
หวั่น"ปลากัดไทย"ซ้ำรอย"วิเชียรมาศ"จี้ประกาศสัตว์น้ำประจำชาติ
หวั่น"ปลากัดไทย"ซ้ำรอย"วิเชียรมาศ"จี้รัฐประกาศ"สัตว์น้ำประจำชาติ" ป้องกันโดนฮุบ : รายงาน โดย.. อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์, สมสกุล ไซรลบ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี22
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย และเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ change.org เชิญชวนให้คนไทยช่วยกันลงชื่อสนับสนุนให้ปลากัดเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติ"
เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้ว กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเสนอคณะรัฐมนตรีให้ปลากัดเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติของไทย" แต่ถูกตีตกโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ที่มี วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน โดยให้เหตุผลว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ จนทำให้คนรักปลากัดและผู้เพาะเลี้ยงปลากัดหวั่นเกรงว่า หากรัฐบาลยังละเลยเรื่องนี้ อาจทำให้ปลากัดไทยซึ่งกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลกตกเป็นของต่างชาติ ซ้ำรอยแมวไทย อย่าง "แมววิเชียรมาศ" ที่ตกเป็นของอังกฤษไปแล้ว
"ปลากัดไทย" เป็นปลาที่มีเอกลักษณ์ สีสันสดใสสวยงาม และมีคุณสมบัติพิเศษเป็น "ปลานักสู้" ถึงขนาดที่บริษัทผู้ผลิตมือถือยี่ห้อดัง อย่าง "ไอโฟน" ยังนำภาพ "ปลากัดไทย" ไปใช้เป็นภาพหน้าจอมือถือรุ่นไอโฟน 6 อย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน "ปลากัดไทย" ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์และสีสันที่สวยงามมากขึ้นกว่าเดิม อย่าง "เจ้าไตรรงค์" ซึ่งเป็นปลากัดสีธงชาติไทย แต่การเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ส่วนมาก เป็นการทำกันเองของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง และคนทั่วไปที่รักปลากัด แต่ไม่มีหน่วยงานราชการเป็น "เจ้าภาพ" ที่แท้จริง
เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมประมงหมายมั่นปั้นมือให้ "ปลากัดไทย" เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ จึงรวบรวมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยเหตุผลที่เสนอมี 4 ข้อหลักๆ คือ
1.เหตุผลเชิงประวัติศาสตร์ เพราะปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทย เพาะเลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน มีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish บ่งบอกอย่างชัดเจน มีจุดเด่นทั้งเรื่องความสวยงามและความสามารถในการต่อสู้ ทำให้ส่งออกไปขายได้ทั่วโลก
2.เหตุผลเชิงวัฒนธรรม เพราะปลากัดเป็นตัวแทนศิลปะการต่อสู้ของไทย มีคำที่ใช้ในหมู่นักเลงปลากัดในอดีต จนกลายเป็นสำนวนหรือคำที่ติดปากคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น "ลูกหม้อ" หมายถึงผู้ที่มีต้นกำเนิดผูกพันกันอย่างแท้จริง "ลูกไล่" หมายถึงคนที่ไม่สู้คน ถูกข่มตลอดเวลา "ถอดสี" หมายถึงอาการตกใจ ไม่สู้ ยอมแพ้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากปลากัด
3.เหตุผลเชิงพาณิชย์ เพราะหากยกให้ปลากัดเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติ" จะสร้างความเป็นแบรนด์ของประเทศไทยได้ เป็นการพัฒนายกระดับเพิ่มปริมาณการส่งออกและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล
