คอลัมนิสต์

"2561" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

"2561" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

14 ส.ค. 2561

 "2561" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร! : รายงาน โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

          ประเทศไทยมีประชากร 68 ล้านคน เป็นชาวไร่ชาวนาประมาณ 15 ล้านคน หากรวมแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมดอาจทะลุถึง 20 ล้านคน ที่ผ่านมาพวกเขามีรายได้น้อยนิดแถมเป็นหนี้สินจำนวนมาก กรมสรรพากรเลยไม่ได้สนใจไปไล่เก็บภาษีมากนัก ..แต่ปีที่แล้วรัฐบาล คสช.มีนโยบายให้เก็บภาษีภาคเกษตรอย่างจริงจังเริ่ม “ปี 2561”...

          ปกติคนทำงานทั่วไปถ้ามีรายได้ต้องเสียภาษี เช่นกันแรงงานภาคเกษตรก็ต้องเสีย ซึ่งกฎหมายสรรพากรเดิมกำหนดไว้ 60 ปีที่แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2502 ให้เกษตรกรเหมาหักค่าใช้จ่ายไปร้อยละ 85 และที่เหลือถือเป็นรายได้ ร้อยละ 15 ที่ต้องเสียภาษี แต่กฎหมายใหม่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ระบุให้หักค่าใช้จ่ายเหมาได้สูงสุดไม่เกินอัตราร้อยละ 60

          เรื่องนี้ไม่กระทบแรงงานภาคเกษตรที่ยากจนทั่วไป ไม่มีที่ดินไร่นาของตัวเองหรือมีจำนวนน้อยไม่กี่ไร่ ทำพอกินพออยู่ไปวันๆ แต่ภาษีนี้กระทบ “กลุ่มเกษตรกรชั้นกลาง” ที่เป็นเจ้าของไร่นาหรือมีฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปลูกพืชผัก หรือทำไร่ผลไม้ขนาดหลายสิบไร่

          ตัวอย่างเช่น “นาย ก” เป็นชาวนาขายข้าวและเก็บผักขาย จับปลาขาย ทุกอย่างรวมกันมีรายได้ประมาณ 3 แสนบาทต่อปี เหมาค่าใช้จ่ายไป 2.55 แสนบาท เหลือเป็นรายได้ไปคิดภาษี 4.5 หมื่นบาท ไม่ถึงเกณฑ์รายได้ปีละ 1.5 แสนบาท ไม่มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

\"2561\" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

 

          ถ้าเผอิญ “นาย ก.” เริ่มขยันขันแข็ง ขยายพื้นที่ทำนาและปลูกผักระดับหลายสิบไร่ขึ้นไป ลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่เปิดฟาร์มเลี้ยงไก่ มีรายได้ขายพืชผักและไก่เพิ่มเป็นวันละ 2,000 บาท กลายเป็นว่ามีรายได้เดือนละ 6 หมื่นบาท รวมแล้วเกิน 5 แสนบาทต่อปี ต้องเสียภาษีทันทีเพราะเหมาค่าใช้จ่ายได้เพียงร้อยละ 60 จากที่เหมาค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 85 แต่อย่าลืมว่า นาย ก. ยังมีภาระต้องจ่ายค่าแรงตัวเอง ค่าแรงภรรยา รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดูแลทั้งครอบครัว เงิน 6 หมื่นบาทปลิวหายไปอย่างรวดเร็ว

          หลายคนสงสัยว่าทำไม “รัฐบาลทหารยุค คสช.” ต้องอยากเก็บภาษีจากเกษตรกร ?

          สืบเนื่องจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปทำสุ่มสำรวจตรวจรายได้เกษตรกรทั่วประเทศไทยแล้วพบว่า ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดปีละ 3 แสนบาท เพราะผลผลิตขายได้ราคาดีขึ้น เช่นข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ไก่เนื้อ โคเนื้อ น้ำนมดิบ ส่วนค่าใช้จ่ายมีน้อยแค่ประมาณ 1 แสนกว่าบาทเท่านั้น และถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้วน่าจะเหลือเงินเก็บถึงครอบครัวละ 6-7 หมื่นบาท
และกลุ่มเป้าหมายของกรมสรรพากรคือ พวกเจ้าของฟาร์มขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมาฟาร์มใหญ่ๆ จะไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว เพื่อเอาใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีต่างๆ แต่ถ้าเป็นฟาร์มเล็กมีลูกจ้างไม่กี่สิบคน จะไม่มีระบบบัญชี และไม่เคยจ่ายภาษี หรือถ้าเป็น ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนยาง ฯลฯ กลุ่มนี้จะถูกบังคับให้เสียภาษีจากการขายผลผลิตที่หน้าตาชั่ง เช่นไร่อ้อย จะโดนหักภาษีอัตราร้อยละ 0.75 ผ่านโรงงานน้ำตาลไว้แล้ว รวมถึงพืชไร่สำคัญอย่างอื่นเช่น ยางแผ่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เมล็ดกาแฟ ผลปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

 

\"2561\" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

 

