
"โกงตาชั่ง" มิจฉาชีพตีเนียน!
พูดถึงเรื่อง "โกงตาชั่ง" ทีไร พ่อค้าแม่ขายทั้งในตลาดนอกตลาดมีอันต้องตกเป็นจำเลยสังคมเสียทุกครั้งไป
ทำไมเป็นแบบนั้น?
น่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ตรงที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอกันมาแล้วทั้งนั้น
บางคนโดนแค่ขีดสองขีด บางคนโดนตั้งครึ่งค่อนกิโล แล้วแต่ปริมาณสินค้าและความซวย!
แม่ค้าประเภทนี้จะพาให้ร้านรวงส่วนใหญ่ที่ค้าขายด้วยความซื่อตรงพลอยเสียหายไปด้วย
แต่นั่นก็เป็นแค่พฤติกรรมโกงของบรรดาผู้ค้ารายย่อยที่คงมีกำรี้กำไรจากส่วนต่างไม่มากนัก
แต่การโกงตาชั่งที่จะกล่าวถึงในที่นี้สิ เป็นการโกงแบบมโหฬาร! เป็นกลโกงชนิดที่ซาเล้งรับซื้อของเก่าผู้ได้ชื่อว่า “กิโลแข็ง” กว่าใครในโลกยังต้องหลบ
“โกงน้ำหนักรถบรรทุก” !
หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องโกงน้ำหนักรถบรรทุก และโกงยังไง?
แต่ใครที่ติดตามข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา จะรู้ว่าการโกงน้ำหนักรถบรรทุกนั้นช่างง่ายดายและแนบเนียนจริงๆ แต่ที่มาถูกจับได้ก็เพราะผู้เสียหาย คือ บริษัท จี สติล จำกัด (มหาชน) พบความผิดปกติของน้ำหนักรถบรรทุก 2 คัน ที่นำเศษเหล็กมาส่งเข้าโรงหลอมของบริษัท เมื่อขอตรวจสอบโดยการชั่งน้ำหนักซ้ำ คนขับรถบรรทุกทั้ง 2 คัน กลับขับรถหนีไปหน้าตาเฉย
โดนโกงแน่ๆ!
พฤติกรรมส่อพิรุธของคนขับรถบรรทุก 2 คัน ทำให้ จี สตีล ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อเศษเหล็กเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมหลอมเหล็กต้องย้อนกลับไปตรวจสอบปริมาณเหล็กที่ได้รับจากการสั่งซื้อแต่ละครั้ง และพบว่าถูกโกงตาชั่ง
จี สตีล เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อศูนย์ปรามปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้ช่วยตรวจสอบจนพบว่ามีขบวนการโกงน้ำหนักจริง และทำเป็นขบวนการใหญ่
จากการสืบสวนเชิงลึกของศปอส.ตร. พบว่าขบวนการโกงน้ำหนักเศษเหล็กที่จี สตีล เป็นผู้เสียหายนี้ที่แท้มีกลุ่มพนักงานของบริษัท ฮาร์สโก้ เมทัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ จี สตีล ว่าจ้างให้เป็นผู้ดูแลจัดการในส่วนของเครื่อชั่งน้ำหนักรถบรรทุกทั้งขาเข้า (ชั่งหนัก) และขาออก (ชั่งเบา) ร่วมขบวนการ โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนเงินทุนแก่ จี สตีล บางกลุ่มอยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง
กลโกงของมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะใช้วิธีทำ “รีโมทคอนโทรล” ควบคุมตาชั่ง ซึ่งเป็นระบบตัวเลขดิจิทัล เพื่อโกงน้ำหนักเหล็กที่นำส่งเข้าจี สตีล โดยทำมาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ 1 มกราคม-14 สิงหาคม 2560 รวมความเสียหายทั้งสิ้นเป็นเหล็กจำนวน 4,248 ตันมูลค่ากว่า 157 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบมีการเตรียมตัวในการโกงโดยการใช้บัตรประชาชนปลอม ทำเอกสารปลอมกับร้านค้าเศษเหล็ก การโกงตาชั่งแต่ละครั้งสามารถโกงน้ำหนักได้ครั้งละ 6 ตัน สำหรับรถบรรทุก 10 ล้อ แต่ถ้าเป็นรถพ่วงจะโกงได้ครั้งละ 12 ตัน
