คอลัมนิสต์

วุ่นๆยุ่งๆกันอีกหลายยกกับการเมืองไทย

วุ่นๆยุ่งๆกันอีกหลายยกกับการเมืองไทย

28 พ.ย. 2561

วุ่นๆยุ่งๆกันอีกหลายยกกับการเมืองไทย : คอลัมน์... ขยายปมร้อน  โดย...  เร้นกาย ไร้เงา

 
    

          ปิดกล่องการย้ายพรรคกันแล้วสำหรับผู้ที่อยากอาสาทำงานเป็นผู้แทนฯ ในสภาหินอ่อน เรียกว่ามีการย้ายพรรคแบบชุลมุนจนถึงเส้นตายไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา...เสียงฮือฮาที่ดังไปทั้งบางเมื่อหลายวันก่อนรวมทั้งช่วงเย็นวันจันทร์นั้น หลายฝ่ายเพ่งตรงไปยัง “พลังประชารัฐ” ว่าเหตุใด...คนเสื้อแดง, คนการเมืองจากขั้วต่างๆ และอดีต ส.ส.จากสองพรรคใหญ่แตกตัวมาร่วมสังฆกรรมกับ ”พปชร.” บนหลากเหตุผล คือ “ข่าว” ที่สื่อและสังคมสนใจที่สุดในหน้าข่าวการเมือง

 

 

          เมื่อสถานการณ์ข้างต้นยุติ ตอนนี้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต่างรอลุ้นเพียงว่าสิ้นเดือนนี้ “เขตเลือกตั้ง” ที่กกต.กำลังพิจารณานั้นจะออกมาในรูปแบบใด จากนั้นไปลุ้นต่อว่ากติกาจากผลการประชุมร่วมกับพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ในวันที่ 7 ธันวาคม เพื่อพิจารณารับความคิดเห็นถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมนั้นจะออกมาแบบใดและทำอะไรได้บ้าง...แม้บางพรรคที่อยู่ตรงข้ามบิ๊กตู่ลั่นวาจาแล้วว่า ”ไม่ร่วมวง” ด้วยเหตุผลของตัวเอง


          จากนั้นรอลุ้นอีกขั้นว่า "บิ๊กตู่” จะเผยความในใจเมื่อใดเกี่ยวกับการทำงานการเมือง (ปัจจัยนี้มีทั้งลบและบวกบนเวทีการเมืองของทุกพรรค) รวมทั้งต้องอ่านความเป็นไปได้ของโพลล์แต่ละสำนักที่จะบอกอะไรบางอย่าง ซึ่งสังคมบางส่วนคิดอ่านบนกระดานการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่ชาวบ้านจะกาแต้มให้มาทำหน้าที่ “สร.1แห่งตึกไทยคู่ฟ้า” นั้นจะเป็นคนหน้าเดิมหรือคนหน้าใหม่...


          ที่ชัดแล้วในยามนี้คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีหน้า คือวันหย่อนบัตรของคนไทยสี่สิบล้านคนที่จะต้องออกไปกาบัตรหนึ่งใบได้ทั้งคนได้ทั้งพรรค และรอดูว่า “พรรคใดจะวิน พรรคไหนจะวืด...”

 

          แต่ปรากฏการณ์การเมืองไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บันทึกไว้คร่าวๆ ให้พอจำดังนี้ “พลังประชารัฐ” คือพรรคที่อดีต ส.ส.และคนการเมืองมุ่งหน้าไปแสดงเจตจำนงกันแน่นตาที่สุด ขณะที่ "เพื่อไทยและประชาธิปัตย์” คือพรรคที่เสียกำลังพลบนสนามการเมืองไปเป็นอันดับต้นๆ ของการลงสนามการเลือกตั้งคราวนี้ (เพื่อไทยย้ายไป "พปชร.” ราวสี่สิบคน ไม่นับรวมการย้ายไปพรรคเครือข่ายที่เป็นการถ่ายเทภายในตามยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ส่วนพรรคสีฟ้า "สิบเจ็ด ส.ส.” ไหลออก)


 


