คอลัมนิสต์

จาก "เพลงชีวิต" สู่ "ประเทศกูมี"  อุดมการณ์ดนตรี หรือรับใช้ใ

จาก "เพลงชีวิต" สู่ "ประเทศกูมี"  อุดมการณ์ดนตรี หรือรับใช้ใ

01 พ.ย. 2561

จาก "เพลงชีวิต" สู่ "ประเทศกูมี"  อุดมการณ์ดนตรี หรือรับใช้ใคร? : รายงาน  โดย... อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ , ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

          “เพลงประเทศกูมี” ไม่ใช่เพลงไทยเพลงแรกที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคมการเมืองในบ้านเรา เพราะเพลงลักษณะนี้มีมานานแล้ว เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ควบคู่กับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาเลยก็ว่าได้ เพียงแต่บริบทของเพลงก็ต่างกันไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี

 

 

          อ.สืบพงษ์ ม่วงชู ที่ปรึกษาอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารอุเทนถวาย และสมัยที่เป็นนักเรียนนักศึกษาก็อยู่ในยุคคนเดือนตุลาฯ ด้วย เล่าว่า เพลงเสียดสีการเมือง ผู้มีอำนาจ และสะท้อนปัญหาสังคม มีมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ครูเพลงคนสำคัญที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ก็คือ “แสงนภา บุญราศรี” ท่านได้แต่งเพลงสะท้อนชีวิตคนชั้นล่าง เรียกว่า “เพลงชีวิต” หลายเพลงมีเนื้อหาเสียดสีการซื้อเสียงและโกงกิน เช่นเพลง “แป๊ะเจี๊ยะ” และเพลง “พรานกระแช่” บางเพลงถูกนำมาขับร้องใหม่โดยศิลปินเพื่อชีวิตยุคปัจจุบัน


          ต่อมาในยุคก่อนปี 2500 ต่อเนื่องถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ มีบทเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีการเมืองอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดเพลงหนึ่ง ชื่อว่า “มนต์การเมือง” จากปลายปากกาของ ครูสุเทพ โชคสกุล ที่ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์ นักร้องและนักแสดงชื่อดังในยุคนั้น เพลงนี้ยังติดตรึงอยู่ในใจใครหลายคน เพราะแม้แต่ แอ๊ด คาราบาว ก็เคยนำมาขับร้องใหม่เมื่อปี 2537 ในชุดรอยคำรณ

 

          นอกจากนั้นยังมี “เพลงชีวิต” ที่บอกเล่าปัญหาสังคมและความทุกข์ยากของผู้คนออกมาอีกหลายเพลง อย่างนโยบายของผู้มีอำนาจที่สั่งห้าม “รถสามล้อถีบ” วิ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทำให้ ครูเสน่ห์ โกมารชุน ศิลปินจากวงดุริยางค์ทหารเรือ เขียนเพลง “สามล้อแค้น” โดยสอดแทรกคำร้องตอนท้ายๆ ประชดประเทียดเสียดสีไปถึงพวกผู้ปกครองบ้านเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วย จนกลายเป็นเพลงที่ถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนั้น สุดท้ายครูเสน่ห์ถูกผู้มีอำนาจเรียกไปพบ ทำให้ต้องวางมือจากการแต่งเพลง หันไปทำหนังแทน



 

          “เพลงชีวิต” หรือที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ในเวลาต่อมา กลับมาได้รับความสนใจอย่างสูงอีกครั้งในยุคที่นิสิตนักศึกษาปัญญาชนรวมตัวกันขับไล่เผด็จการ


          “จิตร ภูมิศักดิ์” ซึ่งเป็นนักคิดนักเขียน และถูกจับเป็นนักโทษการเมืองก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 16 เขาได้เขียนบทกวีซึ่งภายหลังถูกนำมาใส่ทำนองจนเป็นเพลง “เปิบข้าว” ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักศึกษาปัญญา / โดยเวอร์ชั่นที่คนไทยรู้จักกันดีคือเวอร์ชั่นที่ “วงคาราวาน” นำมาขับร้อง


          ต่อมาช่วงที่มีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ที่ทำให้นักศึกษาปัญญาชนต้องหนีเข้าป่า ก็ส่งผลให้มีผลงานเพลงเพื่อชีวิตตามออกมาอีกไม่น้อย กระทั่งถึงยุคกลับออกจากป่า เพลงเพื่อชีวิตได้กลายเป็นอุตสาหกรรมดนตรีที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง โดยวงดนตรีหัวควายที่ชื่อ “คาราบาว”

 

          อ.สืบพงษ์ บอกว่า สาเหตุที่บทเพลงเสียดสีการเมืองและสะท้อนปัญหาสังคมได้รับความนิยมอยู่ตลอด ก็เพราะความกดดันที่เกิดจากปัญหาที่สะสมในบ้านเมือง เมื่อทนไม่ไหวก็ระบายออกด้วยบทเพลง เช่นเดียวกับเพลง “ประเทศกูมี” ที่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนส่วนหนึ่งในประเทศนี้ ซึ่งต้องอดทนมานานกว่า 4 ปีกับผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน


          แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เพลงบางเพลง” ถูกใช้เป็นอาวุธและเครื่องมือปลุกระดมเพื่อประหัตประหารกันในทางการเมืองด้วย อย่างเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ที่เผยแพร่และโด่งดังมากในช่วงการชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549


          ปรากฏการณ์ของสังคมและการต่อสู้เกือบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา คือข้อบ่งชี้ว่าหาก “เพลง” ถูกผลิตออกมาในแบบ “จัดตั้ง” เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่มแล้วล่ะก็ แม้เพลงเพลงนั้นจะโด่งดังในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็จะไม่สามารถเป็นเพลงอมตะที่ครองใจผู้คนได้ตลอดไป ผิดกับ “เพลงชีวิต” บางเพลงที่ขึ้นหิ้งเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการเพลงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ
นี่คือความต่างของ “เพลงชีวิต” กับ “เพลงหากิน” ซึ่งสุดท้ายกาลเวลาและสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน เช่นเดียวกับเพลง “ประเทศกูมี”