
พลิกปูม"คดีฆ่าชิงมือถือ"ประหารชีวิต(จริง) ในรอบเกือบ 9 ปี
18 มิ.ย.61 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของราชทัณฑ์อีกครั้ง ที่ต้องจารึกว่า ได้บังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิต(จริง) หลังจากห่างหายมานานเกือบ 9 ปี
18 มิถุนายน 2561 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของราชทัณฑ์ อีกครั้ง ที่ต้องจดจารึกว่า ได้มีการดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย“ธีรศักดิ์”อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ หลังจากไม่มีการประหารชีวิต(จริง) มานานเป็นเวลาเกือบ 9 ปี เรียกความสนใจจากคนในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างมาก
การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศที่ใช้บังคับอยู่ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย
สำหรับคดีนี้ที่มีการฉีดยาพิษประหารชีวิตนักโทษ คือ นายธีรศักดิ์ นั้น เขาเป็นนักโทษผู้ก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์ที่อุกอาจสะเทือนขวัญ โดย “ฎีกาตก” ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ในห้วงเวลาดังกล่าวมีวันหยุดราชการหลายวัน อีกทั้งยังเป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางศาสนาและเป็นช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน กรมราชทัณฑ์จึงยังไม่ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษรายนี้ในทันที โดยกฎหมายให้เวลาประหารชีวิตภายใน 60 วัน หลัง “ฎีกาตก”
สำหรับคนร้ายรายนี้ ขณะก่อเหตุมีอายุ 19 ปี ได้ใช้อาวุธมีดกระหน่ำแทงใส่ นักเรียนชายชั้น ม.5 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง อายุ 17 ปี โดยสภาพศพถูกแทงพรุนทั่วร่างกาย จำนวน 24 แผล เสียชีวิตภายในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 (เขาแปะช้อย) ต.ทับเที่ยง เขตเทศบาลนครตรัง ก่อนหลบหนีคนร้ายยังได้ล้วงเอากระเป๋าสตางค์ และโทรศัพท์มือถือของผู้ตายไปด้วย
ซึ่งปมสังหารโหดดังกล่าว เกิดจากความหึงหวงและมึนเมาสุราอย่างหนัก โดยนายธีรศักดิ์ กับเพื่อน รวมจำนวน 2 คน ใช้อาวุธมีดปลายแหลมวิ่งไล่แทงผู้ตายมาจากหน้าโรงเรียนบูรณะรำลึก ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ประมาณ 200 เมตร ก่อนที่ผู้ตายจะวิ่งหนีตายเข้าไปภายในสวนสาธารณะดังกล่าว โดยระหว่างนั้น แฟนสาวของผู้ตาย ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.5 ด้วยกัน พยายามเข้ามาห้ามปราม พร้อมทั้งบอกให้กลุ่มชายวัยรุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นแฟนเก่า หยุดทำร้ายผู้ตาย แต่ชายวัยรุ่นทั้งสองไม่ฟังเสียง กลับรุมแทงผู้ตายจนล้มลงจมกองเลือด
ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน เป็นผลให้คดีถึงที่สุด
สำหรับผู้ต้องหาคู่คดีของนายธีรศักดิ์หลังก่อเหตุได้หลบหนีความผิด แต่ยังไปก่อเหตุฆ่าคนตายในคดีอื่นอีก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็น
1.การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย โดยยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546
2.การฉีดสารพิษ จำนวน 6 ราย โดยฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งหลังสุด(ก่อนประหารนักโทษรายนี้) คือ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 และนายธีรศักดิ์ เป็นนักโทษรายที่ 7 ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ
สำหรับการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต
ปัจจุบันนักโทษประหารของไทย มีจำนวน 520 ราย เป็นนักโทษประหารที่คดีเด็ดขาดแล้ว 195 ราย แบ่งเป็นคดียาเสพติด 81 ราย และคดีทั่วไป 114 ราย เป็นนักโทษชาย 176 ราย นักโทษหญิง 19 ราย ส่วนนักโทษประหารที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกามีจำนวน 325 ราย
ทั้งนี้ กฎหมายอาญาของไทยมีถึง 63 ฐานความผิด ที่กำหนดให้มีโทษประหารชีวิต
และหากเปรียบค่าใช้จ่ายของรัฐในการประหารชีวิต ระหว่างการใช้ปืนยิงให้ตายในอดีตกับการฉีดสารพิษให้ตายในปัจจุบัน พบว่า การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ มีค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้ปืนยิง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การประหารชีวิตด้วยปืน
