คอลัมนิสต์

'นพ.เรวัต วิศรุตเวช'สมบัติของคนไทยชิ้นสุดท้ายที่ต้องรักษาไว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... สมัชชา หุ่นสาระ

 

 

          “สิ่งที่จะทำให้โครงการนี้ (30 บาท) ยั่งยืนคือใช้งบประมาณปกติ โดยไม่ต้องอิงภาษีบาป รัฐบาลต้องทำให้โครงการยั่งยืนและเดินหน้า โดยจัดสรรงบปกติจากกระทรวงอื่นที่ไม่จำเป็นมากนักมาใช้ เช่น งบกระทรวงกลาโหมบางส่วน”

 

 

          โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (บัตรทอง) คือโครงการที่ครองใจชาวบ้านในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังเริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี 2545 เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำประโยชน์ให้ประชาชนโดยตรง ทำให้ประชาชน 48 ล้านคนทั่วประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับ เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง จากแต่เดิมมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการรักษา รวมถึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบภาวะล้มละลายจากภาระค่ารักษาพยาบาลนี้

 

          “นพ.เรวัต วิศรุตเวช” อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ และเคยผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมาแล้ว แต่ต้องวืดจากเก้าอี้นี้เพราะบางเหตุผลทางการเมืองที่เจ้าตัวมิอยากเอ่ยถึง


          วันนี้ นพ.เรวัต สวมเสื้อ “พรรคเสรีรวมไทย” ลงทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรคดูแลงานด้านสาธารณสุขและสังคมให้พรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้อย่างไร


          "ผมรับราชการในกระทรวงสาธารณสุข รักษาคนไข้มาเยอะ คำหนึ่งที่แสลงใจผมมากในตอนนั้นคือ คนไข้หรือผู้ป่วยอนาถา เพราะคนจนที่ยากไร้เวลารับการรักษาพยาบาลไม่มีเงินชำระ โรงพยาบาลนั้นๆ ต้องรักษาฟรี 


          เมื่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นเมื่อปี 2544-2545 โดยนำรูปแบบ “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” มาดำเนินการ ผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมดำเนินการโครงการนี้จนคำว่าคนไข้อนาถาหายไป เพราะสิทธินี้ให้คนไทยทุกคนตั้งแต่ร่ำรวยจนถึงยากไร้ ความเสมอภาคตรงนี้คือสิทธิที่คนไทยต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล หลายคนรอดจากการเสียชีวิตและหายจากโรคร้าย"




          นพ.เรวัติ บอกว่า ตอนนั้นสู้กันหนักเพราะงบประมาณน้อย แต่วันนี้ดีขึ้นแต่ต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ฝากความหวังไว้ที่โครงการนี้ และเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกชี้ว่ามันคือการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศและเป็นตัวอย่างที่หลายชาติมาดูงาน โดย นพ.จิม ยองคิม ผอ.ธนาคารโลก บอกว่า บัตรสามสิบบาทลดความยากจนในประเทศ และ พญ.มากาเร็ต ชาน ผอ.องค์การอนามัยโลก ก็ชื่นชมความสำเร็จของโครงการนี้


          ดังนั้นบ้านแพ้วโมเดลต้องต่อยอดให้คลุมทั้งประเทศ พรรคมองว่าบัตรสามสิบบาทลดจำนวนครัวเรือนที่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยปีละกว่าแปดหมื่นครัวเรือน ถือว่าไม่น้อยเลย เพราะที่ผ่านมาคนยากจนหากเจ็บป่วยหนัก บางคนต้องจำนอง จำนำ ขายสินทรัพย์เพื่อรักษาตัวจนหมดตัวและล้มละลาย แต่เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นชาวบ้านจำนวนมากไม่ต้องทุกข์เลย


          “โครงการนี้ผมมองว่าเลิกไม่ได้ และก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลกำลังพิจารณาโครงการนี้ว่าควรดำเนินการต่อหรือไม่ หรือจะมีการแก้ไขบางอย่างไม่ให้เหมือนเดิม จุดยืนของพรรคคือเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่อสวัสดิการของประชาชนและสังคม โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่ต้องขยายผลให้มากกว่าและครอบคลุมการรักษาโรคอื่นๆ ที่มาตรการนี้ยังไปไม่ถึง ประสบการณ์ที่ผมติดตัวมาจากการรับราชการที่จะเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อไปในนามพรรคคือ คำว่าคนไข้อนาถาต้องไม่กลับมาอีก เพราะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือจะเรียกว่าบัตรทอง หรือบัตรสามสิบบาทรักษาทุกโรคก็ตาม มันคือสมบัติชิ้นสุดท้ายของคนไทย และไม่ใช่สมบัติของพรรคใดๆ”


