
เปิด 4 จุดอ่อน... เมกะโปรเจกต์หมื่นล้าน…
เปิด 4 จุดอ่อน... เมกะโปรเจกต์หมื่นล้าน… : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ
รัฐบาล คสช.พยายามผลักดัน “เมกะโปรเจกท์” หรือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีระดับการลงทุนหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป เช่น รถไฟความเร็วสูง สนามบิน โรงไฟฟ้า เขื่อน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่ดูเหมือนจะติดขัดยังไม่สำเร็จสักโครงการ เนื่องจากประสบปัญหาหลายอย่าง แต่ปัญหาที่หนักหนาสุดคือ การต่อต้านจากชุมชน...
ล่าสุดรัฐบาลพยายามเร่งแผนที่ทำวางไว้ 51 โครงการ มูลค่ามากกว่า 2.4 ล้านล้านบาท โครงการริเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ถึงตอนนี้ยังค้างเติ่ง เช่น โครงการเส้นทางขนส่งทางบก 1.5 แสนล้านบาท รถไฟ 1 แสนล้านบาท, ขนส่งทางน้ำ 7 พันล้านบาท โครงการ “อีอีซี” หรือ แผนปฏิบัติพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
ระหว่างเร่งโครงการเก่า ก็มีการประกาศโครงการใหม่ของปี 2561 จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 1 แสนล้านบาท..
ทำไมโครงการเหล่านี้ไม่สำเร็จเสียที ทั้งที่รัฐบาลประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เมกะโปรเจกท์เหล่านี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้น !?!
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 นักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 8 (สสสส.8) สถาบันพระปกเกล้า นำเสนอผลงาน “การมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อสังคมสันติสุขยั่งยืน” โดยสรุปว่าปัญหาเกิดจากการขาด "ความร่วมมือร่วมใจของพลเมืองทั้งมวล”
คำตอบนี้มาจากการศึกษาลงลึกถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง ในโครงการพัฒนา “เมกะโปรเจกท์” ของรัฐไทยเช่น โครงการทางเลียบเจ้าพระยา พบการทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมากลงไปทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ชาวบ้านยังส่งเสียงคัดค้านให้ทบทวนโครงการ ไม่ต่างจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคอง โครงการพัฒนาท่าเทียบเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จะนะ จ.สงขลา โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ชุมชนไม่เห็นด้วยกับการสร้างโครงการเหล่านี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ภาพชาวบ้านถือป้ายเดินขบวนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนปรากฏอยู่สื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แม้แต่โครงการเชียงใหม่เมืองมรดกโลก เครือข่ายภาคประชาชนพลเมืองพยายามจัดเวทีพูดคุยหนทางพัฒนาเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคม
ข้อสรุปบางส่วนจากการศึกษาค้นคว้าทั้งโครงการข้างต้น สามารถสรุปปัญหาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมาว่า มี “4 จุดอ่อน” ดังนี้
1.เป็นการสั่งลงมาโดยรัฐ 2.ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบคอบรอบด้าน 3.กลไกในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการข้างต้นขาดความครบถ้วน ตลอดจนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นเพียงการจัดทำเพื่อให้ครบขั้นตอนตามกฎหมายไม่ได้แสดงความจริงใจที่จะรับฟัง และ 4.บางโครงการสร้างความขัดแย้งรุนแรงทั้งในแนวดิ่งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนที่เห็นด้วย กับประชาชนที่คัดค้านโครงการ
"4 จุดอ่อน” ข้างต้นส่วนใหญ่เป็นโครงการที่สั่งการลงมาโดยรัฐ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบคอบรอบด้าน และขาดกลไกในการสื่อสารให้ข้อมูลอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมาและทั่วถึง โดยเฉพาะกลไกการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงใจ
หลายโครงการคัดเลือกบริษัทที่ทำการประเมินผลกระทบแบบประชาชนไม่มีส่วนร่วม
บางโครงการสร้างขึ้นโดยไม่ได้สนใจคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ เช่น สุสาน หรือศาสนสถานอันมีความผูกพันต่อจิตวิญญาณของชุมชน หรือเป็นโครงการสร้างความขัดแย้งรุนแรงทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจกันแบบเดิม ที่สำคัญคือไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามหรือตรวจสอบผลการดำเนินเมกะโปรเจกท์เหล่านี้