4.เหตุผลเชิงบูรณาการ เพราะปลากัดในแง่ของการเป็นสินค้า สามารถร่วมกันพัฒนาได้ทั้งเอกชนรายใหญ่ รายย่อย บุคคล ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ
ส่วนเหตุผลที่รองนายกฯ วิษณุ ในฐานะประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ตีตกข้อเสนอนี้ มีข้อเดียวสั้นๆ คือ “ข้อมูลที่กรมประมงเสนอ เป็นเรื่องเชิงพาณิชย์และสร้างรายได้ให้ประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้มีสีสันที่หลากหลายและสวยงามยิ่งขึ้น จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับมิติเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน”
จากเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่ายจะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่อง "ปลากัด" สามารถแยกพิจารณาได้ 2 บริบท
หนึ่ง คือ บริบทของการเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" ซึ่งบริบทนี้ ทั้งกรมประมง และคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เห็นตรงกันในเชิงพาณิชย์
ข้อมูลจากกรมประมงพบว่า ปริมาณการส่งออก "ปลากัด" เฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านตัวต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 54% มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 59% ปลายทางการส่งออกปลากัดไทยไปยังตลาดต่างประเทศ มากถึง 83 ประเทศทั่วโลก เรียกว่าเกือบครึ่งโลกเลยทีเดียว
จากข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน จึงไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธว่า "ปลากัด" คือ “สัตว์ (น้ำ) เศรษฐกิจแห่งอนาคต” และเป็นความหวังของเกษตรกร ตลอดจนเอกชนผู้เพาะเลี้ยงปลานักสู้สายพันธุ์นี้
สอง คือ บริบทของการเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติ" บริบทนี้กรมประมงกับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติยังมีความเห็นขัดแย้งกัน โดยเฉพาะฝ่ายหลังมองว่ายังไม่เข้าหลักเกณฑ์
มติของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ทำให้คนรักปลากัดที่มีอยู่ทั่วประเทศรู้สึกเสียดาย และหวั่นเกรงว่าหากรัฐบาลไม่ขยับทำอะไร เช่น ตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจัง สุดท้ายอาจถูกต่างชาติชิงไปประกาศก่อน และจดสิทธิบัตรสายพันธุ์ เหมือนกรณี "แมววิเชียรมาศ"
ข้อมูลจากฝั่งนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องปลากัดอย่าง นพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติของประเทศจีน มองว่า รัฐบาลไทยน่าจะตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลและพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด ตลอดจนสร้างมาตรฐานการประกวดอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม เพราะสหรัฐอเมริกามีองค์กรลักษณะนี้แล้ว คือ IBC หรือ International Betta Congress ฉะนั้นถ้าไทยยังละเลย เกรงว่าสุดท้ายไทยจะสูญเสียปลากัดซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ไปเป็นของชาติอื่นเหมือน "แมวไทย" เนื่องจากไม่มีองค์กรรับผิดชอบดูแล ไม่มีการกำหนดมาตรฐานสายพันธุ์และหลักเกณฑ์การประกวด ทั้งๆ ที่ชื่อปลากัดในภาษาอังกฤษ ก็บอกชัดว่าเป็นของไทย คือ Siamese Fighting Fish
"รัฐบาลน่าจะผลักดันให้มีการจัดตั้ง 'องค์กรปลากัดไทย' เป็นองค์การมหาชน โดยบูรณาการผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลากัด และนักวิชาการเข้ามาร่วมกันทำงาน หลังจากนั้นก็ใช้องค์กรนี้ประกาศมาตรฐานสายพันธุ์ปลากัด และจัดประกวดในระดับสากล แทนที่จะปล่อยให้ IBC ของสหรัฐทำอยู่เหมือนในปัจจุบัน"