          “เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู” เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ เปิดใจเล่าให้ฟังว่า มีกิจการเลี้ยงไก่ประมาณ 4 หมื่นตัว ที่ผ่านมาไปเสียภาษีที่กรมสรรพากรทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยได้รับการเหมาลดหักค่าใช้จ่ายเสร็จสิ้น จะเสียภาษีครั้งละประมาณ 6,000 บาท แต่เมื่อต้นปี 2561 ไปเสียภาษี เจ้าหน้าที่บอกให้จ่าย 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งตนไม่มีเงินเหลือมากขนาดนั้น ก็เลยขอร้องเจ้าหน้าที่ให้พิจารณาใหม่เพราะมีต้นทุนรายจ่ายอื่นๆ ที่พวกเราไม่ค่อยรู้เรื่องเลยไม่ได้นำไปหักลด

          “โชคดีที่เจ้าหน้าที่เขาช่วยคำนวณให้ใหม่ เลยเหลือประมาณ 16,000 บาท อยากบอกว่า ถ้าต้องจ่ายภาษีปีละเกือบแสนบาท พวกเราคงต้องปิดฟาร์ม เลิกขายไข่ ตอนนี้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ไข่ต้องมีต้นทุนไข่ฟองละเกือบ 2 บาท แต่พวกเจ้าสัวรายใหญ่มาขายไข่แข่ง ฟองละ 1.70 บาท แล้วพวกเราจะทำอย่างไร ต้องไปเร่ขายตามตลาดนัดหรือพื้นที่ไกลๆ เพราะถ้าในซูเปอร์ บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เขาขายถูกกว่าต้นทุนเราเสียอีก”

          เสาวลักษณ์ตัดพ้อรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนสนใจเกษตรกรที่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์รายย่อย เช่น ไก่ เป็ด ปลา และไม่เคยได้รับการยกเว้นภาษีด้วย คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเกษตรกรได้รับการยกเว้นภาษี ความจริงแล้วมีเพียง “ชาวนา” เท่านั้นที่ไม่ต้องเสีย ไม่ว่าจะมีกี่สิบไร่หรือเป็นร้อยเป็นพันไร่ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่เกษตรกรกลุ่มอื่นต้องเสียหมด

 

\"2561\" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

 

          “อย่าคิดว่าพวกเราไม่เคยจ่ายภาษีนะ เพราะ อบต.เข้ามาควบคุมดูแลในหมู่บ้านทั้งหมด เขารู้ว่าใครทำอาชีพอะไรบ้าง พวกเราก็ไม่เคยหนีภาษี เพราะจ่ายปีละเกือบหมื่นบาท และยังมีภาษีโรงเรือน ภาษีจิปาถะอีก พวกเราก็ไม่เคยบ่นเพราะอยากเป็นเด็กดี แต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไร แต่พอเป็นฟาร์มของนายทุนใหญ่ กลับได้ลดหย่อนภาษีทุกอย่าง พวกเราจ่ายภาษีแวต ค่าน้ำมัน ค่าโน่นค่านี่ก็เอาบิลไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ จะให้ไปจดทะเบียนนิติบุคคล ก็วุ่นวายต้องจ้างคนทำบัญชี รายละเอียดเยอะแยะไปหมด ใครที่บอกว่าเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทุกวันนี้รู้ไหมว่าเรากลายเป็นกระดูกผุๆ กร่อนๆ ลูกหลานไม่มีใครอยากทำเกษตรแล้ว เป็นหนี้เป็นสิน แถมต้องเสียภาษีเพิ่มอีก”

          เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เสาวลักษณ์และตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรกว่า 100 คนจากทุกภาคของประเทศไทย ทั้งกลุ่มเลี้ยงสัตว์ พืชไร่ ผู้จับสัตว์น้ำ ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนต่อ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

          “เกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน ขอกราบเรียนให้ท่านนายกรัฐมนตรีย้อนมองอดีตสังคมเกษตรกรรมของไทย เมื่อ พ.ศ. 2502 ที่กรมสรรพากรยินยอมให้เกษตรกรหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 85 ในขณะนั้นการทำการเกษตรแต่ละชนิดมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสมัยนั้นปีละไม่กี่รายการ แต่กรมสรรพากรยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 85

          ส่วนในปี 2560 ค่าใช้จ่ายในรายการต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก แต่กรมสรรพากรให้หักค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 60 เป็นการสวนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะต้นทุนการผลิต จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่ามีต้นทุนการผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 82.56 ขึ้นไป ดังนั้น การออกพระราชกฤษฎีกาจึงต้องยึดตามข้อมูลที่เป็นจริง

 

\"2561\" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

 