สรุปการพัฒนาของรัฐผ่านโครงการขนาดใหญ่ไม่สำเร็จ เพราะหัวใจสำคัญของโครงการขาดหายไป นั่นคือ “ความไว้ใจ” (TRUST)
ดังนั้น หากอยากให้เมกะโปรเจกท์หลายแสนล้านสำเร็จ ต้องเริ่มจาก “กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ” รัฐควรเปิดพื้นที่และโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาตั้งแต่การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA) ที่ครอบคลุมมิติทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และมิติคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม
คำแนะนำนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่กำหนดไว้ในมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่บัญญัติว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดําเนินการ”
“ศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชยา” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในโครงการพัฒนาไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม จะมีคุณภาพได้ ต้องประกอบด้วย 1.Willing to participate คือ พลเมืองต้องมีความกระตือรือร้นสนใจ มีจิตสำนึกตื่นตัวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม 2.Freedom to participate หมายถึงว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต้องเป็นไปโดยยึดหลักอิสรเสรี ไม่ได้เป็นการบังคับ 3.Ability to participate หมายความว่า พลเมืองเองต้องมีทักษะความสามารถในการเข้าร่วม มีความรู้ มีความสามารถในการให้เหตุและผล หรือค้นหาความรู้เพื่อจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีคุณภาพด้วย
“ปรีดา คงแป้น” นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่ภาครัฐต้องต้องมี “จิตวิญญาณ” ในการรับฟังเสียงของพลเมือง ไม่ใช่เน้นการทำเพื่อเป็นแค่ “พิธีกรรม” เพราะการขาดจิตวิญญาณทำให้ “ขาดความไว้ใจ”
ล่าสุด กลุ่มนักกฎหมาย นักวิชาการและภาคประชาชนบางส่วน พยายามผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ..." จุดประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อรับรองให้ประชาชนคนไทย ให้มีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง หรือเหตุผลต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ ก่อนที่จะไปลงทุนหรือทำโครงการอะไรก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา
โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมใน “เมกะโปรเจกท์” ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือชาวบ้านจำนวนมาก เช่น สะพาน เขื่อน อุโมงค์ รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ
ตัวอย่างจากเมกะโปรเจกท์ที่สำเร็จไปแล้ว เช่น โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล้วนแล้วแต่ใช้เวลาเนิ่นนาน ต้องเจรจากับชาวบ้านหลายสิบปีกว่าจะสร้างสำเร็จ แม้กระทั่งวันนี้เสียงคัดค้านด่าทอของชาวบ้านก็ยังคงมีอยู่ทำให้เกิดความล่าช้าในการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ กว่า 1.6 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ชาวบ้านไม่ยอมขายที่ดิน ไม่ยอมรับค่าชดเชยแต่เลือกที่จะฟ้องศาลมากกว่า
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบสนามบินแห่งนี้ขึ้นอีก ระหว่างที่ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมายนั้น คนไทยทั้งประเทศยังมีโอกาสเข้าไปช่วยกันเสนอไอเดียขัดเกลาแก้ไข เพื่อให้เป็นกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ไม่ได้มี “ส่วนร่วม” แค่ในชื่อเรียกของกฎหมายนี้เท่านั้น
การมีส่วนร่วม...หลักการ “ความไว้ใจ” (TRUST)
T = Transparency ความโปร่งใส กระบวนการได้มาซึ่ง “ฉันทามติ” ของทุกภาคส่วนจนเป็นที่ยอมรับของมหาชน R = Respect ความเคารพซึ่งกันและกัน ร่วมคิดร่วมตัดสินใจร่วมกันและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม U = Ultimate goal มีจุดมุ่งหมายสูงสุดชัดเจน ทุกขั้นตอนต้องมีการทบทวนและดำเนินการเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายเดียวกัน S = Sustainability ความยั่งยืนของโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด T = Together ก้าวไปด้วยกัน รัฐมีหน้าที่สร้างความเป็นเจ้าของให้เกิดขึ้นในหมู่สาธารณชน