรเพิ่มอีก 1,500 บาทต่อตัน หรือข้าวขาวก็ขยับจากตันละ 7,000 กว่าบาทในวันนี้เป็น 8,700 บาท ซึ่งนี่เป็นแค่การบริหารจัดการ ไม่มีการใช้งบประมาณ ซึ่งทำไม่ได้แล้ว กฎหมายห้าม “ประชานิยม” จะไปแทรกแซงโดยใช้วิธีรับจำนำ, ประกันราคานั้น ทำไม่ได้แล้ว ผมเป็นห่วงว่าหลังการเลือกตั้ง ถ้าไม่ดูกฎหมายให้ดีแล้วไปประกาศนโยบายที่ขัดกับกฎหมาย หลังการเลือกตั้งจะมีปัญหา"


          เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยบอกว่านโยบายต่างๆ นั้นศึกษามาแล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างราคาสินค้าเกษตร คือต้องการแก้ระบบใหม่ทั้งหมด เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า ใช่ เพียงแค่ออกกฎหมายเรื่องการแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรม(Profit Sharing) เชื่อว่าเกษตรกรจะได้สัดส่วนการแบ่งกำไร 75% จากกำไรที่มี อีกตัวอย่างคือ มันสำปะหลัง พรรคคิดว่าราคาควรจะตกอยู่กิโลกรัมละ 4 บาท ปาล์มนั้น ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างแบ่งปันกำไร แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่นำสิ่งที่เป็นศักยภาพของประเทศมาใช้


          "พืชเศรษฐกิจคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย มีอยู่ 4 ชนิดที่เป็นพืชพลังงานได้คือ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านนี้คือบราซิลทำเอทานอล 100% และไม่ต้องนำเข้าปิโตรเลียม บราซิลมีการศึกษาปัญหาเรื่องที่จะให้เกษตรกรปลูกพืชเพื่อมาสร้างเป็นพืชพลังงาน ถ้าเป็นเรื่องพืชพลังงานที่จะใช้ผลิตเป็นน้ำมัน ไม่แพง แต่ในส่วนนำปาล์มน้ำมันไปผลิตไฟฟ้าอาจจะดูแพง ถ้าไม่มองภาพรวมของประเทศ เช่น ภาคใต้มีปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมัน การที่บ้านเราไม่นำปาล์มน้ำมันมาใช้ผลิตไฟฟ้า แต่โรงงานต้นแบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำเสร็จแล้วที่จ.กระบี่, ราชบุรี, บางปะกง แต่หัวใจจริง ๆ คือ จ.กระบี่ เพราะปาล์มปลูกมากที่ภาคใต้ วันนี้ปาล์มล้นตลาด และสินค้าที่เคยส่งไปที่อียู ขณะนี้ก็อาจจะมีปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับสุขภาพซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ต้องติดตามกันต่อไป 


          พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า หากเราผลิตไฟฟ้าด้วยปาล์มน้ำมัน อาจจะดูว่าต้นทุนสูงกว่าหากเทียบกับการนำถ่านลิกไนต์มาผลิตไฟฟ้า แต่สิ่งสำคัญคือปาล์มไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หากใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า มันจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวและชีวิตชาวประมงภาคใต้ ซึ่งกว่าจะคืนสภาพกลับมามันใช้เวลา สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อเกษตรกรมีตลาดที่สมบูรณ์ ผลิตออกมาก็ขายได้ สิ่งที่ตามมาคือเศรษฐกิจจะเกิดภาวะหมุนเวียน รัฐบาลจะมีรายได้คือเก็บภาษีได้มากขึ้น สิ่งต่างๆ จะต่อเนื่องกัน เครื่องจักรทุกตัวจะหมุนของมันเอง


          หากถามว่าภาระเพิ่มขึ้นไหม ผมตอบว่าไม่ เพราะเรื่องพลังงาน ถ้าพักเรื่องไฟฟ้าไว้ มาดูเรื่องของการใช้พลังงานในเรื่องรถยนต์ เราขาดดุลการค้าในเรื่องการนำเข้าปิโตรเลียมมาตั้งเยอะ ถ้าเราใช้วิธีนี้ เราจะส่งออกด้วยซ้ำไป แล้วจะได้มีรายได้กลับมา พอรัฐมีรายได้ สิ่งต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมาตามมา


          ถ้าเราบริหารโดยการใช้โครงสร้างบริหารสินค้าเกษตร คือมีกฎหมายแบบอ้อย เราจะใช้เงินที่ได้จากการขาย (เม็ดเงินอยู่ในห่วงโซ่การผลิต) เรามีของมันอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐทำในอดีตคือนำงบประมาณเข้าไปแทรกแซง แล้วนำมาซึ่งการทุจริต สิ่งที่พรรคกำลังกระทำนั้นเป็นเรื่องความยั่งยืน ถามว่าอ้อยกับน้ำตาลทำมา 35 ปี วันนี้ไม่มีปัญหาอะไรกันเลย ถ้ากฎหมายของเราทำแบบนี้ เราจะทำให้อ้อยซึ่งตันละประมาณ 800-1,000 บาท ราคาจะไปอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันทันที เพราะจะต้องนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาคิด วันนี้อ้อยคิดแค่เรื่องน้ำตาล ที่แบ่งกำไรกัน ร้อยละ 70/30 แต่ถ้านำเอากากน้ำตาลกับเอทานอลมาบวกด้วยพวกเขาจะได้ 1,200 บาทต่อตันเลย ถ้าคิดแบบนี้ รัฐเข้าบริหารจัดการควบคุม รับรองพี่น้องเกษตรกรรวย"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