
อย่าเป็น "ส.ว." อีหรอบเดิม
อย่าเป็น "ส.ว." อีหรอบเดิม : คอลัมน์... ขยายปมร้อน โดย... ขนิษฐา เทพจร
ท่ามกลางที่หลายฝ่ายจับตาถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองขั้วต่างๆ ที่แย่งชิงพื้นที่- คะแนนนิยม
ที่นำไปประกบกับจุดโฟกัสสำคัญคือ ท่าทีสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" คืนบทบาทผู้นำทางการเมืองหลังเลือกตั้ง
ท่ามกลางกระแสนั้นยังมีความเคลื่อนไหวต่อการหาสมาชิกแห่งรัฐสภา 250 คนในบทบาทของ “วุฒิสมาชิก”
แน่นอนว่า กลไกของการได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดแรก 250 คน ที่ขีดหลักการในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และขยายวิธีปฏิบัติใน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ฉบับรอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ถูกเซตให้เป็นอำนาจของ “คสช.” ที่จะเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็น ส.ว.ทั้งหมด จึงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า “วุฒิสมาชิก” คือเสียงที่จะค้ำหลัง “พล.อ.ประยุทธ์” และประคอง “รัฐนาวาของคสช.” แม้ตามกฎหมาย คสช.ต้องปล่อยมือหลังได้รัฐบาลชุดใหม่บริหารประเทศ ก็ตาม
สำหรับกระบวนการเลือกและแต่งตั้ง “ส.ว.250 ชีวิต” แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกแบบกลไกและปรับวิธีการเพื่อให้ได้บุคคลที่เป็นตัวแทนของประชาชนทุกชนชั้นและทุกสาขาอาชีพที่มีอยู่ในประเทศนี้ ผ่านการจัดกลุ่มสมัคร 10 กลุ่ม และใช้วิธีเลือกกันเอง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
แต่คราวแรกของการได้มานั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ!!เพราะจำนวนส่วนใหญ่มาจากการเลือกโดย “คสช.”
ตามรัฐธรรมนูญกำหนดวาระเริ่มแรกให้มี ส.ว.250 คน โดยจำนวน 200 คนแรก มาโดยวิธีการง่ายๆ คือ เลือกตรงจากคสช. แม้ขั้นตอนเฟ้นหาบุคคลให้ตรงคุณสมบัติ “เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ และเป็นกลางทางการเมือง” แต่คนที่ทำหน้าที่เฟ้นหาในฐานะ กรรมการสรรหา ส.ว. นั้น ทางการเมืองเขาเรียกว่า “นอมินี คสช.”
จึงอาจหนีไม่พ้นข้อครหาว่าต้องเลือกคนที่เป็นปากเป็นเสียงให้ คสช.!! ในสภา
ขณะที่อีก "50 ชีวิต" แม้กำหนดให้ใช้วิธีการใหม่คือ รับสมัครตามกลุ่มความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่กำหนดเป็น 10 กลุ่มในระดับอำเภอ จากนั้นให้ผู้สมัครลงคะแนนเลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 2 รายชื่อ เพื่อหาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับ เข้าสู่รอบจังหวัด และเลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 2 รายชื่อ เพื่อหาผู้ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับเข้าสู่รอบคัดเลือกระดับประเทศ ขณะที่ระดับประเทศใช้วิธีเลือกและลงคะแนนแบบเดียวกันและส่งรายชื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1-20 เสนอให้คสช.คัด ให้เหลือ 50 คน
จึงถือว่าในคราแรกนั้นการเลือกกันเองของส.ว. เป็นแค่การทดสอบระบบใหม่ หากผลลัพธ์ไม่ดีดั่งใจอาจต้องทบทวน