          กรมสรรพากรโดยศูนย์สารนิเทศสรรพากร ได้จัดทำคำแนะนำเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในการจัดทำเอกสาร หลักฐานที่สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ พวกข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า การทำเอกสารตามที่กรมสรรพากรแนะนำนั้น หากเป็นเกษตรกรรายใหญ่ หรือผู้ประกอบธุรกิจก็อาจทำได้ทั้งที่เป็นรายงานรับ-จ่าย เงินสดและหลักฐานประกอบค่าใช้จ่าย และใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หรือใบสำคัญรับเงิน แต่ในสังคมเกษตรกรรมของไทย ตามความเป็นจริงเป็นสังคมชนบทอยู่กันแบบเกื้อกูลหรือการแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่ธุรกิจ ทำให้การจะเรียกใบเสร็จ หรือใบสำคัญรับเงินในสังคมชนบทเป็นไปไม่ได้กับชีวิตจริง

          ดังนั้น ข้อแนะนำของกรมสรรพากรทำระบบเอกสารการลงบัญชีเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย และขอให้ยกเลิกอัตราหักค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายจากร้อยละ 60 ให้กลับไปใช้อัตราร้อยละ 85 เหมือนเดิม”

          ทั้งนี้ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวชี้แจงกฎหมายเก็บภาษีใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพยายามจัดทำคู่มือการทำบัญชีรายรับ-จ่ายอย่างง่าย เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ผลรายได้ของกิจการที่ตัวเองทำอยู่ และจัดให้ความรู้เรื่องนี้กับกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 60 แต่ในความเป็นจริง หากเกษตรกรมีรายจ่ายมากกว่านั้น ก็สามารถใช้บัญชีรับ-จ่ายไปยื่นภาษีได้ และในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาเอกสารหลักฐานรายจ่ายหรือใบเสร็จรับเงินได้ เกษตรกรสามารถจัดทำใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินด้วยตนเองเพื่อเป็นหลักฐานการจ่ายเงินได้ด้วย

 

\"2561\" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

 

          กรมสรรพากรพยายามเน้นย้ำว่า การหักรายจ่ายเหมาร้อยละ 60 จากเดิมร้อยละ 85 นั้น

          “ถ้าหักแล้วเกษตรกรมีรายได้ไม่เกิน 525,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 43,750 บาทต่อเดือน ไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด”

          ถ้าผู้เสียภาษีมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่ง สายด่วน 1161

          การจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะประเทศไทยนอกจากมนุษย์เงินเดือนที่ถูกหักภาษีตั้งแต่เงินเดือนออกโดยอัตโนมัติแล้ว คนประกอบอาชีพอื่นแทบจะไม่มีใครเสียภาษีอย่างถูกต้องเลย

          แต่ที่หลายคนกำลังสงสัยคือ โครงสร้างภาษีแบบใหม่นั้น ดูเหมือนว่าบริษัทหรือนิติบุคคลที่ทำฟาร์มขนาดใหญ่ทั้งสวนผลไม้ ไก่ หมู จะได้รับประโยชน์จากส่วนลดภาษีมากกว่าชาวนา เช่น รายได้ปีละ 1 ล้านบาทเท่ากัน นิติบุคคลเสียเพียง 1.5 แสน แต่บุคคลทั่วไปเสีย 2.5 แสนบาท

          ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรเตือนว่า หากก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 รัฐบาล คสช.ของบิ๊กตู่ ยังไม่เร่งแก้ปัญหาให้ได้รับความยุติธรรมมากกว่านี้ พวกเขาจะรวมพลังกลับมาทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ...

 

\"2561\" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

 

          คนไทยมี “รายได้” –“หนี้สิน” เท่าไร?
          สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน2560พบว่า มีครัวเรือนทั่วประเทศ21ล้านครัวเรือน
          -รายได้เฉลี่ยเดือนละ26,946บาท/ครัวเรือน
          -รายจ่ายเดือนละ21,437บาท/ ครัวเรือน
          -มีหนี้10.8ล้านครัวเรือน เฉลี่ยประมาณ178,994บาท/ครัวเรือน (เพิ่มขึ้นจาก156,770บาท/ครัวเรือน ในปี2558)
          -ร้อยละ90มี“หนี้ในระบบ” อย่างเดียว
          -ร้อยละ5.8มี“หนี้นอกระบบ”อย่างเดียว
          - ร้อยละ4.2เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
 
          ภาษี “คนธรรมดา- นิติบุคคล” ใครได้เปรียบ?
          ข้อมูลจากเวบไซด์ “เวทมอร์ แอนิมัล เฮลธ์” ยกตัวอย่างการเสียภาษีของฟาร์มปศุสัตว์ดังนี้
          - ตัวอย่างเปรียบเทียบการเสียภาษีของฟาร์มAมีเงินได้3ล้านบาทต่อปีเท่ากัน(ค่าลดหย่อนไม่ได้ถูกนำมาคำนวณ)

          -ปี2559
          ฟาร์มAหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ85ของเงินได้ เงินได้สุทธิของฟาร์มAคือ0.15*3ล้านบาท =450,000บาท...ต้องจ่ายภาษี22,500บาท 

          -ปี2560)
          ฟาร์มAหักต้องหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ60เงินได้สุทธิของฟาร์มAคือ0.4*3ล้านบาท =1,200,000บาท ...ต้องจ่ายภาษี165,000บาท