ความเห็นของนพนันท์ สอดรับกับข้อกังวลของ ทันตแพทย์ ประพุทธ์ ธีรฐิตยางกูร ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดปลาสวยงาม ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อธิบายว่า ปัจจุบันปลากัดไทยส่งออกไปขายทั่วโลก มีการจัดประกวดแทบทุกเดือน อย่างเดือนที่แล้วก็ที่สวิตเซอร์แลนด์ และจะมีที่ออสเตรเลีย แม้แต่ประเทศในย่านเอเชียก็มีปลากัดไทยขาย ตลาดใหญ่ๆ ก็เช่น จีน อินเดีย หรือแม้แต่ดูไบ รวมไปถึงประเทศแถบยุโรป อย่างฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ก็มีออเดอร์ปลากัดเข้ามาเยอะมาก
"ในเวทีการประกวดระดับนานาชาติ อย่างเวทีใหญ่ที่สิงคโปร์ ปลาที่ชนะประกวด 80% เป็นปลากัดไทย แต่ชื่อคนไทยที่ส่งประกวดกลับมีน้อยมาก กลายเป็นชาวต่างชาติซื้อปลากัดไทยไปส่งประกวด หรือไปเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ประเทศเพาะพันธุ์ได้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีการอนุบาลลูกปลาและควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ ปลากัดอาจถูกอ้างอิง หรือจดสิทธิบัตรเป็นของเขาไปเลย"
ทันตแพทย์ ประพุทธ์ บอกอีกว่า การประกวดปลากัดในประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมาพบว่าไม่ค่อยมีต่างชาติส่งปลากัดเข้าประกวด เพราะมาตรฐานที่กรมประมงประกาศเป็น "มาตรฐานปลากัดไทย" ยังไม่ละเอียดพอ หากเทียบกับมาตรฐานของ IBC ฉะนั้นสถานการณ์ ณ วันนี้ มาตรฐานปลากัดไทยยังไม่เพียงพอที่จะก้าวไปสู่อินเตอร์ ทั้งๆ ที่ปลาที่ชนะประกวดในเวทีใหญ่ๆ ทั่วโลก ล้วนเป็นสายพันธุ์ไทย
ความนิยมของชาวต่างชาติที่มีต่อปลากัดไทย สะท้อนผ่าน อธิสรรค์ พุ่มชูศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะพันธุ์และส่งออกปลากัด และเคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ เมื่อปี 2552 ที่เล่าว่า ชาวต่างชาตินิยมชมชอบปลากัดไทยมานานเป็นร้อยปีแล้ว กระทั่งช่วง 30 กว่าปีมานี้ จึงเริ่มมีการเพาะพันธุ์ปลากัดไปขายในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป จนทำให้ปลากัดกลายเป็นปลาสวยงามประจำบ้านของชาวต่างชาติ
“กลายเป็นว่าทุกวันนี้ต่างชาติให้ความสำคัญกับปลากัดไทยมากกว่าผู้ใหญ่ในบ้านเราเองเสียอีก ซ้ำยังอยากรู้ถึงรากเหง้าของปลากัด ถึงขนาดมีการจัดทัวร์เพื่อมาดูต้นกำเนิดปลากัดในประเทศไทย”
"ผมในฐานะคนไทยที่รักชาติ ก็อยากจะให้ปลากัดถูกประกาศไปทั่วโลกว่าเป็นสมบัติของชาติไทย ทำอะไรก็ได้ที่แสดงว่าเป็นของเรา เช่น การจดสิทธิบัตร และต้องทำให้เร็วด้วย เพราะสมัยนี้มีการขโมยกันทั่วโลก เราควรจะต้องหวงแหนสมบัติของเราที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ฉะนั้นควรจะมีคนไปอธิบายให้คณะรัฐมนตรีท่านฟังบ้างว่าปลากัดคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร มีประวัติความเป็นมากับบ้านเมืองเราอย่างไรบ้าง ถ้าเราต้องสูญเสียปลากัดไทยไปเป็นของคนอื่นอีก เหมือนกับแมวที่เราต้องเสียไป ไม่ใช่แค่ผมเท่านั้นที่เสียใจ แต่รวมถึงบรรพบุรุษเราด้วย"
ข้อเรียกร้องของอธิสรรค์ สอดคล้องกับ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิทานสัตว์น้ำ กรมประมง ที่บอกว่า มีการจารึกประวัติของปลากัดไว้ในหนังสือที่เขียนโดยชาวอเมริกันที่ชื่อว่า ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ มีการตั้งชื่อปลากัดไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า Siamese Fighting Fish ฉะนั้นรัฐบาลไทยควรรีบประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เพราะหากมีประเทศอื่นชิงประกาศไปก่อน จะส่งผลกระทบต่อคนไทยไม่ต่างจากกรณีของแมววิเชียรมาศและสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ
