
มารยาทบนรถไฟฟ้า "ภาระทางใจ" ของมนุษย์เมือง!
การเดินทางว่าเหนื่อยแล้ว แต่การต้องร่วมทางกับมนุษย์ที่ "อาณัติสัญญาณทางจิตสำนึกขัดข้อง" มันเหนื่อยกว่าอีก บอกตรงๆ
ออกจากบ้านที ยิ่งกว่าสงครามชีวิต “โอชิน”
แต่ปัญหาคือ ทำยังไงก็ไม่ชิน กับ วิถีแห่งการเดินทางสไตล์มนุษย์เมืองหลวง ที่นอกจากต้องวางแผนล่วงหน้า 1 วัน กำหนดเวลานอน เวลาตื่น เวลากลิ้งไปกลิ้งมา เพื่อทำใจกับชีวิตต่อไปในวันนี้ จนถึงตอนออกจากบ้าน เพื่อให้ไปถึงที่หมายตามกำหนด
แต่...ยิ่งกับผู้มีหัวใจส่งเสริมการเดินทางโดยรถสาธารณะ อย่างบริการขนส่งบีทีเอส รถไฟลอยฟ้า บอกเลยทุกวันนี้ หลายคนสภาพสะบักสะบอมราวกับออกรบ ไม่ต่างกับสมัยยืนเบียดกันบนรถโดยสารประจำทางด้วยซ้ำ ถ้าวันไหนดวงตก เจอรถเมล์สายในตำนานเข้าไปอีกยิ่งมีหนาว !
ขอบคุณภาพจากเฟซบุคMRT
อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส คนไทยต้องทำใจล่วงหน้าว่าวันนี้จะขัดข้องอีกมั้ย หวยยังลุ้นกันเดือนละสองหน แต่นี่ลุ้นกันรายวัน 30 ครั้งต่อเดือน !
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำสถิติ “9 หน” ด้วยเหตุผล “ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง" หลังจากนั้นมาจนบัดนี้ก็ยังคงมีอาการเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น
แต่ปัญหาทางเทคนิคว่าจี๊ดแล้ว...ยังมีปัญหาใหญ่ที่เป็น “ภาระทางใจ” อีกต่างหาก
พอพูดถึงเรื่องนี้ หลายคนเริ่มเครียดตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่การโดนประตูอัตโนมัติที่กั้นเข้าสถานีหนีบบั้นท้าย
หรือวิ่งไปไม่ทันประตูรถปิด แล้วถูกคนในรถมองด้วยสายตาเย้ยหยัน แบบที่ “พี่โน้ส อุดม” เคยกล่าวไว้
และก็ไม่ใช่การที่ต้อง “mind the gap between the train and the platform”
แต่เป็นเรื่องของ “mind the gap between you and me” ล้วนๆ นั่นคือเรื่องของจิตสำนึกมารยาทของการใช้บริการรถสาธารณะร่วมกัน !
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุค คิดดี 4.0
ว่ากันที่มารยาทบนรถไฟฟ้า ที่จริงน่าจะแบ่งได้ 2 ระดับ ระดับแรกคือ มารยาทที่เรา “ควรทำ” ระดับต่อมาคือสิ่งที่เรา “ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และสมควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน” และระดับสุดติ่งคือ “มารยาท” ใน “มารยาท” อันนี้ก็ไม่ควรมองข้าม (อ่าน หมั่นคอยดูแลและรักษา “น้ำใจ”)
สำหรับระดับแรก คงจะเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป ที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และเอ็มอาร์ที ส่วนใหญ่รู้และปฏิบัติกันอยู่แล้ว
เช่น การยืนหลังเส้นเหลืองที่สถานี, การเดินชิดในเมื่อเข้าไปในตัวรถ, การไม่พูดคุยส่งเสียงดัง, การลุกให้เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชราได้นั่ง การไม่นำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไป, การไม่แสดงพฤติกรรมโอบกอดพลอดรักกัน ฯลฯ
ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Akkharawin Khainbandit
แต่เอาเข้าจริงๆ ระดับนี้ ก็ยังมีคนสอบตกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แถมถ้าเป็นชาวต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ปัญหาเจ้ากรรมก็มีมาให้เจอเรื่อยๆ
มาระดับที่สอง คือ พฤติกรรมที่เราไม่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งว่ากันตามจริง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่มาเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เหมือนกับพจนานุกรมคำสแลงที่ต้องบัญญัติคำศัพท์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
อย่างก่อนหน้านี้ราว 4-5 ปีก่อน บ้านเมืองเราเคยเกิดไวรัลที่กล่าวถึงคนที่ขึ้นรถไฟฟ้า แล้วใช้ลำตัวส่วนใดส่วนหนึ่ง “พิงแนบ” ไว้กับเสาภายในรถ ซึ่งมีไว้ให้ผู้โดยสารเกาะยึดพยุงตัว ในกรณีที่ไม่ได้นั่ง
แต่กลายเป็นว่า “เสานี้พี่ครอง” คือเมื่อเข้าไปในตัวรถได้ก่อน เห็นเสาว่างก็จะปรี่เข้าไปใช้ช่วงแขนพิง แล้วเล่นโทรศัพท์มือถือ บางคนใช้หลังพิง หนักเข้าก็ใช้ก้นหนีบไว้ ทั้งกันล้มกันเซ แถมยังได้เล่นโทรศัพท์ไปได้พร้อมๆ กัน !!
