คอลัมนิสต์

เฝ้าระวัง "พนันบอลโลก 2018"ผุดมาตรการป้องเด็กสู่วงจรพนัน

เฝ้าระวัง "พนันบอลโลก 2018"ผุดมาตรการป้องเด็กสู่วงจรพนัน

11 มิ.ย. 2561

เฝ้าระวัง "พนันบอลโลก 2018"ผุดมาตรการป้องเด็กสู่วงจรพนัน : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย...  ทีมข่าวคุณภาพชีวิต  [email protected]

 

          “ประสานความร่วมมือช่วยเหลือได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. โทร.0-2288-5599 กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร.0-2280-5060,0-2280-5061" บุญรักษ์ ยอดเพชร

          "ฟุตบอลโลก 2018” ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 14 มิถุนายน ประเทศรัสเซีย หลายคนอาจเตรียมพร้อมฟิตร่างกายเพื่อติดตามคู่บอลที่ตนเองชื่นชอบ แต่ขณะเดียวกันหลายคนก็อาจเตรียมเงินในกระเป๋าเพื่อเล่นพนันบอลในคู่บอลที่ตนเองโปรดปรานเช่นเดียวกัน เพราะสำหรับประเทศไทยการแข่งขันฟุตบอลมาเมื่อใดพนันบอลก็ตามมาเมื่อนั้น

          หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ฯลฯ ต่างออกมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ปัญหาพนันบอลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะนักพนันหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

เฝ้าระวัง \"พนันบอลโลก 2018\"ผุดมาตรการป้องเด็กสู่วงจรพนัน

 

          คลอดมาตรการสกัดพนันบอลรุ่นเยาว์
          บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รณรงค์ ป้องกันและเฝ้าระวัง 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อนเริ่มการแข่งขัน ระยะที่ 2 ระหว่างการแข่งขัน ระยะที่ 3 หลังการแข่งขัน และระยะที่ 4 สรุปผลการปฏิบัติงานทุกมิติ โดยมุ่งให้โรงเรียนมีบทบาทเหมือนพ่อแม่ที่คอยดูแลลูกมากกว่าเป็นตำรวจ โดยกำหนด 10 มาตรการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษานำไปดำเนินการ ดังนี้ 1.รับผิดชอบป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการเล่นทายผลพนันฟุตบอล 2.ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ดูแลนักเรียนใกล้ชิด การประพฤติตน การใช้จ่ายเงินให้รัดกุม รวมทั้งการใช้โทรศัพท์อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่มีผลต่อการเล่นพนัน


          3.ยกระดับเฝ้าระวัง ป้องกันเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทจากการพนันบอลทั้งในและนอกสถานศึกษา 4.รณรงค์หยุดพนันทายผลฟุตบอล ป้องกันมิให้เกิดนักพนันหน้าใหม่ และส่งเสริมการชมฟุตบอลอย่างสร้างสรรค์ 5.ตรวจสอบและประมวลผลการมาสาย หรือไม่มาเรียนของนักเรียน เปรียบเทียบช่วงก่อนและระหว่างมีการแข่งขันผิดปกติหรือไม่หาแนวทางแก้ไขให้เหมาะสม 6.พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ในเขตพื้นที่ ร่วมกับทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเฝ้าระวังทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อป้องกันนักเรียนเกี่ยวข้องพนันทายผลฟุตบอล 7.ให้สถานศึกษาบันทึกการแข่งขันฟุตบอลเผยแพร่ให้นักเรียนชมตามเวลาที่เหมาะสม

          8.เฝ้าระวังป้องกันการเข้าสู่วงจรการพนันฟุตบอลในลีกชั้นนำต่างๆหลังจบฟุตบอลโลกแล้ว 9.หากพบครู บุคลากรทางการศึกษา และลูกจ้างมีพฤติกรรมเล่นการพนันให้ผู้บริหารกล่าวตักเตือน ให้พิจารณาโทษทางวินัย และ 10.หากโรงเรียนประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้เอง ขอให้ประสานความร่วมมือช่วยเหลือได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. โทร.0-2288-5599 กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร.0-2280-5060, 0-2280-5061