“ผลกระทบก็จะเห็นได้ชัดๆ จากตัวอย่างเรื่องแมวไทยที่ประเทศอังกฤษเขาจดสิทธิบัตรสายพันธุ์ เวลาเราจะไปทำอะไรก็ต้องไปขออนุญาตเขาวุ่นวายไปหมด"
มุมมองของนักวิชาการด้านประมงก็ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการที่เปิดร้านจำหน่ายปลากัดอย่าง "ลุงอ๋า ปากน้ำ" หรือ ธีรศักดิ์ สุพินพง ผู้พัฒนาสายพันธุ์ปลากัด กระทั่งได้ "ปลากัดสีทอง" ที่มีความสวยงาม และกลายเป็นชื่อร้าน "โกลเด้น เบตต้า" ที่ จ.สมุทรปราการ "ลุงอ๋า" กังวลว่า ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านสามารถเพาะเลี้ยงปลากัดได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับประเทศไทย ขณะที่ประเทศแถบยุโรปและอเมริกาก็จ้องจะเป็นเจ้าของปลากัดไทยอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องเร่งจดสิทธิบัตรให้สำเร็จก่อนชาติอื่นๆ มิฉะนั้นก็ต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่าไปอีกหนึ่งอย่าง
ชื่อเสียงและความนิยมของปลากัดไทย ทำให้วงการปลากัดบ้านเราไม่ได้อยู่ในภาพเดิมๆ อีกต่อไป หลายคนยังติดภาพการพนันกัดปลา หรือมองว่ากิจกรรมเลี้ยงปลากัดเป็นของคนแก่วัยไม้ใกล้ฝั่ง แต่วันนี้ผู้ประกอบการปลากัดหลายคนคือ "คนรุ่นใหม่" และหนึ่งในนั้นก็คือ นิภา สุพินพง ลูกสาวของ "ลุงอ๋า ปากน้ำ" นั่นเอง
นิภา บอกว่า ธุรกิจเพาะพันธุ์และจำหน่ายปลากัดเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และเป็นรากเหง้าของคนไทยอย่างแท้จริง จึงไม่ควรสูญเสียปลากัดไทยไปเป็นของต่างชาติ
“ถ้าหากประเทศไทยไม่ประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ก็ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจสำหรับคนที่ศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดซึ่งต้องใช้เวลานานหลายสิบปี และจะก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพราะถ้าปลากัดไทยตกไปเป็นของประเทศอื่น ก็จะทำให้ลูกค้าไปซื้อกับประเทศอื่นแทน” นิภา กล่าว
ในขณะที่ภาครัฐยังนิ่ง ปรากฏว่าภาคเอกชนและเกษตรกรกลับเดินรุดหน้าไปไกลแล้ว อย่างที่ จ.นครปฐม มีฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดขนาดใหญ่มากมาย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองหลวงของปลากัดไทย" เพราะมีทั้งฟาร์มและมี "ศูนย์เรียนรู้" ซึ่งเป็นโรงเรียนเพาะพันธุ์ปลากัดแห่งแรกของโลก
สิรินุช ฉิมพลี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ประจำปี 2558 เป็นผู้สร้างศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม เพื่อสนับสนุนการส่งออกแบบครบวงจร
"เราสร้างโรงเรียนสอนเพาะเลี้ยงปลากัดเป็นแห่งแรกของโลก เพราะกลัวว่าต่างประเทศจะเอาไอเดียนี้ไปทำก่อนเรา เราต้องสร้างอะไรก็ได้ที่เป็นเอกลักษณ์ของปลากัดไทยให้เป็นแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยให้ได้"
เช่นเดียวกับ ชูชาติ เล็กแดงอยู่ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ "เอก นครปฐม" ประธานกลุ่มปลาสวยงามของจังหวัด และเป็นผู้ชนะประมูลปลากัดลายธงชาติไทย หรือ "เจ้าไตรรงค์" ที่บอกว่า ทิศทางการพัฒนาปลากัด ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจและการส่งออกเท่านั้น เพราะหากรัฐบาลตัดสินใจประกาศให้ปลากัดเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติ" ก็จะสามารถต่อยอดสานฝันเป็น "พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย" เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจ และความผูกพันของปลากัดกับวิถีชีวิตของคนไทยด้วย
“อาจจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทยให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้ สัมผัสความงดงามของวิถีชีวิตเกษตรกรที่เลี้ยงปลากัดไทย และดึงทัวร์ต่างชาติมาดูได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดการกระจายเม็ดเงินให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่เลี้ยงปลากัด”
เสียงทุกเสียงจาก "คนรักปลากัด" บอกตรงกันว่า จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาลที่จะเร่งประกาศให้ปลากัดเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติ" โดยเร็วหรือไม่ พร้อมตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบเรื่องพัฒนาสายพันธุ์และมาตรฐานการประกวด เพราะหากปล่อยเนิ่นช้าไป ประเทศไทยอาจจะต้องสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ไปอีกครั้ง ดังที่ สิรินุช และ เอก นครปฐม ตั้งคำถามทิ้งท้ายเอาไว้
“ทั่วโลกเขามองเห็นคุณค่าของปลากัด แต่ผู้ใหญ่ในประเทศกลับมองไม่เห็นอะไรเลย หรืออาจจะเป็นเพราะบรรพบุรุษของเราไม่ได้ขี่ปลากัดไปออกรบหรือเปล่า แต่อย่าลืมว่าปลากัดไทยเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรไทยมีเงินส่งเสียลูกเรียน มีเงินซื้อข้าวกิน ทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น” เป็นเสียงจากสิรินุช
“ในอนาคตหากต่างประเทศประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติของเขา เราจะตอบลูกหลานของเราอย่างไร หากลูกหลานถามว่า ทำไมคนรุ่นก่อนถึงไม่ปกป้องมรดกของชาติเอาไว้ สำหรับผมมองว่าปลากัดไทยอยู่คู่วิถีคนในชาติไทย มันคือชีวิต คือลมหายใจ” เป็นเสียงจาก เอก นครปฐม
เพราะ "ปลากัด" ไม่ใช่แค่ "กัดปลา" แต่มีคุณค่ามหาศาลจริงๆ!
ถอดบทเรียน “จิงโจ้-แพนด้า”สัตว์ประจำชาติออสเตรเลีย-จีน
รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศให้สัตว์ท้องถิ่นของตนเป็น “สัตว์ประจำชาติ” ทั้งๆ ที่สัตว์บางชนิดก็ไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นของชาตินั้นๆ เพียงชาติเดียวแต่เมื่อประกาศไปแล้ว ก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์อย่างมหาศาล
อย่างเช่น ประเทศออสเตรเลียใช้ “จิงโจ้แดง” สัตว์ท้องถิ่นที่มีมากกว่า 10 ล้านตัวทั่วประเทศ เป็น “สัตว์ประจำชาติ” จากนั้นก็สร้างมูลค่าเพิ่มรายได้จากการทำทัวร์เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชมจิงโจ้แดงและสวนสัตว์เปิด ที่โด่งดังและได้รับความนิยมก็คือ Featherdale Wildlife Park ที่ฝึกจิงโจ้จนเชื่องอย่างมาก นอกจากนั้นยังสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำ “มาสคอตตัวการ์ตูนจิงโจ้แดง” นำมาทำเป็นของที่ระลึก เช่น แก้วน้ำ พวงกุญแจ ตุ๊กตา เสื้อ แสตมป์ เป็นต้น
อีกตัวอย่างที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับไทย ก็คือประเทศคือจีน ประกาศให้ “แพนด้า” เป็นสัตว์ประจำชาติ และยังสร้างภาพลักษณ์เสมือนเป็นทูตสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนประกาศให้ “แพนด้า” เป็นสัตว์ประจำชาติ เป้าหมายอันดับแรกคือเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ห้ามค้าขายโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยหรือเพาะพันธุ์
ขณะเดียวกันจีนก็ใช้ภาพลักษณ์ของแพนด้าที่ผู้คนรู้จักไปทั่วโลกมาสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ สร้างรายได้อย่างมากมาย ทั้งเป็นมาสคอต ตุ๊กตา พิมพ์ภาพแพนด้าในสมุด หนังสือ หรือแก้วน้ำ รวมทั้งนำมาทำเป็นภาพยนตร์ด้วย