คอลัมนิสต์

ภาค ปชช. ชงรัฐเลิกระบบ"สงเคราะห์คนจน" เป็น "รัฐสวัสดิการ"

โดย... พรทิพย์ ทองดี


 


          ในช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆ กำลังเริ่มเสนอนโยบายหาเสียงต่อประชาชน ด้านเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WE FAIR) ก็ได้จัดเวทีสาธารณะเรื่องการจัดรัฐสวัสดิการและระบบบำนาญถ้วนหน้าในระดับภาคขึ้นมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้ง 4 ภาค รวม 260 คน ยื่นข้อเสนอการจัดรัฐสวัสดิการและระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าต่อพรรคการเมือง โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองมาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายและแนวโน้มความเป็นไปได้ในการนำไปจัดทำเป็นนโยบายร่วมกันกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการทั้งสิ้น 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคสามัญชน พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคเกียน ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

 

 

          ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WE FAIR) เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่าย People go Network และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเห็นการยกระดับให้เกิดรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและแก้ปัญหาความยากจนของคนในชาติ

 

 

ภาค ปชช. ชงรัฐเลิกระบบ\"สงเคราะห์คนจน\" เป็น \"รัฐสวัสดิการ\"

 


          “จอน อึ๊งภากรณ์” ได้อธิบายถึงระบบรัฐสวัสดิการว่า ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่รัฐทำหน้าที่ดูแลกำกับให้ประชาชนทุกส่วนมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิต ในระดับที่พออยู่พอกินตั้งแต่เกิดจนตาย หรือตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน โดยมีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสิทธิ์ ซึ่งโดยหลักแล้วจะประกอบด้วย หลักประกันถ้วนหน้า ในเรื่องของที่อยู่อาศัย เรื่องของสุขภาพ การศึกษา ด้านรายได้ และด้านบริการทางสังคมต่างๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิต


          “ระบบรัฐสวัสดิการนั้นมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบการสงเคราะห์คนยากคนจน เช่น ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยจุดที่แตกต่างกันนั้นคือ ระบบรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันของทุกคนไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ไม่ใช่บัตรเพื่อคนจนอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

 



          เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WE FAIR) ระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และที่สำคัญคือ คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและถูกทดแทนด้วยระบบสังคมสงเคราะห์


          “เสนอว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมต้องใช้ระบบรัฐสวัสดิการ ไม่ขอเอาการสงเคราะห์จ่ายเงินแบบชั่วคราวแล้วไม่มีหลักประกันอย่างที่ผ่านมา เพราะประชาชนส่วนหนึ่งต้องเจอกับสภาวะที่ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหน รายได้ก็ไม่พอใช้จ่าย หรือพอใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนแต่ก็ไม่มีศักยภาพในการออม จึงทำให้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ”

 

 

 

ภาค ปชช. ชงรัฐเลิกระบบ\"สงเคราะห์คนจน\" เป็น \"รัฐสวัสดิการ\"

 


          ทางเครือข่ายจึงได้มีข้อเสนอต่อการจัดรัฐสวัสดิการและระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าที่ยื่นต่อพรรคการเมือง ดังนี้
          1.เสนอให้มี “การประกันรายได้ โดยการจัดระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า”
          - เปลี่ยนการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับทุกคน โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เส้นความยากจน หรืออย่างน้อย 3,000 บาทต่อเดือน


          - ผลักดันให้เกิดกฎหมายระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัย ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วยระบบบำนาญพื้นฐานโดยเสมอภาค การส่งเสริมการออมเพื่อบำนาญ เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศสำหรับประชาชนแต่ละอาชีพ ทั้งแรงงานในระบบ ข้าราชการ และแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงเกษตรกร


          - ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเป็นกลไกในการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน บูรณาการกฎหมาย และหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการเรื่องบำนาญในปัจจุบัน เพื่อสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการ การกำกับดูแล โดยองค์กรกำกับดูแลต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้


          - รัฐสนับสนุนให้ประชาชนออม เพื่อได้รับบำนาญเมื่อสูงอายุ โดยรัฐร่วมจ่ายสมทบเพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม และเพื่อให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าสู่การออมได้


          2. เสนอให้มี “การจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า”
          - สวัสดิการสำหรับเด็กและนักเรียน รัฐช่วยค่าเลี้ยงดูบุตรให้เด็กไทยทุกคน ในอัตราที่เท่ากับสิทธิประโยชน์ผ่านกองทุนประกันสังคม คือคนละ 600 บาทต่อเดือนจนถึงอายุ 6 ปี มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนทุกคนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

 

 

 

ภาค ปชช. ชงรัฐเลิกระบบ\"สงเคราะห์คนจน\" เป็น \"รัฐสวัสดิการ\"

 


          - ด้านการศึกษา จัดให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี โดยเพิ่มค่าครองชีพเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนที่ยากจน เพิ่มระดับคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันมากขึ้น


          - สวัสดิการสำหรับคนวัยทำงาน การมีหลักประกันรายได้สำหรับทุกคน รัฐจัดสวัสดิการรายได้ให้ทุกคนขั้นพื้นฐานที่ 3,000 บาทต่อเดือน
          - สวัสดิการด้านสุขภาพ ทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพ โดยควรปรับให้เป็นระบบเดียว บริหารจัดการร่วมกัน และจัดให้มีสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพที่เท่าเทียม


