คอลัมนิสต์

ข้อดี-ข้อเสีย "กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561"

ข้อดี-ข้อเสีย "กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561"

04 มิ.ย. 2561

ข้อดี-ข้อเสีย "กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561" : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 
 
          หลังจากคนไทยแอบไปซื้อขายเงินดิจิทัลในประเทศต่างๆ มานานเกือบ 10 ปี เริ่มจากเงินไม่กี่สกุล เช่น บิทคอยน์ อีเธอเรียม จนวินาทีนี้เพิ่มไปถึงเกือบ 1,600 สกุลทั่วโลก

          ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ยอมรับการทำธุรกรรมด้วย “เงินดิจิทัล” ให้เป็นเรื่องถูกต้อง ด้วยการออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกพร้อมระเบียบวิธีกำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม...
 
          ทั้งที่ย้อนไปไม่กี่เดือนที่แล้ว “กระทรวงการคลัง” เพิ่งออกประกาศแจ้งเตือนการซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัลว่าอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายข้อหา กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โทษจำคุก 5 -10 ปี

          กฎหมายนี้ถูกออกเป็นพระราชกำหนด 2 ฉบับได้แก่ "พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561" บังคับใช้ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม และ "พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561" บังคับใช้ 14 พฤษภาคม โดยมีหน่วยงานหลักที่ดูแลคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ “ก.ล.ต.”

 

ข้อดี-ข้อเสีย \"กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561\"

 

          กฎหมายใหม่ฉบับแรกมีเพื่อปลดล็อกเปิดทางให้กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีคนซื้อ คนขาย คนโอน หรือคนทำกำไรจากเงินดิจิทัลได้อย่างสะดวก ในอัตราร้อยละ 15

          ส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 เป็นการออกกำหนดนิยามความหมาย ระเบียบการทำธุรกิจ กลไกการกำกับดูแล อำนาจหน้าที่ และบทลงโทษต่างๆ

          เริ่มจากประเด็นที่ถกเถียงกันมายาวนานว่า “เงินดิจิทัล” หมายถึงอะไรบ้าง
  
          กฎหมายใหม่ให้นิยาม 3 คำสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “โทเคนดิจิทัล”

          นิยามเงินดิจิทัล
          “สินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล

          “คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด
  
          “โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ 2.กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

 

ข้อดี-ข้อเสีย \"กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561\"


 
          แปลความง่ายๆ คือ ต่อไปนี้ประเทศไทยจะรองรับเงินดิจิทัลให้เป็น “สินทรัพย์” จากที่เคยสับสนอลหม่านว่าเป็นอะไรกันแน่

          ทั้งนี้สินทรัพย์ (Assets) ในความหมายทั่วไปคือ สิ่งของที่มีมูลค่าเป็นตัวเงิน ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ที่นำมาลงทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง สินทรัพย์มีตัวตน เช่น เงินสด บ้าน ที่ดิน ฯลฯสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น ลิขสิทธิ์ สัมปทาน สิทธิการเช่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
 

          และต่อไปนี้ประเทศไทยจะมีสินทรัพย์รูปแบบใหม่คือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ประกอบไปด้วย คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล
  
          “คริปโทเคอร์เรนซี” Cryptocurrency นั้น คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นเงินดิจิทัล เรียกแบบสากลว่า “เงินคริปโท” เป็นการรวมกันของ 2 คำคริปโท Crypto ที่แปลว่าใส่รหัสหรือเข้ารหัส และเคอร์เรนซี currency ที่หมายถึงสกุลเงิน ดังนั้นสกุลเงินดิจิทัลคือเงินที่ถูกใส่รหัสไว้นั่นเอง ฝรั่งเลยเรียกกันง่ายๆ ว่า “คริปโตฯ” และมีหลายสกุลที่ดังๆ คุ้นหู เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธอเรียม (Ethereum) ริพเพิล (Ripple) ฯลฯ

 

ข้อดี-ข้อเสีย \"กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561\"


