คอลัมนิสต์

"การตลาดด่วนได้"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

"การตลาดด่วนได้" เกมกำไร-ขยี้กระแส

16 ก.พ. 2562

  ถ้าคำว่า "ฟาสต์ฟู้ด" แปลภาษาชาวบ้านว่า "แ-กด่วน" เช่นนั้น "เรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง" ก็อาจแปลง่ายๆ ว่า "การตลาดด่วนได้"

 

          “พรรคนี้เห็นบ่อย” กับกระแสเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้งที่ใครๆ ต่างพากันหยิบเอากระแสเลือกตั้งมาสร้างคอนเทนต์ดีๆ ออกสู่โลกออนไลน์กันเพียบ

          จะว่าไป...ก็ทำให้สีสันบรรยากาศเลือกตั้งที่เหมือนกำลังจะห้ำหั่นกันให้ตายกันไปข้าง เบาบางและลดดีกรีความเครียดไปได้เหมือนกัน

 

การตลาดด่วนได้

 

          ถ้าคำว่า “ฟาสต์ฟู้ด” แปลภาษาชาวบ้านว่า “แ-กด่วน” เช่นนั้น “เรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง” ก็อาจแปลง่ายๆ ว่า “การตลาดด่วนได้”

          เป้าประสงค์ของเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง (Real-Time Marketing) หลักๆ เลยคือการสร้าง engagement หรือสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างทันท่วงที

          โดยเฉพาะถ้าพื้นที่ของการใช้กลยุทธ์นี้อยู่ในโลกออนไลน์แล้ว แน่นอนเป้าหมายคือ “คนรุ่นใหม่” ที่ว่ากันตั้งแต่วัยรุ่น นิสิตนักศึกษา และกลุ่มคนทำงาน ที่ล้วนมีไลฟ์สไตล์ทันสมัยเข้าถึงเทคโนโลยี

          ถามว่า “เรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง” จำเป็นขนาดไหน ตอบเลยถ้าเป็นยุคนี้สำคัญและจำเป็นมาก เพราะวิธีการของเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง คือการโหนกระแสบางอย่างที่กำลังเชี่ยวกรากอยู่ในสังคมเวลานั้น แล้วเอามาปั้นเรื่องราวสินค้าของตัวเองขึ้นมาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

 

          ที่สำคัญคอนเทนต์ต้อง “เข้าใจง่าย ได้ใจคน และซนนิดๆ” เช่นต้องมีบทสนทนาที่สนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะ และมีเนื้อหาที่มีความใกล้ชิด เกี่ยวข้องไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป้าหมาย

          ทีนี้ ถ้าแบรนด์สินค้าไหนจับจุดได้ แล้วสร้างเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้งขึ้นมาถูกจังหวะ นอกจากจะได้พื้นที่ใจจากเป้าหมายแล้ว ยังได้หน้าว่าเป็นแบรนด์ที่ทันสมัย เป็นแบรนด์ที่ใช้แล้วดูดีดูเลิศอีกด้วย

          อย่างไรก็ดีต้องแยกระหว่างการตลาดการเมืองกับเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้งโดยใช้กระแสการเมืองก่อน

          คำแรกคือ การหาเสียงของนักการเมืองโดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด  แต่คำหลังคือการเอาการเมืองมาใช้ขายของ...พูดง่ายๆ แบบนี้

 

นาทีนี้ต้องการเมือง

         เรียลไทม์มาร์เก็ตติ้งของเราตอนนี้ เห็นเลยว่านักการตลาดไทยกำลังแหวกว่ายอยู่ในกระแสของแม่น้ำการเมืองช่วงเลือกตั้งครั้งนี้กันอย่างไม่มีใครยอมใคร

         ไม่ต่างกับช่วงนี้ของปีก่อนตอนที่กระแสละคร “บุพเพสันนิวาส” มาแรง เราก็ได้เห็นการขายของชนิดที่เอามันทุกมุก โหนมันทุกมุม อย่างออเจ้าอยากกินหมูกระทะ ออเจ้าเปรี้ยวปากน้ำปลาหวาน และอื่นๆ อีกมากมายจนแซบกันไปทั่วพระนคร

         ดังนั้นถ้าถามว่าตอนนี้อะไรมาแรงก็ไม่ต้องคิดเยอะเพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือวาระที่ยิ่งใหญ่ ควรค่าแก่การฉกฉวยที่สุดแล้ว

         ยกตัวอย่างที่ปล่อยของออกมาช่วงนี้ ไม่ได้โฆษณา แต่พูดให้นึกออก เช่นแบรนด์ไก่ทอด ที่เปิดตัว “พรรคกินไก่ เท่าไหร่ก็ไม่พอ” กับนโยบาย “ส่งจริง ส่งไว ใกล้ไกลไม่เกี่ยง เย็นสายบ่ายเที่ยง เราพร้อมส่ง” ขอเป็นตัวเลือกให้สายกิน “เลือก KFC เป็นมื้อต่อไป”