          6 ข้อเฝ้าระวังเด็กอาชีวะเล่นพนัน
          มาถึงในฝั่งเด็กช่างมีการเตรียมพร้อมเช่นกัน สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) ออกมาตรการป้องกันการเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 2018 ให้วิทยาลัยนำไปปฏิบัติ ได้แก่ 1.แจ้งผู้ปกครอง กวดขัน ดูแล นักเรียน นักศึกษาอย่างใกล้ชิด ทั้งส่วนตัวและการเรียน การใช้จ่ายเงินให้รอบคอบและเหมาะสม เฝ้าระวังการใช้โทรศัพท์บ้าน มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ป้องกันมิให้เป็นช่องทางการเล่นพนันบอลโลก 2.แจ้งผู้ปกครองให้ความสนใจใกล้ชิด นั่งชมการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกันภายในบ้าน หรือครอบครัวไม่ปล่อยให้ชมคนเดียวหรือค้างคืนกับเพื่อนเพื่อดูฟุตบอลโลก

          3.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กวดขัน ออกเที่ยวเตร่หรือทำกิจกรรมนอกบ้านของนักเรียนนักศึกษาช่วงแข่งขันฟุตบอลโลก 4. สอดส่องดูแลนักเรียนนักศึกษาอย่างใกล้ชิดกรณีการใช้อินเทอร์เน็ตของสถานศึกษาเป็นช่องทางเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 5.ให้ผอ.สถานศึกษาออกเป็นนโยบายการป้องกันและปราบปราม มิให้เล่นพนันทายผลฟุตบอลโลกหรือพนันอื่นใดในสถานศึกษาเด็ดขาด และ 6.ให้ครูที่ปรึกษา ครูประจำแผนกวิชา ครูปกครอง จัดตั้งเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน มิให้เล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก

          มหาวิทยาลัยป้องพนันฟุตบอลโลก
          สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เผย 10 แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันในสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้ 1.กำกับดูแลไม่ให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันทุกชนิด 2.ส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมทางบวก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์กับนิสิตนักศึกษา 3.จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการพนัน ชี้ให้นิสิตนักศึกษาตระหนักถึงผลเสียการเล่นพนัน พร้อมประชาสัมพันธ์สายด่วนการแจ้งเบาะแสการพนันฟุตบอลออนไลน์ 4.ให้อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ประจำวิชาสอดแทรกเรื่องผลเสียหายที่เกิดจากพนันทุกครั้งที่มีโอกาส 5.จัดตั้งเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเพื่อเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส หากพบให้แจ้งผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการแก้ไข
 
          6.สร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส หรือศูนย์ฮอตไลน์ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและใกล้ชิด 7.ให้อาจารย์ประจำห้องคอมพิวเตอร์ดูแลไม่ให้นิสิตนักศึกษาใช้ช่องทางระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อการเล่นพนัน 8.ประสานสถานีตำรวจในท้องที่ให้หมั่นตรวจตราและจับกุมแหล่งรับพนันฟุตบอลที่แอบเข้ามารับพนันฟุตบอลในสถาบันอุดมศึกษา บริเวณโดยรอบ หรือบริเวณหอพักนิสิต นักศึกษา 9.มีมาตรการและบทลงโทษทางวินัยกับนิสิตนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพนัน โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้ามือจะต้องลงโทษขั้นเด็ดขาด 10.พิจารณาออกมาตรการอื่นเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการพนันทุกชนิดในสถาบันอุดมศึกษา โดยสอดคล้องกับประกาศ สกอ.

          กวดขันร้านเกมฝ่าฝืนผิดกฎหมาย
          กฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แจ้งต่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์ โดยเข้มงวดกวดขันดูแลร้านเกมพื้นที่ที่ดูแลให้ใบอนุญาต มีหนังสือแจ้งเตือนห้ามมิให้เล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์โดยเด็ดขาด หากใครฝ่าฝืนลงโทษตามกฎหมาย โดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจัดทำยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติการแจ้งไปยังแต่ละจังหวัดใช้เป็นกรอบแนวทางร่วมกันอีกครั้ง

          “ที่สำคัญขอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประสานกับสถานศึกษาเพื่อรณรงค์จับมือกับชมรม กลุ่มเยาวชนต่างๆ จัดกิจกรรมต่อต้านการพนันฟุตบอลออนไลน์ และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ คณะสงฆ์ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ว่าการพนันเป็นสิ่งไม่เหมาะสม อยากให้เด็กและเยาวชนชมการแข่งขันฟุตบอลเป็นกีฬาและนำความรู้ไปส่งเสริมพัฒนาวงการฟุตบอลมากกว่า” นายกฤษญพงษ์ กล่าว