 
          ส่วน “โทเคนดิจิทัล” (Token) มีความหมายย่อยไปถึงหน่วยข้อมูลอะไรก็ได้ที่ผู้ทำธุรกิจกำหนดไว้ เช่น แต้มสะสม เหรียญทอง ไลน์คอยน์ ฯลฯ แต่มักนิยมอ้างอิงกับสกุลเงินหลักหรือเงินดิจิทัล เช่น 50 เอคอยน์เท่ากับ 100 บาท หรือ 1 หมื่นแต้มเท่ากับ 1 บิทคอยน์ ตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกกับผู้ถือโทเคนนั้นๆ ใครที่คุ้นเคยกับการแลกซื้อของในเกมออนไลน์หรือซื้อสติกเกอร์ในโปรแกรมแชท “ไลน์” จะเข้าใจเป็นอย่างดี
  
          “สถาพน พัฒนะคูหา” กรรมการผู้จัดการบริษัท สมาร์ทคอนแทรคท์ ไทยแลนด์ (SmartContract Thailand) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน ยอมรับว่า ในกฎหมายใหม่นั้น ให้นิยามความหมายของคริปโตฯ ค่อนข้างชัดเจน

          “เรียกง่ายๆ ก็หมายความถึงพวกที่ใช้แทนเงิน เช่น บิทคอยน์ แต่ส่วนของโทเคน ยังมีความหมายที่กว้างมากเกินไป จนสามารถตีความให้ครอบคลุมถึงคะแนนสะสม บัตรสมาชิก ฯลฯ อาจทำให้เกิดปัญหาตีความในอนาคต ถึงจะมีประกาศออกมามายกเว้นให้ แต่ในอนาคตจะมีระบบคะแนนแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วต้องมารอประกาศยกเว้นเป็นครั้งๆ ไป อาจกลายเป็นการสกัดกั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ เข้าใจว่าที่ก.ล.ต. กำหนดแบบนี้เพราะต้องการกำกับดูแลป้องกันพวกโทเคนหลอกลวง” สถาพน กล่าว
 
          คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจ "สินทรัพย์ดิจิทัล"
          สำหรับการทำ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” กฎหมายนี้ตีความว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการขาย การระดมทุน นายหน้า ตลาดหรือศูนย์กลางซื้อขายเงินดิจิทัล พร้อมกำหนดคุณสมบัติไว้ว่าผู้ทำธุรกิจต้องไปขอขึ้นทะเบียนและต้องทำธุรกรรมผ่านทางช่องทางที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จะมีรูปแบบเป็นบริษัทจำกัด หรือเข้าตลาดหุ้นเป็นบริษัทมหาชนก็ได้ ไม่เหมือนอดีตที่ผ่านมาใครอยากเปิดเว็บไซต์หรือเปิดสื่อโซเชียลมีเดียชักชวนคนซื้อขายเงินดิจิทัลของตัวเองก็ทำได้อย่างเสรี แต่ในวันนี้ต้องได้รับอนุญาตก่อน
  
          คุณสมบัติที่กำหนดไว้ คือ ไม่เป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้าม มีแหล่งเงินทุนเพียงพอเพื่อให้เชื่อถือได้ว่าไม่มาหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน พร้อมกำหนดให้แยกเก็บรักษาระหว่างทรัพย์สินของลูกค้าและของบริษัท ห้ามเอาไปรวมกันและไม่ให้เอาเงินลูกค้าไปใช้ทำอย่างอื่นที่สำคัญคือต้องสร้างระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจรกรรมหรืออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ มีระบบป้องกันการฟอกเงินและการก่อการร้าย

          ตัวอย่างจากบริษัทคอยน์เช็กในญี่ปุ่นที่เปิดทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลแล้วถูกแฮ็กเกอร์ลักลอบเข้าไปโจมตีระบบดูดเงินไปมากกว่า 5.8 หมื่นล้านเยน ประมาณ 1.67 หมื่นล้านบาท กรณีนี้ทำให้รัฐบาลทั่วโลกพยายามบังคับให้ผู้ประกอบการเพิ่มระบบการป้องกันไม่ให้เงินดิจิทัลในบัญชีลูกค้าถูกขโมยพร้อมวิธีการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