จนเมื่อกระแสทางสื่อสังคมออนไลน์ ประณามหนักเข้า พฤติกรรมนี้ก็ค่อยๆ ลดลง พร้อมๆ กับที่ทางรถไฟฟ้าได้แก้ปัญหา โดยการเปลี่ยนเสาให้แยกแตกแขนงออกไปมากขึ้น พร้อมกับออกกติกา “ห้ามพิงเสา” เราจึงได้เกาะเสากันอย่างถ้วนหน้า
ต่อมา เรื่องของทางเข้าทางออกระหว่างสถานี และประตูรถไฟฟ้า ซึ่งทางสถานีมีการทาสีปรับแบ่งให้เห็นชัดเจน ด้วยลูกศรเข้าออกบนพื้น หลังพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความวุ่นวายในการเข้าออก
ขอบคุณภาพจากเฟซบุค BTS
แต่บ่อยครั้งที่ทุกวันนี้ ก็ยังมีมนุษย์เปิด “เลนพิเศษ” ส่วนตัว ตัดหน้าคนอื่นๆ ที่รอคิวอยู่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจาก มองหน้ากันแล้วได้แต่ทอดถอนใจกับชีวิตวันนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี วันนี้ ปัญหาเหล่านี้ แม้จะลดลงบ้าง แต่มันไม่เคยเป็นศูนย์ ซึ่งที่จริงไม่เพียงชาติไทยเรา ชาติไหนๆ ที่มีบริการรถไฟฟ้าก็ต้องประสบพบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้น เราคงไม่ได้เห็นกฎการขึ้นรถไฟฟ้าของชาวญี่ปุ่น, มารยาทการใช้รถไฟฟ้าของชาติต่างๆ ที่ปรากฏทั่วไปในสื่อออนไลน์
แม้แต่ในภาพยนตร์ รายการตลก หรืออย่างในซีรีส์กาหลี Miss Hammurabi มีฉากในรถไฟใต้ดิน ซึ่งนางเอกศอกกลับมนุษย์ป้าที่คุยโทรศัพท์เสียงดังได้อย่างเจ็บแสบ
ขอบคุณภาพจาก เพจ Viu Thailand ซี่รี่ส์ Miss Hammurabi
นี่จึงหมายความว่า ปัญหามารยาทบนรถไฟฟ้าเป็นปัญหาสากลของคนทั้งโลก !