แต่ก่อนจะไปไกลถึงขั้นนั้น ปมร้อนที่ซ่อนอยู่ในคำพูดของ “หัวหน้า คสช.” ต่อการคัดเลือก ส.ว.200 คน ระหว่างเดินสายต่างประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การเลือกส.ว. โดยคสช. คือ หนึ่งในกระบวนการปฏิรูปการเมือง แก้กรณีที่ ส.ว.ชุดเก่าที่ทำเรื่องไม่เป็นเรื่องจนเป็นปัญหา ส่วนการคัดสรรนั้น จะมีคณะทำงานเลือกคนแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายเข้ามา เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลใน “สภาผู้แทนราษฎร”
ต้องนำมาขยายให้ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ที่กำหนดให้คสช.เป็นผู้คัดเลือกส.ว.250 คนนั้น อาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามเพราะหากสภาผู้แทนราษฎรเป็นเสียงข้างมากของพรรคการเมืองที่สนับสนุน “คสช.” บทบาทการตรวจสอบถ่วงดุลอาจไร้น้ำยา
เพราะภาพที่เราเห็นจากเครือข่ายคสช.ภายใต้บทบาทของ “สนช.” ที่ไร้การตรวจสอบรัฐบาลคสช.เป็นประจักษ์ แม้แต่การคัดค้านบางเรื่องที่ “สังคม” ตราหน้าว่าเป็นพฤติกรรมลุแก่อำนาจ และกระทำเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และพรรคพวกของคนข้างรัฐบาล “สนช.” ยังไม่กล้าแม้แต่การยกมืออภิปรายความเห็นเพื่อทักท้วงหรือเตือนสติ
แม้มาตรการตรวจสอบการทำหน้าที่ของส.ว. หลังการเลือกตั้งจะเข้มข้นถึงขั้นกำหนดเป็นข้อห้ามตามมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า ส.ว.ต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ แต่ในชั้นนี้อาจไม่ได้หมายถึงการเดินตามน้ำ ตามเกมของ รัฐบาลผู้มีอำนาจ และเสียงข้างมากในสภาที่หนุนรัฐบาล
แต่หากหลังเลือกตั้งเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนละฝั่งกับ “คสช.” เชื่อแน่ว่าบทบาทของส.ว.อาจถูกปรับเปลี่ยน แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะตัดสิทธิที่ ส.ว. จะลงดาบ–ใช้อาญาสิทธิ์ ถอดถอนนักการเมือง แต่เงื่อนไขว่าด้วยการติดตาม–ตรวจสอบ วาระปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ยังคงเป็นหน้าที่สำคัญและเหมือนเป็นสิทธิพิเศษเพื่อใช้เล่นงาน “คู่ต่อสู้ทางการเมือง”
ดังนั้นเมื่อการเลือก ส.ว.250 คน เป็นการจงใจมอบหมายให้ “คสช.” คัดเลือกคนของตัวเองไปทำหน้าที่ในสภาหินอ่อนจึงเป็นคำถามใหญ่ว่า ต่อให้เลือกคนดีมีความสามารถไปทำงาน โดยไร้ประโยชน์ตอบแทน แต่ภารกิจที่ถูกเซตไว้หลังการเลือกตั้งคืออะไรกันแน่!!
ซึ่งความแจ่มชัดบางประการที่ประวัติศาสตร์แห่งสภาหินอ่อนจารึกไว้ คือ เกมการเมืองของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่ามาจากการเลือกตั้งที่สนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ไม่ว่าจะทำผิดกฎหมายมากเพียงใด และโจมตี ส.ว. พร้อมขนานามว่าสภาลากตั้ง
และเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ความวุ่นวายจึงบังเกิด กลายเป็นความขัดแย้งและลามสู่สงครามการเมืองข้างถนน
ดังนั้นความปรารถนาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อความสงบหลังเลือกตั้งจะเป็นจริงหรือไม่ต้องเริ่มที่ต้นน้ำ คือ กระบวนการเฟ้นหาส.ว. ที่มาทำงานเพื่อประเทศและประชาชน ไม่ใช่ทำงานการเมืองเพื่อ “คสช.”