คอลัมนิสต์

ความลับ "ปาบึก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พายุ "ปาบึก" ปลุกภาพจำที่ไม่อยากจำในอดีตผุดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะชาวใต้ เผชิญมหาวาตภัยมาหลายหน ความรุนแรง ความสูญเสีย ไม่มีใครอยากเห็น


 

          แต่หลายคนยังกังขาเรื่องชื่อพายุ พลันสืบค้นจาก "บอร์ดพายุไต้ฝุ่น" จึงรู้ที่มาของ "ปาบึก"? 


          ขณะที่ “พายุปาบึก” ขึ้นฝั่งอาละวาดที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช แม้จะลดกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน จากที่หวั่นเกรงกันว่าจะรุนแรงเป็น “ไต้ฝุ่น” ที่ไม่ต่างจากพายุเกย์ในอดีต แต่ทั้งลมฝนก็กระหน่ำรุนแรงทำเอาคนไทยอกสั่นขวัญผวาไปทั้งประเทศ

 

 

          อย่างไรก็ดีพายุวนมาทีไรก็ให้สงสัยถึงชื่อเสียงของมันทุกทีว่าทำไมถึงชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่ละชื่อก็สุดจะบรรยาย


          และงวดนี้กับชื่อ “ปาบึก” ก็ทำให้คนไทยเกิดข้อสงสัยขึ้นมาอีกว่าใครหนอช่างตั้ง?


 


          กำเนิดเกิดนาม


          ถามว่าอะไรคือ “หลักเกณฑ์” ในการตั้งชื่อพายุ ตอบเลยว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรตายตัวมากนัก เพราะอย่างพายุทุเรียน ก็ไม่ได้หมายความว่า รูปร่างของพายุลูกนั้นจะเหมือนทุกเรียนที่ตรงไหน


          แต่ที่มาที่ไปของการตั้งชื่อหากเป็นในยุคปัจจุบันหลักๆ คงเป็นเรื่องของ “ความเสมอภาค” หากแต่ในอดีตกลับมีเรื่องเล่าถึงการตั้งชื่อที่สนุกสนานกว่านี้มาก


          เล่ากันว่าการตั้งชื่อพายุนั้นมาบรรดานักเดินเรือ ที่เวลาออกทะเลไปนานๆ ก็มักจะคิดถึงลูกเมียที่บ้าน พอเจอพายุลูกไหนเข้ามาก็มีการตั้งชื่อเรียกตามชื่อภรรยา หรือลูกของตนเอง


          ขณะที่บางแหล่งก็ว่ากันว่า ที่ต้องตั้งชื่อผู้หญิงก็เพื่อฟังแล้วจะรู้สึกอ่อนโยนอ่อนหวาน ทำให้ดูรุนแรงน้อยลง


          สวนทางกับบางแหล่งที่ว่าการตั้งชื่อแม่นางคนนั้นคนนี้จะช่วยทำให้นึกออกว่าพายุลูกนี้มีระดับความรุนแรงขนาดไหน

 

ความลับ \"ปาบึก\"

 


          จนมาถึงยุคต่อมา แนวคิดการตั้งชื่อพายุถูกจัดระเบียบมากขึ้น หนึ่งในบุคคลแรกๆ ที่กำหนดแนวทางการตั้งชื่อพายุด้วยชื่อเฉพาะก็คือ “คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี” นักอุตุนิยมวิทยา


          ชายผู้นี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง “สมาคมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย” มีผลงานจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักอุตุนิยมวิทยาประจำรัฐควีนส์แลนด์


          ต่อมาเขาก็เกิดแนวคิดที่จะให้มีการตั้งชื่อพายุด้วยชื่อเฉพาะ โดยครั้งแรกเขามีความคิดจะตั้งตามตัวอักษรกรีก แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อตามเทวปกรณ์ของชาวโพลีนีเซีย




          ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อผู้หญิงที่ให้ความอ่อนโยน และชื่อนักการเมืองที่เขาเปรียบเทียบว่านักการเมืองนำหายนะมาสู่ประเทศไม่ต่างจากพายุร้าย


          แต่หลังจากแรกกีเกษียณอายุ แนวคิดนี้ก็เงียบหายไปนานกว่า 60 ปี จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พี่กันก็โผล่มาเสียบ


          โดยนักอุตุนิยมวิทยาในกองทัพอเมริกัน ได้รื้อฟื้นการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนขึ้นมาอีกครั้งด้วยชื่อสตรีตามอย่างอดีต แต่พอหลังสงครามสงบวิธีการตั้งชื่อได้เปลี่ยนไปเรียงตามลำดับตัวอักษร


          ที่สุดเมื่อโลกผ่านยุคสมัยมาการตั้งชื่อพายุก็กลายเป็นหน้าที่ของ “องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” แต่ช่วงแรกชื่อพายุก็ยังออกแนวฝรั่งจ๋าไปเสียหมด!