          หมอเรวัติ กล่าวอีกว่า สภาวะในวันนี้ในด้านสาธารณสุขตั้งแต่ คสช.เข้ามาพบว่าการให้บริการด้านนี้ไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่พรรคและตนจะผลักดันหากได้โอกาสเข้าไปทำหน้าที่หลังการเลือกตั้งคือ ต่อยอดโครงการนี้ให้ดีขึ้น ตอนนี้ตั้งชื่อเล่นไว้ว่า โครงการ 30 บาท+ (30 บาทพลัส) เพราะชาวบ้านได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยจะครอบคลุมการรักษาโรคอื่นๆ เพิ่มขึ้น ลดความแออัดในสถานประกอบการสาธารณสุข วันนี้หากไปดูโรงพยาบาลต่างๆ คนไข้มาเยอะ หากเรานำระบบไอทีและออนไลน์มาใช้ เช่น จองคิวล่วงหน้าที่จะพบแพทย์ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น แทนที่จะมากดบัตรคิวตั้งแต่เช้ามืด ลดความแออัดไปได้เยอะ ประหยัดเงินและเวลาของชาวบ้านที่เสียไป รวมทั้งการติดตามคำวินิจฉัยหรือคำรับรองของแพทย์ที่จะให้คนไข้ก็ให้ใช้วิธีแจ้งผ่านระบบออนไลน์ไป ง่าย สะดวก เร็ว ประหยัด ลดขั้นตอน


          นอกจากนี้สร้างระบบไกล่เกลี่ยและเยียวยาในความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลที่มีเหตุสุดวิสัย การดูแลบุคลากรในระบบ เพราะวันนี้บุคลากรสาธารณสุขทำงานเยอะมาก ควรปรับระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนเพื่อจูงใจให้พวกเขาทำงานด้วยความสุขเพื่อมิให้อัตราสมองและแรงงานไหลออกไปยังเอกชน รวมทั้งให้ภาคประชาชนมีส่วนกำกับการบริหารโรงพยาบาลในพื้นที่ และให้ผู้บริหารโรงพยาบาลมีอิสระในการบริหารงานโรงพยาบาลของตัวเอง โดยยึดรูปแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่ต้องนำรูปแบบโครงการนี้มาดำเนินการใหม่ให้ดีและครอบคลุม 


          รวมทั้งปรับระบบการจ้างงานในกระทรวงใหม่ให้รองรับการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในระบบ ตรงนี้จะสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมีกำลังใจในการทำงานและปรับปรุงระบบห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งของภาคเอกชนและรัฐ โดยให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเพื่อไม่ให้คนไข้ฉุกเฉินรอการรักษาที่ยาวนาน พูดง่ายๆ ระบบต่างๆ ในข้างต้นต้องเดินคู่กันไป


          “หากถามว่าเหมือนรื้อระบบกระทรวงและต้องใช้งบเพิ่ม ขอตอบว่าอาจจะเป็นแบบนั้น แต่พรรคมีวิธีในการบริหารจัดการ ผมผ่านงานบริหารระดับสูงในกระทรวงมาหลายปี ขอชี้แจงว่าสิ่งที่จะทำให้โครงการนี้ยั่งยืนคือใช้งบประมาณปกติ โดยไม่ต้องอิงภาษีบาป รัฐบาลต้องทำให้โครงการยั่งยืนและเดินหน้า โดยจัดสรรงบปกติจากกระทรวงอื่นที่ไม่จำเป็นมากนักมาใช้ เช่น งบกระทรวงกลาโหมบางส่วน เป็นต้น หากทำได้โครงการนี้จะช่วยคนไทยได้มากขึ้น”


          “เร็วๆ นี้ จะเปิดนโยบายด้านนี้ที่ต้องต่อยอดโครงการนี้ เพราะผมมองว่าสุขภาพของคนไทยคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาชาติ คนของเราต้องมีสุขภาพดี ปัญหาอื่นๆ จะลดลงไปตามลำดับ ย้ำว่าจุดยืนของพรรคและผมคือโครงการนี้คือสมบัติของคนไทยชิ้นสุดท้ายและต้องรักษา รวมทั้งต่อยอดให้ดีขึ้นๆ ไป”


          งบประมาณกระทรวงสาธารณสุขปี 2561 จำนวน 262,439.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.72
          กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 126,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.84
          เหมาจ่ายรายหัว 3197.32 บาท ประชากร 48.797 ล้านคน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