          3. เสนอให้เปลี่ยนนโยบายด้านการพัฒนาคนที่เป็นลักษณะของการสงเคราะห์ “โดยยกเลิกนโยบายสวัสดิการที่ใช้วิธีจ่ายเงินแบบชั่วคราว เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แต่ปรับระบบให้มีการจัดสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็น ยั่งยืน และเพียงพอแบบถ้วนหน้า ให้ทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน คือ อย่างน้อยต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพ หลักประกันรายได้เลี้ยงดูเด็กเล็ก หลักประกันการศึกษา หลักประกันเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และหลักประกันรายได้เมื่อสูงวัย-บำนาญถ้วนหน้า


          4. เสนอให้มี “การปฏิรูปโครงสร้างภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น” เช่น ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีหุ้น และทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปพร้อมกัน การสร้างความยั่งยืนของระบบสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า เช่น การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การลดสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การพิจารณาจัดเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของทรัพย์สินและทุน เป็นต้น

 

 

 

ภาค ปชช. ชงรัฐเลิกระบบ\"สงเคราะห์คนจน\" เป็น \"รัฐสวัสดิการ\"

 


          และได้ออกแถลงการณ์ มีใจความว่า เราคือประชาชนธรรมดาที่ยากจนหรือเกือบจน เป็นแรงงานรับจ้าง เป็นเกษตรกร ทั้งคนเฒ่าชรา คนหนุ่มคนสาว และลูกหลานของเรา ที่ยิ่งขาดโอกาสเข้าถึงหลักประกันใดๆ ในชีวิต


          เมื่อกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตรอด ประชาชนต้องได้รับการดูแลโดยเสมอหน้ากัน มีสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนยามชราภาพก่อนสิ้นอายุขัย ข้ออ้างที่ผู้นำและนักการเมืองพร่ำพูดเสมอว่ารัฐมีเงินไม่มากพอที่จะจัดสวัสดิการ เป็นคำพูดที่ง่าย ปัดภาระออกจากตัวโดยไม่คำนึงถึงภาระหน้าที่ที่ตนเองอาสาเข้ามาเป็นรัฐบาล


          รัฐจัดสรรงบประมาณเต็มที่ในการจัดบำนาญให้ข้าราชการ จำนวนบำนาญข้าราชการนับว่าสูงที่สุด รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง ให้มีระบบประกันสังคมที่มีระบบบำนาญในจำนวนไม่สูงมากนัก และรัฐผลักภาระบำนาญของประชาชนทั่วไป ให้เป็นการออมด้วยตนเอง โดยรัฐเพียงสนับสนุนเล็กน้อย 


          นับเป็นความเหลื่อมล้ำในระบบบำนาญของรัฐไทย เมื่อประชาชนส่งเสียงดังขึ้นถึงความไม่ยุติธรรมนี้ รัฐก็เพียงแต่เลือกหนทางที่ง่ายที่สุดในการจัดการปัญหา ด้วยการลงทะเบียนคนจน เพื่อจะได้อ้างว่างบที่มีจำกัด ควรจัดสรรให้เฉพาะคนจนเท่านั้น


          เราขอยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเสมอหน้ากัน

 

          เราขอเรียกร้องให้บูรณาการระบบบำนาญของทุกกลุ่มคนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน นั่นคือมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือเริ่มต้นบัดนี้ด้วย 3,000 บาทต่อเดือน ยกเลิกระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณบำนาญพื้นฐาน ยกระดับรายได้ของประชาชน หรือมีหลักประกันรายได้ให้แก่คนทำงานทุกคน เพื่อจะได้มีกำลังสะสมออมเพื่อบำนาญของตนได้ เป็นส่วนเสริมจากบำนาญพื้นฐานที่แต่ละคนมีอยู่แล้ว


          เราประชาชนธรรมดา ขอแถลง ณ ที่นี้ว่า เราต้องการให้รัฐนี้สร้างหลักประกันยามชราภาพให้ทุกคน โดยการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณอย่างเป็นธรรม กระจายความมั่งคั่ง ปฏิรูประบบภาษี และเชื่อมั่นว่าประชาชนมีศักยภาพ มีศักดิ์ศรีเมื่อได้รับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้ากัน


          จากข้อเสนอของทางเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WE FAIR) ที่มีความต้องการจะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพ เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” นั้น ในแต่ละพรรคการเมืองทั้ง 7 พรรค ที่เข้าร่วมต่างก็มีความคิด เป้าหมาย และนโยบายที่คล้ายคลึงกันอยู่กับทางเครือข่ายที่สามารถจะช่วยผลักดันข้อเสนอดังกล่าวได้ ในรูปแบบของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งก็ได้มีการพูดถึงการผลักดันทางด้านกฎหมาย และมีข้อเสนอที่สำคัญคือการปฏิรูประบบภาษีในส่วนต่างๆ ใหม่ รวมถึงการปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลง เพื่อจะได้มีเม็ดเงินมาสร้างระบบสวัสดิการทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.การศึกษา 2.พยาบาล 3.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.งาน รายได้และประกันสังคม 5. ระบบบำนาญแห่งชาติ 6.สิทธิทางสังคมและพหุวัฒนธรรม และ 7.การปฏิรูประบบภาษี


          ก็คงติดตามกันดูว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายในเรื่องของรัฐสวัสดิการออกมาอย่างไร 


          แล้ว “เลือกตั้งครั้งนี้...รัฐสวัสดิการต้องมา” ตามหัวข้อที่เวทีสาธารณะครั้งนี้ตั้งไว้ ในความเป็นจริงจะมาหรือไม่ต่อไป