         หรือ “Major Group” ที่ชาวเน็ตพากันซูฮกว่าเป็นเจ้าแห่งการตลาดด่วนได้ คนตามเพจนี้จะรู้ดีว่ามีหมดเลยทั้งข่าวการเมือง สังคม บันเทิง เจ้าแห่งการ “ขยี้กระแส” ตัวจริงอยู่ที่นี่

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

 

         วันนี้ออกมาโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง “The Prodigy” ด้วย “พรรคกลับชาติมาเกิด” และนโยบาย “ไร้หนี้ ไร้จน ไร้ปรานี” กากบาทเลือกเด็ก (จอง) เวร

         หรือเพจ “ขอบสหนัง” เพจรีวิวภาพยนตร์ ก็มากับพรรค “เพื่อหมา” โปรโมทภาพยนตร์ จอนห์ วิค 3

         แบรนด์น้ำดื่มก็มากับพรีเซ็นเตอร์หน้าหล่อขวัญใจวัยรุ่น “นาย” ณภัทร เสียงสมบุญ มาในนาม “พรรคนี้ก็จะน่ารักหน่อยๆ” พร้อมอ้อนขอคะแนนว่า “หากคิดถึงก็ดื่มน้ำ รักน้ำก็ดื่มน้ำ เหนื่อยก็ดื่มน้ำ ท้อก็ดื่มน้ำ”

         หรือ “พรรคเที่ยง” ของรายการ “เก็บตกจากเนชั่นภาคเที่ยง” ช่อง 22 ก็ไม่พลาดที่จะออกมาโหนด้วยเหมือนกัน

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส  

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

 

 

 

ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งหน้า

         กลยุทธ์การตลาดเอาเข้าจริงๆ แทบไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว หากแต่ “บริบทแห่งยุคสมัย” จะกำหนดมันขึ้นมาเองมากกว่า

        น่าสนุกดีที่ในขณะที่แบรนด์สินค้าต่างๆ พากันพึ่งพาใช้บริการ "อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย แต่อินฟลูเอนเซอร์เองก็ต้องขยันสร้างแบรนด์ให้ตัวเองด้วย

        เพราะอินฟลูเอนเซอร์ก็คือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียล นอกจากดารา คนดัง แล้ว สมัยนี้ยังรวมถึงบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ อินสตาแกรมเมอร์ อีกด้วย

        ทั้งนี้อินฟลูเอนเซอร์ต้อง “ลึก” กว่าพรีเซ็นเตอร์ ตรงที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ เช่นหากอินฟลูเอนเซอร์รับงานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เขาก็จะต้องมีไลฟ์สไตล์ที่ดูแลสุขภาพและรูปร่างจริงๆ

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

 

        แต่ในขณะเดียวกันอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อ engagement ตัวเองกับกลุ่มเป้าหมายด้วยเหมือนกัน ซึ่งกลุ่มนี้เรารู้จักในนาม “ผู้ติดตาม-follower” หรือ subcriber ผู้เป็นสมาชิก

        ดังนั้นในบริบทที่เราพูดถึงกระแสการเมืองอยู่นี้ อินฟลูเอนเซอร์หลายคนก็ทำตัวราวกับเป็น “สินค้า” เสียเอง ที่จะโหนกระแสการเมืองช่วงเลือกตั้งไปด้วย

        ถามว่าทำเพื่ออะไร แน่นอนส่วนหนึ่งเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตาม เพราะพวกเขาก็คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ย่อมสนใจเนื้อหาเรื่องเลือกตั้ง และอินฟลูเอนเซอร์คนไหนมีผู้ติดตามมากโอกาสได้งานสินค้าก็มีมาก

        แต่ในขณะเดียวกันอินฟลูเอนเซอร์ยังทำเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ติดตาม เพราะมันยังหมายถึงสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกด้วย

        วันนี้เราจึงเห็นภาพน่ารักๆ ของ "ติ๊ก" เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่เปิดตัว “พรรคที่จะล้อม” (พร้อมที่จะรัก) มากับสโลแกน “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ผลดีพิสูจน์ใจ”

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

 

        หรือแฟนเพจเฟซบุ๊กดังๆ Jaytherabbit กับภาพลักษณ์สาวโสดอยากโดดคาน ก็มาในนาม “พรรคพลังประชาคาน” เปิดนโยบายใบเสร็จ​ค่าบริการจากบริษัท​จัดหาคู่นำมาลดหย่อนภาษี ฯลฯ

 

\"การตลาดด่วนได้\"  เกมกำไร-ขยี้กระแส

 

        คือทั้งหมดนี้เมื่อคนที่เรารักออกมาเล่นกับกระแสด้วยคอนเทนต์ถูกใจ เรียกรอยยิ้ม ก็จะมีผลในทางบวกกับตัวสินค้าที่คนคนนั้น แนะนำด้วย มันเกี่ยวโยงกันหมด!

        ดังนั้นเชื่อได้เลยนับจากนี้ไปจนถึงที่ 24 มีนาคม เราน่าจะได้เห็นสีสันการขายของด้วยเนื้อหาอิงการเมือง ตีกรรเชียงคู่ไปกับการหาเสียงของนักเลือกตั้งตัวจริงอีกเยอะแน่นอน