ล่าสุด ศปอส.ตร.ได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท ฮาร์สโก้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องชั่งน้ำหนักแล้ว 17 คน และพนักงานขับรถบรรทุก 6 คน พร้อมกับดำเนินคดี บริษัท ฮาร์สโก้ (นิติบุคคล)
“ทั้ง 3 กลุ่มมีพฤติการณ์โกงน้ำหนักรถบรรทุกด้วยเครื่องปรับน้ำหนักตาชั่ง แบบรีโมทคอนโทรลในการซื้อขายเศษเหล็ก ขณะนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องได้กว่า 20 ราย ส่วนที่เหลืออีก 4 ราย อยู่ระหว่างติดตามจับกุม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทที่คิดโปรแกรมชั่ง”
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบช.ทท. ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศปอส.ตร. บอกว่า การโกงน้ำหนักตาชั่งอย่างแยบยลของคนกลุ่มนี้ทำเป็นระยะเวลานานและทำเป็นขบวนการ หลังจากนี้จะตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวรับทำระบบชั่งให้กับใครบ้างและมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนไหนที่เป็นตัวการคิดโปรแกรมตาชั่งรีโมทนี้
นี่ก็โกงน้ำหนัก...แต่แยบยลคนละแบบ!
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2560 มีคดีโกงน้ำหนักสินค้าอยู่คดีหนึ่ง แต่กลโกงต่างจากกรณีใช้รีโมทเปลี่ยนแปลงตัวเลขของตาชั่ง
คดีนี้เกิดขึ้นที่ จ.ตาก ซึ่งผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ผ่านรายการสนามข่าว 7 สี ก็คือ ร.ต.ท.สุชาติ มีชะคะ รองสารวัตรอำนวยการ กองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจภูธรจังหวัดตาก
ร.ต.ท.สุชาติ อธิบายว่า เทคนิกการโกงของมิจฉาชีพในคราบผู้ประกอบการรถบรรทุกกลุ่มนี้ จะใช้วิธีดัดแปลงโครงสร้างของรถ โดยที่บริเวณหัวรถบรรทุกจะมีแผ่นเหล็กกว้าง 1 เมตร ด้านบนมีผ้ามุ้งตาข่ายสีฟ้าคลุมไว้ หากมองผิวเผินก็เหมือนกับรถบรรทุกทั่วไปที่มักจะมีกองผ้ามุ้งตาข่ายแบบนี้ หรือมีผ้าใบติดรถไว้เพื่อคลุมสินค้า แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่อยู่ใต้ผ้าคลุม คือแผ่นเหล็กที่ถูกเชื่อมต่อเป็นถังขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำ คิดเป็นน้ำหนักได้ประมาณ 3 ตัน และใต้ท้องรถมีช่องปล่อยน้ำทิ้ง พร้อมท่อยางที่ม้วนเข้าไปเก็บในช่องลับได้ และมีกุญแจล็อกอย่างดี หากไม่สังเกตดีๆ จะไม่ทราบว่ามีช่องลับอยู่
ส่วนการโกงน้ำหนักใช้วิธีเติมน้ำลงไปให้เต็มถังแล้วขับรถขึ้นตาชั่ง เพื่อจะออกใบรับรองน้ำหนักรถเปล่าระหว่างทางที่ไปรับสินค้าก็จะแอบปล่อยน้ำออกแล้วจึงนำรถเข้าไปรับสินค้าของเหยื่อหรือผู้เสียหายจนเต็มคัน ก่อนที่จะออกมาชั่งน้ำหนักอีกครั้ง วิธีนี้มิจฉาชีพจะได้สินค้าฟรีๆ ไปถึง 3 ตัน และหากนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ระหว่างทางก็จะแอบเติมน้ำเข้าไปในถังลับอีก 3 ตัน ก็จะทำให้ได้กำไรจากการโกงอีกรอบ