          อย่างพายุเกย์ที่เคยขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ของไทยเราช่วงปี 2532 ก็มีชื่ออยูในชุดนี้ หากที่จริงแล้วบนโลกใบนี้ยังมีพายุชื่อต่างๆ อยู่อีกมาก เรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่


 


          ปาบึกคึกคะนอง

 


          กลับมาที่โซนบ้านเรา หรือโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้


          ราวปี 2543 สมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก 14 ประเทศ ได้มีข้อตกลงระหว่างประเทศให้ตั้งชื่อพายุแบบใหม่ขึ้นมา


          ที่สุดสมาชิกอันมี ไทย กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ-ใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์ สหรัฐ และเวียดนาม

 

 

ความลับ \"ปาบึก\"

 


          ก็คิดและส่งรายชื่อพายุในภาษาท้องถิ่นตนเองมาประเทศละ 10 ชื่อ รวมเป็น 140 ชื่อ หมุนเวียนใช้ตามลำดับการเกิด


          ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ โดยเรียงลำดับชื่ออักษรอังกฤษของประเทศ เริ่มจากกัมพูชาและเวียดนามอันดับสุดท้าย ไทยเราอยู่อันดับ 12


          เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง


          ที่สุดไทยเราได้ตั้งชื่อพายุตามลำดับดังนี้ พระพิรุณ, มังคุด (เปลี่ยนจากทุเรียน), วิภา, บัวลอย (เปลี่ยนจากรามสูร), เมขลา, อัสนี (เปลี่ยนจากมรกต), นิดา, ชบา, กุหลาบ และขนุน


          ลาวก็ได้ชื่อพายุตามลำดับดังนี้ บอละเวน, ปาบึก, ฟานทอง, จำปี (เปลี่ยนจากเกดสะหนา), หีนหนามหน่อ (เปลี่ยนจากนกเต็น), หลี่ผี (เปลี่ยนจากซ้างสาน), ฟ้าใส, จันหอม, น้ำเทิน และปาข่า (เปลี่ยนจากมัดสา)


          ต่างก็เป็นชื่อเฉพาะไปตามภาษาและวัฒนธรรมของท้องที่ผู้ตั้งชื่อไปนั่นเอง

 

 

 

ความลับ \"ปาบึก\"


          อย่างปาบึก แน่นอนหมายถึง “ปลาบึก” แต่สะกดอย่างภาษาลาวที่ไม่มี ล.ลิงควบกล้ำ ก็คือปลาน้ำจืดไร้เกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งชาวลาวนับเป็น "ราชินีแห่งสายน้ำ” แห่งลุ่มน้ำโขง


          ทั้งนี้่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปาบึกเคยว่ายมาทำความเดือดร้อนแก่ชาวโลก ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นพายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2544 ที่ส่งผลกระทบญี่ปุ่น, พายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2550 ส่งผลกระทบไต้หวันและจีน, พายุโซนร้อนกำลังแรงปาบึก ปี 2556 กระทั่งมาถึงพายุโซนร้อนปาบึก พ.ศ.2562 อันนับเป็นพายุลูกแรกของปีนี้นั่นเอง


 


          วัดกำลังพายุ

 


          อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าบรรดาชื่อเสียงเรียงนามของพายุนั้น ในอดีตไม่มีแบบแผนตายตัว หากปัจจุบันเป็นเรื่องของความเสมอภาค


          ไม่เพียงเสมอภาคในแง่ที่ว่าประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการตั้งชื่ออย่างเท่าเทียมกัน แต่ยังเสมอภาคที่มีการเปิดโอกาสให้ใช้ภาษาของท้องถิ่นตน รวมไปถึงการตั้งชื่อโดยไม่ต้องติดกังวลว่าจะหมายถึงเพศไหน


          อย่างไรก็ดีเมื่อพบว่าพายุลูกไหนสร้างความหายนะรุนแรงมากก็จะมีการเปลี่ยนชื่อไปในที่สุดอีกด้วย ในทำนองเหมือนการแก้เคล็ด


          แต่แบบแผนที่ควรพูดถึงอีกอย่างน่าจะหมายถึงการเรียกประเภทพายุมากกว่า เพราะนี่คือสิ่งที่แสดงถึงระดับความรุนแรงที่แท้จริง!