          หากลองตรวจขุมกำลังของแต่ละพรรคที่สังคมจำชื่อได้นั้น (วิเคราะห์เบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญข่าวการเมืองหลากสำนักโดยอ้างอิงจากรายชื่อคนการเมืองที่อยู่ในมือของแต่ละพรรคในตอนนี้ ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบไม่เกินร้อยละสิบ) พบว่า โอกาสที่ "พท.และเครือข่าย” จะตบเท้าเข้าสภาหินอ่อนรวมแล้ว 180-200 ส.ส., พรรคสีฟ้าน่าจะมีผู้แทนฯ 110-120 ชีวิต, พปชร.น่าจะได้ 100 ชีวิตขึ้นไป, ภูมิใจไทยน่าจะได้ 40 คนขึ้นไป, ชาติไทยพัฒนารักษาฐาน 20-25 คน, ชาติพัฒนาน่าจะมากกว่า 7 คน ส่วนพรรคน้องใหม่บางพรรค เช่น เสรีรวมไทยน่าจะได้ 5 คน, อนาคตใหม่ 3-5 คน, ประชาชาติและพรรคลุงกำนันน่าจะมีส.ส.ใกล้เคียงกับพรรคสีส้ม


          ส่วนอีกหลายพรรคนั้น ตอบตรงนี้และตอนนี้ว่า "โอกาสน้อยมาก”


          ตัวเลขเหล่านี้ยังแปรผันได้จนถึง "คืนหมาหอน” รวมทั้งก่อนเวลาปิดหีบ


          หากไล่ดูอัตราต่อรองที่นักเสี่ยงโชควางแต้มต่อกันในยามนี้ว่าใครจะมีโอกาสเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลโดยวางไว้ “สามขั้ว” พบว่า ขั้วแรก “พท.และเครือข่าย” แม้จะเซไปบ้างจากแรงดูด แต่แต้มต่อยังเปิดให้แชมป์เก่าเหนือกว่าอีกสองพรรค เพราะคีย์แมนพท.เคาะแล้วว่าการหาเสียงจะใช้แคมเปญ "เลือกฝั่งประชาธิปไตยพรรคใดก็ได้แต่อย่าเลือกพรรคทหาร” รวมทั้ง #เลือดข้นคนเพื่อไทย#เพื่อไทยหัวใจคือประชาชนที่นำมายิงในสื่อออนไลน์เพื่อย้ำหัวหมุดไม่ให้หลุดไปไหน หากบวกกับการได้ “พานทองแท้ ชินวัตร” มาร่วมเป็นสมาชิกพรรคและออกเดินล่าแต้มคู่แกนนำรวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยด้วยแล้ว ตรงนี้ “พรรคเพื่อแม้ว” ยังมีเหลี่ยมและแต้มต่อ


          ส่วน “ปชป.” ซึ่งเป็นขั้วที่สองนั้น ตอนนี้สถานะและอัตราต่อรองน่าจะอยู่ระดับไม่หนีห่างกับ “พปชร.” แล้ว เพราะการที่เลือดของพรรคสีฟ้าไหลออกหากเทียบกับการไหลเข้านั้น “มันไม่สมดุล” แต่ต้องดูกันยาวๆ ว่า “ตารางเดินสาย, การเปิดนโยบายและการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.สองระบบ” จะ ”เปรี้ยงหรือแป้ก...” รวมทั้งการลั่นวาจาของหัวหน้าพรรคสีฟ้าที่ชัดแล้วว่า ไม่ร่วมงานกับ พปชร. และไม่แน่ใจว่าจะอยู่กับฝ่ายที่อ้างตัวเป็นประชาธิปไตยแล้วมีส่วนให้สูญเสียประชาธิปไตยด้วยหรือไม่...มีดโกนน้อยของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ยังบาดคนอื่นเสมอแม้ยามที่แทบไร้มิตรบนยุทธภพการเมือง


          ขณะที่เสียงตำหนิและการเสียดสีทางการเมืองของหลายฝ่ายอัดตรงไปที่แรงดูดของขั้วที่สามอย่าง "พปชร.” ซึ่งมีคนการเมืองหลายฝ่ายหลากประวัติมาร่วมงาน “คีย์แมนพรรค” ต้องชี้แจงกับสังคมให้เคลียร์ว่า “เหตุใดจึงรับคนการเมืองเหล่านี้มาร่วมงานและวางเป้าหมายไว้เช่นใด” รวมทั้งจะเดินเกมแบบใดที่จะชิงแต้มให้ได้มากที่สุดท่ามกลางความพร้อมสุดๆ ในทุกขุมกำลัง เพราะน้องใหม่พรรคนี้คือขั้วการเมืองที่ทุกฝ่าย “จับตา”


          จากนี้ไปจะมีอะไรวุ่นๆ ยุ่งๆ กับข่าวสารการเมืองอีกเยอะ และเมืองไทยอาจจะไม่ข้ามพ้น “วังวนการเมืองน้ำเน่า” แม้จะมีการปฏิรูปกันมาหลากยกแล้วก็ตาม...