“ยกตัวอย่างไปซื้อข้าวโพดก็ต้องมีข้าวโพด 3 ตันมาทดแทนตัวน้ำ เพราะตัวตัวรถมันถูกโหลดลงไป จาก 13 ตัน ปล่อยน้ำออกไปเหลือ 10 ตัน เพราะฉะนั้นข้าวโพดที่เขาไปซื้อมาต้องมี 3 ตันเข้าไปแทนที่น้ำ 3 ตันที่หายไป เหมือนเขาได้ข้าวโพดฟรีมาอีก 3 ตัน”
แต่แม้จะมีกลโกงที่แยบยลแต่ก็ถูกจับได้เพราะบริษัทมีจุดชั่งน้ำหนัก 2 จุดที่มิจฉาชีพไม่รู้ ขณะที่พนักงานบริษัทรู้สึกแปลกใจว่าเพียงไม่กี่นาทีน้ำหนักรถบรรทุกหายไปถึง 3 ตัน จึงรีบโทรแจ้งตำรวจทันที หากปล่อยให้สินค้าหลุดออกไป บริษัทจะเสียหายถึง 1 ล้านบาท
ร.ต.ท.สุชาติ ยังแนะนำผู้ประกอบการซื้อขายสินค้าถึงเทคนิคการโกงน้ำหนักของบรรดารถบรรทุกสิบล้อที่เข้าไปรับซื้อสินค้า เช่น พืชผลทางการเกษตร เหล็กโครงสร้าง หรือทองแดงที่เป็นของเก่า โดยให้สังเกตความผิดปกติของรถบรรทุกว่าน้ำหนักมันผิดปกติไปหรือเปล่าและดูส่วนประกอบของรถให้ละเอียดว่ามีการดัดแปลงที่ส่วนใดบ้าง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างกลโกงของผู้ประกอบการเห็นแก่ตัวบางกลุ่มที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของความละโมบจนถึงกับยอมทรยศต่ออาชีพของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของคนอื่น
ฉะนั้นผู้ประกอบการไม่ว่าอาชีพใดหากต้องติดต่อค้าขายกับใครในลักษณะนี้จงพึงระวังและทำตัวเป็นคนช่างสังเกตบ้างสักนิด โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกรรายย่อยที่อาจไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพในคราบพ่อค้า ซึ่งที่ผ่านมาทางการก็พยายามลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เตือนไปยังเกษตรกรอยู่บ่อยๆ
อย่างเช่นฤดูการเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา กรมการค้าภายในก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงบ้านเพื่อหวังว่าจะตัดช่องทางหากินของมิจฉาชีพเหล่านี้ อย่างที่ จรินทร สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายในบอกว่า ทางกรมพยายามให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และสินค้าเกษตรอื่นๆ เกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักสินค้าเกษตรเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกพ่อค้าโกงตราชั่ง
ผู้อำนวยการสำนักชั่งตวงวัดบอกว่า ที่ผ่านมาพ่อค้าหลายรายมีพฤติกรรมโกงน้ำหนักสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ จนเกษตรกรตามไม่ทันต้องเสียรายได้จำนวนมหาศาล บางรายถูกโกงน้ำหนักข้าวครั้งละ 200-500 กิโลกรัม โดยส่วนใหญ่พ่อค้าได้ดัดแปลงเครื่องชั่งโดยเพิ่มวงจรอิเล็กทรอนิกส์และใช้รีโมทคอนโทรลควบคุมน้ำหนักสินค้าให้เบากว่าความเป็นจริง โดยที่เกษตรกรไม่มีทางรู้เลย