          กล่าวสำหรับ “พายุหมุนเขตร้อน” สามารถเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก ทั้งนี้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กม.ขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ


          ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด!!


          สำหรับการจัดประเภทของพายุยังแตกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด หรือบริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นเป็นประจำ


          เช่นมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกเรียกว่า “ไต้ฝุ่น” มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโกเรียกว่า “เฮอร์ริเคน” เช่นเดียวกับโซนมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก


          ขณะที่โซนมหาสมุทรอินเดียเหนือเรียกว่า “ไซโคลน” เช่นเดียวกับโซนมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย


          ไทยเราอยู่ในโซนของ "มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้“ ซึ่งมีการพิจารณาความรุนแรงของพายุ โดยดูที่ “ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลาง” ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ


          กล่าวคือถ้าเรียก “พายุดีเปรสชันเขตร้อน”  จะมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง), ถ้าเรียก “พายุโซนร้อน” ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)


          ส่วน “พายุไต้ฝุ่น” จะมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป


 


          ชื่อนี้ที่ยากจะลืม


          ย้อนความจำเกี่ยวกับพายุร้ายๆ ที่เคยเข้าไทย แน่นอนที่กล่าวถึงกันมากตอนนี้มีสองชื่อก็คือ “พายุไต้ฝุ่นเกย์” และ “พายุโซนร้อนแฮเรียต” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีเส้นทางการเคลื่อนตัวคล้ายกันกับเส้นทางของพายุโซนร้อนปาบึกในขณะนี้


          สำหรับพายุไต้ฝุ่นเกย์นั้น นับเป็นพายุไต้ฝุ่นครั้งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายูรอบ 35 ปี แรกเริ่มพายุก่อตัวขึ้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน ในอ่าวไทยตอนล่าง


          จนเข้าวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ไต้ฝุ่นเกย์เคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนบนด้วยความเร็วถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นในระดับ 3


          มันถล่ม อ.เมือง อ.บางสะพานน้อย และอ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.ท่าแซะ และอ.ปะทิว จ.ชุมพร สร้างความเสียหาย มหาศาลแก่บ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม และมียอดระบุว่า รวมประเทศที่ได้รับผลกระทบและไทยแล้วมีผู้เสียชีวิต 1,060 ราย โดยที่ไทยมีจำนวนเกือบครึ่ง!


          พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ไทยในระดับไต้ฝุ่น สร้างความเสียหายให้ไทยเรามากที่สุดในรอบ 27 ปี นับแต่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุกในปี 2505


          ส่วน พายุโซนร้อนแฮเรียต (ซึ่งตั้งชื่อโดยฟิลิปปินส์ ที่จะแยกตั้งชื่อตามเขตรับผิดชอบของตนอีกชุดหนึ่งต่างหาก)


          พายุลูกนี้ในอดีตเริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำ เป็นพายุดีเปรสชันก่อนในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งเวียดนามตอนใต้ช่วง 22 ตุลาคม 2505


          จากนั้นเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทยและทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่งสงขลา


          แล้วก็เปลี่ยนทิศทางตรงไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เคลื่อนขึ้นฝั่งในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช


          ความเร็วลมสูงสุดวัดตอนนั้นคือ 95 กม.ต่อชม. สร้างความเสียหายชนิดแหลมตะลุมพุกราบเป็นหน้ากลองด้วยคลื่นที่สูงกว่า 3 เมตรได้ทำลายบ้านเรือนหมดสิ้นทั้งหมด


          คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 900 ราย และอีกนับหมื่นสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเพราะการสื่อสารในขณะนั้นยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ชาวบ้านจึงไม่ทันตั้งรับ ว่ากันว่าวิทยุสักเครื่องก็ยังไม่มี!


          มาวันนี้ “ปาบึก” กำลังทำให้ภาพจำที่ไม่อยากจำในอดีตผุดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะกับชาวนครศรีธรรมราช ก็ได้แต่หวังว่า ไม่ว่าจะร้ายหรือดี คนไทยจะก้าวไปด้วยกัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