- เงินรางวัลตอบแทนแก่เพชฌฆาตต่อนักโทษ 1 คน จำนวน 4,500 บาท (ทั้งนี้เงินรางวัลเพชฌฆาตส่วนหนึ่ง นำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย)
- ค่ากระสุนปืนขนาด 9 มม. นัดละ 40 บาท ใช้กระสุนปืนประมาณ 10 นัด ค่าใช้จ่ายประมาณ 400 บาท
รวมการประหารชีวิตด้วยปืน เป็นเงินประมาณ 4,900 บาท
การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ
- เงินรางวัลตอบแทนแก่เพชฌฆาตต่อนักโทษ 1 คน จำนวน 10,000 บาท (ทั้งนี้ เงินรางวัลเพชฌฆาตส่วนหนึ่ง นำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย)
- ค่าสารพิษ และอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 2,364.95 บาท
รวมการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ เป็นเงินประมาณ 12,364.95 บาท
สำหรับอุปกรณ์และสารพิษที่ใช้ในการฉีดสารพิษ มีดังนี้
- Sodium Pentothal (ยานอนหลับ) ยาควบคุมพิเศษ ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 5 กรัม ในสารละลาย 50 ซีซี หรือ Propofol ชนิดยาอันตราย ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณไม่ต่ำกว่า 200 มก. ใช้จำนวน 5 หลอด
- Pancuronium Bromide ชนิดยาคลายกล้ามเนื้อ ยาควบคุมพิเศษ ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 50 ซีซี (100 มก.) ใช้จำนวน 25 หลอด
- Potassium Chloride ชนิดยาทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้น เป็นยาควบคุมพิเศษ ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 50 ซีซี (75 กรัม) ใช้จำนวน 3 หลอด
- สายน้ำเกลือพร้อมถุงน้ำเกลือ รวมเข็มฉีดยา
- EKG MONITER
สำหรับโทษประหารชีวิตนั้น ประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมาร์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
ปัจจุบันมี 141 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วยการประหารชีวิต ทั้งนี้ ในจำนวน 141 ประเทศ แบ่งเป็น 104 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท, 7 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป และ 30 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ขณะที่ยังมีอีก 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต
แนวคิดของกลุ่มรณรงค์เลิกโทษประหารชีวิต
วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก เพื่อให้ทั่วโลกหันมาตระหนักว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ซึ่งถือว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน นักโทษประหารส่วนใหญ่เป็นคนจนด้อยโอกาส จึงไม่มีเงินจ้างทนายที่มีฝีมือมาแก้ต่างคดีให้แก่ตนเอง ขณะที่ระบบยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมในทุกคดี ดังนั้น จึงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ หากตัดสินประหารไปแล้วย่อมไม่สามารถหาชีวิตมาทดแทนได้ นอกจากนี้การประหารชีวิตไม่ได้เป็นแนวทางที่จะยับยั้งอาชญากรรมได้จริง และไม่ช่วยทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำผิดได้จริง เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การลงโทษด้วยการประหารชีวิตจะสามารถลดสถิติการเกิดอาชญากรรมในสังคมได้
สำหรับการที่ประเทศไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตต่อเนื่องเกือบ 9 ปี ถือว่าเข้าใกล้กำหนดที่ไทยจะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่มีการลงโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ถือเป็นข้อบังคับตายตัว แม้จะไม่มีการประหารชีวิตต่อเนื่องตลอด 10 ปี แต่ตราบใดที่ไทยยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิตก็สามารถนำโทษประหารชีวิตมาบังคับใช้จริงได้ตลอด
และการลงโทษประหารชีวิตครั้งนี้อาจเป็นคำตอบให้แก่กลุ่มผู้เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารรับรู้และรับทราบว่า โทษประหารยังจำเป็นกับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการยับยั้งอาชญากรรม แม้จะไม่มีผลการวิจัยใดยืนยันว่าโทษประหารจะทำให้คนร้ายหวาดกลัว แต่ขณะเดียวกันการลงโทษด้วยมาตรการอื่นก็ยังไม่ช่วยให้จำนวนอาชญากรรมและจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำลดลงเช่นกัน