
พรรคหนึ่งติดถ้ำ พรรคหนึ่งตัวปลิว
พรรคหนึ่งติดถ้ำ พรรคหนึ่งตัวปลิว : คอลัมน์... ขยายปมร้อน โดย... อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
ความเคลื่อนไหวทางการเมือง เริ่มกลับมาอยู่ในสายตาของประชาชนอีกครั้ง หลังจากร่วมสองสัปดาห์ที่ผ่านมาทุกคนใจจดใจจ่ออยู่กับภารกิจค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่า ซึ่งเมื่อเจอก็จะเปลี่ยนไปสู่ภารกิจพาพวกเขากลับบ้าน
แต่ก็เรียกได้ว่าผ่านจุด “พีค” ของสังคมไปแล้ว และน่าจะกลับมาอยู่ในความสนใจสูงสุดอีกครั้งหากสามารถนำพวกเขาออกจากถ้ำกลับสู่อ้อมอกของผู้ปกครองได้
แม้ที่ผ่านมาทุกความสนใจจะไปอยู่ที่ถ้ำหลวง แต่ใช่ว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะสะดุดหยุดลงไปด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไรทุกอย่างต้องเดินไป ตามนาฬิกาแห่งการเลือกตั้งที่ขยับเข้ามาเรื่อยๆ ตามโรดแม็พที่วางไว้โดยรัฐธรรมนูญ
ขณะที่พรรคการเมืองอื่นยังมะงุมมะงาหรา หลังจากเช็กชื่อสมาชิกพรรคให้ช้ำใจเพราะเห็นยอดตกฮวบไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม จากนั้นมาพวกเขาก็ยังอยู่ในสภาวะถูกแช่แข็ง ไม่สามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือกระทั่งการหาสมาชิกใหม่
กิจกรรมทางการเมืองอย่างเดียวที่พวกเขาทำได้คือ การไปร่วมหารือกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้า คสช. ซึ่งก็ได้เป็นแนวทางกำหนดวันเลือกตั้งแบบคร่าวๆ ซึ่งมีช่วงกว้างถึง 3 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์-พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการปลดล็อกการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. และการเปลี่ยนแปลงการทำไพรมารีโหวต ซึ่งทั้งหมดมีปัญหาอันเนื่องมาจากมิอาจขยับเขยื้อนได้เพราะกุญแจล็อกที่เรียกว่าคำสั่ง คสช.
หลายคนถึงขนาดเปรียบเทียบว่า ถ้าช่วยเด็ก 13 คนที่ติดถ้ำออกมาได้แล้ว ช่วยพรรคการเมืองที่ติดล็อกให้ออกมาได้ด้วยหรือไม่
แต่ระหว่างที่ทุกคนยังติดโซ่ที่ล่ามไว้ แต่กลับมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวอย่างเสรี และเป็นการเคลื่อนไหวเชิงการเมืองอันมีลักษณะที่สอดรับและเอื้อต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวแรก คือการเคลื่อนไหวเพื่อดูดของกลุ่ม “สามมิตร” อันถูกระบุว่ามีความเชื่อมโยงอันดีกับ “พรรคพลังประชารัฐ”
พวกเขาเดินสายดูด โดยเริ่มตั้งแต่พรรคเล็ก พรรคกลาง รวมไปถึงกลุ่มก้อนทางการเมือง ที่แม้จะไม่มาร่วมกัน แต่ก็รับปากว่าจะร่วมหอลงโรงด้วยกันหลังการเลือกตั้ง จากนั้นก็มุ่งเป้ามาสู่การดูดพรรคใหญ่ อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ตามกลศึกดึงศัตรูมาเป็นพวก ซึ่งเท่ากับสองแรงบวกเพราะลดทั้งกำลังของฝ่ายตรงข้ามและเพิ่มกำลังของฝ่ายตัวเอง
โดยตีไปที่เป้าหลักอย่าง “อีสาน” และก็ได้ผลไม่น้อย ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้คงต้องยกให้สองอดีตคีย์แมนของพรรคเพื่อไทยอย่าง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ - สมศักดิ์ เทพสุทิน” ว่ากันว่าตอนนี้กำลังเล็งเป้าหมายต่อไปอยู่ที่ภาคเหนือ
แน่นอน “พลังประชารัฐ” และ “สามมิตร” ย่อมถูกผูกโยงเข้ากับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งเขาก็ใช้ลีลาชั้นครูเต้นวนอ้อมแบบไม่ตอบรับหรือไม่ปฏิเสธว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น และไม่ใช่แค่สามมิตร เป็นมวลหมู่มหามิตรเลย เป็นเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น วงการเมืองคือเพื่อนๆ กัน แต่ขอร้องอย่าชี้นำว่าจะมารวมกันได้หรือไม่”
“ไม่ใช่แค่ช่วงนี้ที่มีคนเอาชื่อผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นมา 20 ปีแล้ว การทำเพื่อประเทศ ไม่เกี่ยวกับว่าจะรวมกลุ่มหรือไม่รวมกลุ่ม การเมืองคือการที่ทุกคนต้องเข้ามาทำให้ประเทศดีขึ้น อย่าไปโฟกัสว่าจะรวมกลุ่มหรือไม่ พรรคการเมืองดีทุกพรรค แต่ละพรรคมีนโยบายของเขา ใครจะอยู่พรรคใดก็อยู่ไปถ้ามีความสุข คนที่จะเลือกพรรคเขาจะมองว่าพรรคนั้นสามารถทำให้เขาได้ทำงานเพื่อประเทศชาติได้หรือไม่ ใครจะอยู่พรรคใดก็แล้วแต่ ทุกคนมีสิทธิ์ทั้งนั้น แต่อย่าทะเลาะกัน อย่าไปมองการเมืองในแง่ที่ไม่ดี ส่วนใครจะเอาชื่อผมไปพาดพิงหรืออะไร ก็ตามสบาย”
เป็นการแสดงให้เห็นว่านาทีนี้เขามีสายสัมพันธ์อันดีกับคนการเมือง ว่าไปแล้วก็คล้ายกับสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” สร้าง “ไทยรักไทย” ที่อาศัยผู้ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนการเมืองเปิด “เครื่องดูดฝุ่น” ดูดคนจำนวนมากให้ไหลมารวมกัน
เพราะหากอยากชนะเกมเลือกตั้งก็ต้องเล่นแบบที่นักเลือกตั้งเล่น เป็นการเดินเกมย้อนรอยนั่นเอง
ขณะที่อีกทาง ก็จัดงาน “สนทนาสานพลังประชารัฐ” ซึ่งนัยเป็นการเปิดตัว “พลังประชารัฐ” และทีมที่เดินงานมวลชน โดยงานจะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันนี้ มี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาในงาน ซึ่งเขาถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในทีมงานพรรคพลังประชารัฐ
เกมดูด ก็เดินหน้า เกมมวลชนก็เดินหน้า มิพักต้องพูดถึงนโยบายประชารัฐ ที่เป็นนโยบายประชานิยมโดยรัฐบาล ที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไปในขณะที่พรรคอื่นได้แต่ทำตาปริบๆ มองดูเขาแซงหน้าไปเรื่อย
แต่ก็เอาล่ะ เพื่อความได้เปรียบ หากอยากชนะก็ต้องทำ แม้จะต้องแลกมาด้วยข้อครหาว่า “เอาเปรียบ” ก็ตาม เพราะเดิมพันการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นสูงยิ่งนัก