 

ข้อดี-ข้อเสีย \"กฎหมายคุมเงินดิจิทัล 2561\"

 

          บทลงโทษ 48 มาตรา
          ปิดท้ายด้วยจุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้ คือ มีบทลงโทษอย่างเข้มข้นถึง 48 มาตรา ทั้งทางแพ่งและทางอาญา โทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 2–10 ปี ส่วนโทษปรับตั้งไว้หลักแสนบาทจนถึง 2 ล้าน ตามฐานความผิด บางมาตรากำหนดให้มีโทษปรับตามจำนวนเงินที่เสียหายด้วย

          เช่นมาตรา 57 ใครเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ทำผ่านระบบที่กำหนดไว้ โดนโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายทั้งหมดและเงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทด้วย
  
          หากมีการซื้อขายหลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป แสดงว่าโทษปรับอาจสูงถึง 200-300 ล้านบาท

          ส่วนบทลงโทษอื่นที่น่าสนใจ เช่น ผู้ที่ให้ข้อมูลเท็จหรือพวกที่ชอบวิเคราะห์โน่นนี่หรือปล่อยข่าวจนกระทบอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรือทำให้เกิดความเสียหายอย่างอื่น อาจเจอโทษปรับ 5 แสน–2 ล้านบาท และถ้าบริษัทไหนไม่จัดทำบัญชีแบบครบถ้วนสมบูรณ์ โทษจำคุก 5-10 ปี ปรับ 5 แสน-1 ล้านบาท นับเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงหากเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่นๆ

          “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า กฎหมายนี้มีจุดประสงค์คุ้มครองผู้ลงทุนมิให้ถูกหลอกลวง ป้องกันการฟอกเงินและผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องทำรายงานแสดงผลดำเนินงานและฐานะการเงิน มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนทั่วไป “ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ชัดเจนและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาค แต่ถ้าใครไปลงทุนโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศ จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้” นายรพีกล่าว

          ด้าน ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผอ.ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเงินและการธนาคาร แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ถือว่าทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหลายบริษัทเลือกขอไปเปิดบัญชีซื้อขายในต่างประเทศ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยจะเอาอย่างไร การกำหนดให้ขึ้นทะเบียนถือเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงการกำหนดให้แยกบัญชีบริษัทกับบัญชีลูกค้าอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าบริษัทมีรายได้ต้องไปเสียภาษี ส่วนลูกค้าถ้ามีกำไรจากการแลกเปลี่ยนเงินก็แยกออกมาต่างหาก
  
          “แต่ก่อนบริษัทให้ลูกค้าโอนเงินมาอยู่ในชื่อของตัวกลางทั้งเงินบาทและคริปโตฯ บางบริษัทถือเงินลูกค้าในบัญชีเกือบสองพันล้านบาท ถ้าบริษัทล้มละลายเงินในบัญชีลูกค้าอาจถูกเจ้าหนี้ยึดหรือสูญไปก็ได้ การแยกบัญชีลูกค้าเหมือนบัญชีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มั่นใจว่าเงินลูกค้าจะไม่ถูกแตะต้อง” ศ.ดร.อาณัติกล่าวอธิบาย ถึงข้อดีของกฎหมายฉบับนี้

          จากนี้ไปความอึมครึมและการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหานิยามความหมายและการกำกับดูแล “เงินดิจิทัล” คงลดน้อยลงไป

          แต่จะไปเพิ่มในส่วนของเรื่องอัตราการเสียภาษี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของกฎหมาย 2 ฉบับนี้

          เนื่องจากกำหนดไว้สูงถึง "ร้อยละ 15"
  
          ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” จะติดตามวิเคราะห์เป็นรายงานพิเศษในตอนต่อไป...