แต่อีกมุมหนึ่ง แม้ว่าจะเพลียหัวใจขนาดไหน เราๆ ท่านๆ ก็ยังพอทนกันได้รายวัน แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคม อย่างบรรดาผู้พิการที่ต้องใช้บริการรถสาธารณะไทย ที่ยังขาดตกบกพร่องในอีกหลายเรื่อง กลุ่มนี้น่าเห็นใจมากกว่า
ล่าสุด มีการแชร์ภาพ “มนุษย์แซงคิว” เข้าลิฟต์ผู้พิการ...นี่คือปัญหาเรื้อรังที่ควรได้รับการ “รักษารากจิตสำนึก” โดยด่วน
การเดินทางว่าเหนื่อยแล้ว แต่การต้องร่วมทางกับมนุษย์ที่ “อาณัติสัญญาณทางจิตสำนึกขัดข้อง” มันเหนื่อยกว่าอีก บอกตรงๆ
หมั่นคอยดูแลและรักษา “น้ำใจ”
พูดกันเป็นคุ้งเป็นแควไม่จบ กับปัญหามารยาทบนรถไฟฟ้า
ที่ลึกกว่าไปอีกชั้น คือเรื่องของ “มารยาท” ใน “มารยาท” ที่ทำให้มนุษย์รถไฟฟ้า ต้องเพิ่มดีกรีความเครียดเข้าไปอีกหลายจุด
เพราะถ้าถามว่า ทุกครั้งที่ใช้บริการรถโดยสารติดแอร์ยกระดับชนิดนี้ เราผู้ซึ่งปวารณาตนแล้วว่าจะต้องเป็นคนดี ต้องคิดกันขนาดนี้เลย คำตอบคือ ใช่...ถ้าอยากให้สังคมมีคุณภาพ !
สำหรับตัวอย่างที่อธิบายความอัดอั้นนี้ได้ชัดเจนที่สุดอันหนึ่ง คือ บทความจากเว็บไซต์ www.the101.world คอลัมน์ Agony Uncle โดย Panu Burusrattanapan ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ได้ตอบคำถามข้อหนึ่งเกี่ยวกับมารยาทการใช้รถไฟฟ้า
www.the101.world คอลัมน์ Agony Uncle โดย Panu Burusrattanapan
เป็นมุมที่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอกับตัว โดยผู้ถามเคยเจอดราม่าเรื่องลุกให้ผู้หญิงท้องนั่งในรถไฟ แต่กังวลว่าถ้าลุกให้ แต่เขาแค่อ้วนคือไม่ได้ท้อง ก็จะโดนสังคมประณามอีก
สุดท้ายผู้ถามเลยตัดสินใจไม่ค่อยจะลุกให้ใคร เพราะกลัวหน้าแตก !
ที่สุด คำตอบจากลุง ก็ได้แนะนำหลักคิดเรื่องการสละที่นั่งให้ผู้โดยสารบนระบบรถไฟฟ้ามาพอสมควร เช่น
ตัดสินใจไม่นั่งไปเลย เพื่อจะได้ไม่มีประเด็น to give a seat, or not to give a seat มากวนใจให้เสียเวลาเล่นเกม เพราะความอยากได้ที่นั่งบนรถไฟฟ้า มันไม่เท่าความอยากได้ที่นั่งบนรถเมล์ ซึ่งต้องยืนกันเป็นชั่วโมง ดังนั้น ก็อย่านั่งมันเสียเลย เพื่อตัดปัญหา จะลุกหรือไม่ลุกให้คนนั่งดี
หรือถ้าจะเอาให้ง่ายเข้าไว้คือ การก้มดูโทรศัพท์ต่อไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย (อันนี้ก็คล้ายๆ แกล้งหลับบนรถเมล์เข้าไปอีกมั้ยลุง)
เด็ดกว่านั้นคือ ก็ลุกไปสิ ทำความดีจะกลัวอะไร แต่แทงกั๊กไว้ก่อน อย่าออกห่างจากที่นั่งมากนัก เผื่อเป้าหมายไม่ยอมนั่ง เราจะได้นั่งต่อ
ไป...อย่างเสียน้ำใจนิดๆ ดีกว่าเสียน้ำใจ แล้วยังเสียม้าให้คนที่ไม่ใช่เป้าหมาย !
ลองเสียเวลากันสักนิด คิดกันดูว่าจะทำแบบไหน ที่สบายใจที่สุด
แต่อีกมุมหนึ่ง พอถึงตรงนี้ ก็เลยอยากบอกเสียจริงว่า ถ้าใครลุกขึ้น แล้วส่งสายตามายังคุณว่านั่งเถิด จะอีกกี่ป้ายก็นั่งไป ไม่เสียหาย เพราะถ้ามองซ้ายขวาแล้วไม่มีเด็ก คนชรา หรือคนท้องอยู่แถวนั้น
การรักษาน้ำใจคนอื่น ก็คือมารยาทอย่างหนึ่งเหมือนกัน แถมยังเป็นการให้กำลังใจคนในการทำความดีอีกด้วย !