คอลัมนิสต์

โจรไม่กลับใจ..'กำไลอีเอ็ม'(ไม่)คุมประพฤติ!

โจรไม่กลับใจ..'กำไลอีเอ็ม'(ไม่)คุมประพฤติ!

11 ก.พ. 2562

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...  กิตติพงษ์ มณีฤทธิ์


 

          โลกสมัยใหม่ต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยี เพราะช่วยทำให้เกิดความคล่องตัว สะดวกรวดเร็ว แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่อาจหลีกพ้น โดยเฉพาะในกระบวนการของ “ศาล” ที่นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยชั่วคราว ของศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยการใช้อุปกรณ์ Electronic Monitoring Center หรือที่เรียกว่า “EM” อาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “กำไลคุมประพฤติ” หรือ “กำไลอีเอ็ม” มาใช้แทนการวางเงินประกันกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

 


          กำไลคุมประพฤติที่ว่านี้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในชั้นปล่อยชั่วคราว รวมทั้งปัญหาความยากจนไม่มีเงินประกันตัว เป็นเหตุทำให้คนยากจนถูกควบคุมตัวเกือบทุกกรณี และเสียโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม และลดปริมาณผู้ต้องขังหรือผู้ต้องโทษในเรือนจำอีกด้วย ซึ่งลักษณะความผิดที่จะใช้คือคดีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี หรือหากคดีมีอัตราโทษเกิน 5 ปี หรือจำคุก 20 ปีก็อาจพิจารณาให้ใส่กำไลอีเอ็มในการติดตามตัวประกอบกับยื่นหลักทรัพย์ประกันด้วย แต่คดีผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ปริมาณมากปกติจะไม่ให้ประกัน ก็จะไม่พิจารณาใช้กำไลอีเอ็ม โดยในกลุ่มคดียาเสพติดหากใช้กำไลอีเอ็มก็จะเป็นคดีครอบครองไว้เพื่อเสพ ดังนั้นคนที่ใส่กำไลอีเอ็มส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ และยาเสพติด


          แม้จะมีประโยชน์ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กำไลอีเอ็มไม่สามารถใช้ได้กับ “สันดานโจร” เพราะเริ่มใช้ได้ไม่ถึงครึ่งปี ในจำนวน 1,800 ราย ก็มีผู้หลบหนีไปเกือบครึ่งร้อย และสามารถตามจับกุมได้ 18 ราย และทำผิดซ้ำซากไม่สนกำไลอีเอ็มที่สวมใส่อยู่เพื่อเตือนว่าตัวเองยังมีความผิดติดตัว เช่นเหตุการณ์ล่าสุด วันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ทองหล่อ ได้จับกุม นายอานนท์ ล่าชัย โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฉกนาฬิกาโรเล็กซ์เรือนหรู มูลค่า 250,000 บาท ของผู้โดยสารที่เมาหลับบนรถแท็กซี่ที่เจ้าตัวขับ และขณะจับกุมยังใส่กำไลอีเอ็มที่ข้อเท้า เพราะอยู่ระหว่างได้รับการประกันตัวคดีลักทรัพย์ในลักษณะเดียวกัน ที่ก่อไว้เมื่อปี 2561 แถมเช็กประวัติก็เคยก่อเหตุลักทรัพย์อีกยาวเหยียดหลายคดีตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา


          อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ รอง ผกก.สส.สน.ทองหล่อ แนะนำว่า เมาไม่ขับกลับแท็กซี่เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าเมาจนขาดสติ ไม่ควรนอนหลับบนรถไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ หรือรถส่วนบุคคลอื่นเด็ดขาด ต้องนึกไว้เสมอว่าไม่สามารถไว้วางใจใครได้ แนะนำให้ชวนพูดคุย เพื่อสังเกตอากัปกิริยา เมื่อใดรู้สึกว่าคนขับมีท่าทีไม่น่าไว้วางใจ มีการขับอ้อม ออกนอกเส้นทาง เปิดแอร์เย็น เพื่อให้รู้สึกง่วงนอน เราควรจะรีบกดหาหมายเลขโทรศัพท์บุคคลที่ไว้ใจได้ ไว้เป็นหมายเลขโทรหา หากเกิดเหตุฉุกเฉินทันที


          “สำหรับบริษัท หรือสหกรณ์รถแท็กซี่ หรือผู้ให้เช่ารถแท็กซี่ ควรมีวิธีการคัดกรองบุคคลที่จะเช่ารถไปให้บริการประชาชน แต่ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงประวัติอาชญากร จึงขอแนะนำให้ใช้วิธีนำชื่อบุคคลนั้นไปเสิร์ชในเว็บไซต์ว่าเคยตกเป็นข่าวอาชญากรรมหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะเคยตกเป็นข่าวมาแล้ว และให้ตรวจสอบใบขับขี่รถสาธารณะว่า บุคคลนี้มีประวัติอะไรหรือไม่ ส่วนกรณีนายอานนท์ ไม่ได้เช่ากับทางบริษัทแต่อย่างใด เจ้าตัวใช้วิธีไปติดต่อขอซื้อรถคันก่อเหตุเอง จึงทำให้ไม่ได้รับการตรวจสอบว่ามีการติดกำไลอีเอ็มที่ข้อเท้า” พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ ระบุ


          ว่ากันว่า “สันดอนขุดได้ สันดานขุดยาก” พฤติกรรมไร้สำนึกแบบนี้ ทำให้สังคมยากที่จะให้โอกาส จนส่งผลให้ “โจรกลับใจ” เมื่อพ้นโทษ ที่อยากหากินสุจริต ยังถูกสังคมปฏิเสธเป็นส่วนใหญ่..!!